สภากลาโหมเห็นชอบปรับโครงสร้างเงินเดือน-ค่าตอบแทนทหาร แก้ความเหลื่อมล้ำให้เท่ากับข้าราชการพลเรือน ยศพันเอกขึ้นไปเงินเท่านายอำเภอขึ้นไป ปรับชั้นประทวนเงินเดือนไหลสูงสุด ป.3 ไม่ติดขัด เห็นชอบ ค่าตอบแทนเวรรักษาการณ์ ชี้เป็นกำลังสำคัญยามเกิดเหตุ เข้มกำลังพลเกี่ยวข้องทำผิดกฎหมายต้องยุติหน้าที่ มีโทษทั้งวินัย-อาญา
วันนี้ (27 พ.ค.) พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงว่า ที่ประชุมสภากลาโหมเห็นชอบตามข้อเสนอขอคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนและค่าตอบแทนของข้าราชการทหารตามร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่... ) พ.ศ. ... ในการปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการทหารฯ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีสาระสำคัญคือปรับเพดานอัตราเงินเดือนระดับพันเอกขึ้นไป ให้เทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือนระดับตำแหน่งนายอำเภอขึ้นไป เพื่อให้เทียบกับข้าราชการพลเรือนที่ได้มีการปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งใหม่เป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะงานไปแล้ว เมื่อปี 51 ดังนี้ โดย น.7 ระดับ พล.ท.+1 ขั้น, น.6 พล.ต.+2 ขั้น, น.5 พ.อ.(พิเศษ)+0.5 ขั้น, น.4 พ.อ.+0.5 ขั้น นอกจากนั้นยังขยายเพดานเงินเดือนของนายทหารประทวน (ส.) ระดับ ป.1 และป.2 ให้เท่ากับระดับ ป.3 เพื่อให้เงินเดือนสามารถเลื่อนไหลไปได้จนถึงระดับชั้นสูงสุดของ ป.3 ได้ต่อเนื่องโดยไม่ติดขัด เช่นเดียวกับข้าราชการตำรวจชั้นประทวนที่มีอัตราเงินเดือนชั้นนายดาบรองรับ
พล.ต.คงชีพกล่าวว่า เหตุผลความจำเป็นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของข้าราชการทหารให้เทียบเท่าและใกล้เคียงกับข้าราชการพลเรือนที่มีการปรับขึ้นไปแล้วเมื่อปี 51 โดยในอดีต เมื่อปี 38 ข้าราชการทุกประเภท มีบัญชีอัตราเงินเดือนอัตราแนบท้ายอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน คือ พระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2538 ซึ่งเดิมเงินเดือนของข้าราชการแต่ละระดับเป็นอัตราที่เทียบเคียงกันได้ พล.อ.-พล.ท. เท่ากับข้าราชการพลเรือนระดับ 11, พล.ต.เท่ากับข้าราชการพลเรือนระดับ 10พ.อ.(พิเศษ) เท่ากับข้าราชการพลเรือนระดับ 9, พ.อ.เท่ากับข้าราชการพลเรือนระดับ 8
นอกจากนั้นยังเห็นชอบแนวทางการกำหนดค่าตอบแทนให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดเงินค่าตอบแทนให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ ในอัตรานายทหารสัญญาบัตร วันละ 200 บาท นายทหารประทวน วันละ 180 บาท โดยการเบิกจ่าย ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ พ.ศ. 2550 โดยอนุโลม กลุ่มเป้าหมาย คือ กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ที่ต้องถืออาวุธประจำกายในหน่วยทหาร ที่มีคลังอาวุธยุทโธปกรณ์และพร้อมแสดงกำลังได้ทันทีเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตเกิดขึ้นเหตุผลความจำเป็น ข้าราชการทหารมีภารกิจหลักคือการป้องกันประเทศและปฏิบัติการอื่นนอกเหนือจากการสงคราม ซึ่งต้องจัดกำลังให้มีความพร้อมเพื่อเผชิญเหตุ ตามระดับเหตุการณ์ เวรรักษาการณ์จึงถือว่าเป็นกำลังเผชิญเหตุการณ์ระดับต้น ที่ต้องพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง
โฆษกระทรวงกลาโหมกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันรัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดกฎหมายอย่างจริงจังในหลายๆ เรื่อง โดยมักมีขบวนการของผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งข้าราชการ พลเรือน ทหาร ตำรวจ โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ ขอให้หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ กวดขันปกครองบังคับบัญชากำลังพลได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากพบว่ามีกำลังพลของหน่วยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จะต้องมีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที และปรับย้ายออกนอกพื้นที่เป็นการชั่วคราว เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนและลงโทษเด็ดขาดทั้งวินัยและอาญา พร้อมกันนี้ ขอให้หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกลาโหม และผู้บังคับบัญชาการเหล่าทัพชี้แจงการปฏิบัติหน้าที่ของกำลังพลในสังกัดในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายให้เข้มงวด บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพื่อสร้างความสงบสุขของประชาชนและให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้