สปช. แจงพบเวทีรับฟังความเห็นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตอบรับร่างรัฐธรรมนูญดีมาก เน้นให้อำนาจพลเมืองเป็นใหญ่ บางเวทียอมรับถ้าจำเป็นจริงๆ ที่มานายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. ก็ได้ พร้อมเห็นด้วยระบบโอเพนลิสต์ ชี้ตอบโจทย์ประชาชนมากกว่าตอบสนองนักการเมือง เชื่อหากปรับแก้ สปช. เห็นชอบ และถ้าสื่อสารประชาชนก็น่าจะผ่านประชามติ
วันนี้ (1 มิ.ย.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปร่วมเวทีรับฟังความเห็นประชาชนในหลายจังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี ลพบุรี ชลบุรี เชียงราย นครปฐม ภูเก็ต ขอนแก่น อุดรธานี นครศรีธรรมราช ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้พบว่าประชาชนตอบรับดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการให้อำนาจพลเมืองเป็นใหญ่ ซึ่งมีบทบัญญัติกระจายอยูทั่วไปในทุกหมวด ประชาชนเห็นว่าสิ่งนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง เพราะได้มีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบาย หรือโครงการสาธารณะอันมีผลกระทบต่อชุมชน ทำให้พลเมืองได้เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน และเป็นวิถีแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ประเด็นสำคัญอื่นๆ คือ การได้นักการเมืองที่ดี การกำจัดการทุจริต และการศึกษาที่สอนให้คนคิดเป็นทำเป็น ไม่ใช่สอนให้เลื่อนระดับตนเองอย่างที่ผ่านมา ส่วนประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีนั้น เวทีนครศรีธรรมราชยอมรับได้ว่าไม่ต้องเป็น ส.ส. ก็ได้ แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขว่าจำเป็นจริงๆ สำหรับประเด็นเลือก ส.ส. แบบสัดส่วนผสม และการให้ประชาชนกำหนดตัว ส.ส. (โอเพนลิสต์) นั้น พออธิบายให้เข้าใจแล้ว ประชาชนเห็นด้วยที่พบว่าตนเองมีอำนาจที่จะกำหนดตัวบุคคลที่จะเป็น ส.ส.
“ถึงแม้ว่าประชาชนจะพูดถึงที่มาของ ส.ส. ส.ว. กันมากก็ตาม แต่โดยรวมแล้ว ประชาชนเห็นตรงกันว่า รัฐธรรมนูญควรตอบโจทย์ประชาชน 65 ล้านคน มากกว่าที่จะตอบสนองนักการเมืองจำนวน 3,000 คน ผมเห็นว่า กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ คงมีการปรับแก้ตามสมควรในขอบเขตที่ไม่กระทบหลักการใหญ่ 4 ข้อ คือ พลเมืองเป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข ในชั้น สปช. เสียงข้างมากน่าจะเห็นชอบ ส่วนการลงประชามติ หาก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ และผู้เกี่ยวข้องสามารถสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจอย่างกว้างขวางและทั่วถึงได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็น่าจะผ่านประชามติได้” นายประสาร กล่าว