xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” โว 60% หนุนโอเพนลิสต์ “สมบัติ” นำทีมรื้อร่าง รธน.ให้เหลือ 118 มาตรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (แฟ้มภาพ)
“บวรศักดิ์” หน้าบาน 3 องค์กรภาคประชาชนยื่นหนังสือหนุนร่างรัฐธรรมนูญ ระบุประชาชนกว่า 60% เชียร์โอเพนลิสต์ อยากให้ฟังเสียงเหล่านี้ด้วย ขณะที่ “สมบัติ” เตรียมนำ 2 คณะกรรมาธิการฯ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อ้างเพื่อกระชับทำให้เหลือ 118 มาตรา เสนอ กมธ.ยกร่างฯ ค้านรัฐบาลผสม-นายกฯ คนนอก

ที่รัฐสภา วันนี้ (2 มิ.ย.) กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดสระบุรี เครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดสมุทรปราการ และเครือข่ายสวัสดิการชุมชน เข้าให้กำลังใจคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมยื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เพื่อสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ให้ความสำคัญต่อบทบาทภาคพลเมือง และการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ตลอดจนการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ขอบคุณเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้ง 3 เครือข่ายที่เสนอข้อแก้ไขเพิ่มเติมและสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และ 6 เดือนที่ผ่านสื่อมวลชนชอบเอาไมโครโฟนไปถามฝ่ายการเมืองในระบอบเดิมแต่วันนี้ ตัวจริงมาแล้วขอให้ไปถามว่าใครจัดตั้งมาหรือไม่ ขอให้คนกลุ่มนี้มีสิทธิ มีเสียงบ้างจะกับคนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นประชาชนตัวจริง ส่วนเรื่องระบบโอเพ่นลิสต์ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และหลายฝ่ายให้ตัดออก แต่ประชาชน 60 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วย จึงอยากให้สื่อมวลชนฟังเสียงของประชาชนกลุ่มนี้ด้วย เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยจึงต้องถามประชาชน

ด้านนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงแนวทางที่จะเข้าชี้แจงการเสนอคำแปรญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ในวันนี้เวลา 13.00 น. ทั้ง กมธ.ปฏิรูปการเมือง และ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จะมีการหารือกันในเรื่องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่จะเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญให้มีความกระชับมากขึ้นตามหลักสากล โดยจะปรับให้เหลือ 118 มาตรา เพื่อไม่ต้องบรรจุรายละเอียดมากจนเกินไป เหมือนรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นที่บรรจุแค่หลักสำคัญ เช่น หลักการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่รายละเอียดนั้นไปบัญญัติไว้ในกฎหมายลูก ซึ่งถ้าในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ไปแก้ในกฎหมายลูกแทนซึ่งจะทำให้เป็นไปตามความประสงค์ที่จะใช้รัฐธรรมนูญนี้ไป 50-100 ปี ไม่ต้องแก้บ่อยๆ ดังเช่นรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่ใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1787

นายสมบัติกล่าวว่า อยากให้ กมธ.ยกร่างฯ ไปดูโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสว่า ตั้งแต่ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4 ปกครองด้วยรัฐบาลผสมทำให้ประเทศอ่อนแอ แต่เมื่อ ค.ศ. 1958 ก็มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 ทำให้ฝรั่งเศสสามารถฟื้นฟูเกียรติภูมิมาได้ถึงทุกวันนี้ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถขับเคลื่อนประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำโดยอาศัยรัฐบาลผสมได้

ผู้สื่อข่าวถามว่ายังจะเน้นย้ำในเรื่องของจุดยืนที่มานายกฯคนนอกอยู่หรือไม่ นายสมบัติกล่าวว่า ตรงนี้เป็นเรื่องของหลักการ ผู้แทนราษฎรมาจากปวงชนทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย นายกรัฐมนตรีมาทำหน้าที่บริหาร ถ้าหากมาจากคนนอก แล้วตรงไหนจะเชื่อมโยงกับประชาชน ดังนั้นในระบอบประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งโดยตรงหรือโดย ส.ส.ก็ตาม ถ้าหากมีความจำเป็นเรื่องนายกฯคนนอกก็ให้นำไปบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล

ส่วนหากมีวิกฤตแบบก่อนวันที่ 22 พ.ค. ควรจะให้มีนายกฯคนนอกเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์หรือไม่ นายสมบัติกล่าวว่า ได้มีการอธิบายถึงวิกฤตในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยุบสภาแล้วนายกฯ ลาออกไม่ได้ เพราะบัญญัติว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น เรื่องนี้ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้แก้ปัญหาไปแล้ว โดยมีมาตราที่ระบุว่านายกฯยุบสภาก็ไม่ต้องรักษาการ ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน วิกฤตแบบที่ว่านี้คงไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น