“กสม.-ประชาสังคม” ประชุมหารือหลักการสรรหา กสม.ชุดใหม่ เห็นพ้องคำนึงหลักการปารีส แนะกสม.ใหม่ต้องทำงานเชิงรุก เพิ่มมากกว่า 7 คน
วันนี้ (2 มิ.ย.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับการดำเนินการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับองค์กรเครือข่ายทางด้านสิทธิ องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสม.เนื่องจากคณะกรรมการ กสม.ชุดปัจจุบันจะหมดวาระในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ และจะต้องดำเนินการสรรหาคณะกรรมการ กสม.ชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ตามหลักเกณฑ์การสรรหาที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ทั้งนี้จึงมีการจัดสัมมนาดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หลักการข้อกฎหมายในการสรรหา กสม.เพื่อให้มีผู้สมัครที่มีความหลากหลาย รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วม และนำผลที่ได้จากการสัมมนาดังกล่าวรายงานต่อคณะกรรมการ กสม. และใช้ประโยชน์ทางวิชาการต่อไป
นางหรรษา บุญรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม.กล่าวว่า ในการสรรหา กสม.นอกจากจะต้องทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว จะต้องคำนึงถึงหลักการปารีส ที่มีหลักในการสรรหาให้ยึดความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและรัฐบาล เพื่อการทำงานที่สามารถตรวจสอบทุกฝ่ายได้ รวมทั้งความหลากหลายในทุกวิชาชีพ เพื่อที่จะสามารถแก้ปัญหาและทำหน้าที่ถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี โดยแนวทางในการสรรหานั้น ICC ได้มีการกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องทำการสรรหาโดยเปิดเผย รับฟังความเห็นจากกลุ่มต่างๆ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้มากที่สุด และในการคัดเลือกให้พิจารณาจากคุณสมบัติ เพื่อการสรรหา กสม.มาทำหน้าที่อย่างอิสระ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสรรหา กสม.ในครั้งนี้
ด้าน น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการ กสม.กล่าวว่า กรรมการ กสม.ต้องแยกให้ออกระหว่างหลักการทางกฎหมาย และหลักการทางสิทธิมนุษยชน เพราะเข้ามาทำหน้าที่นั้นต่างกันอย่างไร เพราะมีทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงต้องสรรหา กสม.ที่หลากหลาย เพื่อที่จะเข้ามาแก้ปัญหาที่ทับซ้อนได้ และให้ความช่วยเหลือได้หรือไม่ คนที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงต้องมีความกล้าหาญที่จะยอมรับว่าไม่รู้เรื่องอะไร และต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไรบ้าง
ด้านนายเกียรติชัย พงษ์พานิชย์ คอลัมนิสต์อาวุโส กล่าวว่า ในการสรรหา กสม.ต้องตั้งคำถามว่าเราอย่างได้คนที่คุณสมบัติอย่างไรมาเป็น กสม.หากดูตามรัฐธรรมนูญคุณสมบัติที่เขียนไว้ว่าง่ายๆ คือ อยากได้คนดี ตนคิดว่าคับแคบเกินไปและควรมีมากกว่า7คน ทั้งนี้มองว่าคนที่จะมาเป็น กสม.ต้องมีคุณสมบัติ 4 ประการ 1. ต้องมีความรู้ความสามรถประสบการณ์ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนดีพอ 2. ต้องหิริโอตตัปปะ รู้ดีรู้ชอบ เพราะถ้าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตในตัวเอง ต่อให้มีความรู้ก็ไม่มีประโยชน์ 3.ต้องมีความคิดริเริ่มในการทำงานเชิงรุกให้มากกว่าปัจจุบัน เพราะตามกฎหมายงานของ กสม. ไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมายทำได้แต่ข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4. ต้องมีความขยันหมั่นเพียรไม่เกียจคร้าน มุ่งมั่นที่จะทำงาน ไม่ใช่ทำงานเป็นเสือกระดาษ
“ส่วนตัวเห็นว่าระบบการสรรหาของไทยเป็นช่องโหวของระบอบประชาธิปไตย การสรรหาทุกระดับเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ มีคนของฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง ทำให้เราได้กสม.ที่ไม่เป็นสับปะรดมาทำงานมีแต่พวกอยากได้ตำแหน่ง เครื่องราช ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการสรรหาสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ก่อนถูกยุบทิ้งก็ฉาวเรื่องกระบวนการสรรหา ซึ่งลักษณะอย่างนี้ไม่อยากให้เป็นกระบวนการสรรหา กสม.” นายเกียรติชัยกล่าว
ทั้งนี้ ขณะนี้สำนักงาน กสม.ได้มีการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น กสม.แทนชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระในวันที่ง 24 มิ.ย.โดยเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค - 15 มิ.ย ซึ่งผู้ที่สนใจจะต้องเดินทางมาสมัครด้วยตนเองในวันเวลาราชการ ที่สำนักงาน กสม. อาคารบี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ