“ดิเรก” เผยคำขอแก้ รธน. หมวดการเมือง ยึดหลัก รธน. 40 สมาชิกรัฐสภาเลือกตั้งทั้งหมด โละ ม.181 - 182 แก้ ม.111 (15) คืนสิทธิ บ้านเลขที่ 109, 111 รับลูกศาล ยธ. ตัดอำนาจศาล รธน. ม.7 วรรคสอง ขอเพิ่มคณะกรรมการไต่สวนอิสระ ช่วยถ่วงดุลอำนาจรัฐบาล
วันนี้ (23 พ.ค.) นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.การเมือง และ กมธ.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้มีข้อยุติในรายละเอียดคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำเสนอต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 25 พ.ค. นี้ แล้ว โดยมีประเด็นการเมืองที่เป็นสาระสำคัญ ดังนี้ ขอให้ตัดคำว่าพลเมืองออกทั้งหมดและให้ใช้คำว่า ประชาชน แทน ส่วนการลงเลือกตั้งก็เสนอให้มีเพียงพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว ไม่เอากลุ่มการเมือง
นายดิเรก กล่าวต่อว่า ส่วนรูปแบบการเลือกตั้งขอปรับแก้ให้เป็นแบบสัดส่วนคู่ขนาน ไม่ใช่แบบสัดส่วนผสมตามที่ กมธ.ยกร่างฯ เสนอ โดยมีลักษณะกลับไปใช้เหมือนปี 2540 วันแมนวันโหวตโดยมีสัดส่วนอยู่ที่ ส.ส. เขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ส่วน ส.ว. ก็เสนอให้มีจำนวน 154 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จังหวัดละ 2 คน เพื่อให้มีความชัดเจนโปร่งใส ประชาชนเข้าใจง่าย และเคยชินอยู่แล้ว
นายดิเรก กล่าวอีกว่า สำหรับนายกรัฐมนตรีก็ขอให้แก้ว่าต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น ส่วน นายกฯคนนอกก็เสนอให้ไปใส่ไว้ในบทเฉพาะกาลแทน ว่า จะมีได้ก็ต่อเมื่อประเทศเกิดวิกฤต และต้องใช้เสียงจาก ส.ส. สนับสนุน 2 ใน 3 ทั้งนี้ ยังขอให้ กมธ.ยกร่างฯ ตัดมาตรา 181 - 182 ที่เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีขอเปิดอภิปรายไว้วางใจ สามารถผ่านกฎหมายอะไรก็ได้ในทุกสมัยการประชุมทิ้งไป เพราะถือเป็นการให้อำนาจฝ่ายบริหารมากเกินไปจนตรวจสสอบไม่ได้
“ขณะที่คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ในมาตรา 111 (15) กมธ. ได้ขอแก้จากที่ ห้ามผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้าสมัครรับเลือกตั้ง เป็นห้ามผู้เคยถูกถอดถอนทางการเมืองแทน ทั้งนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่นักการเมืองที่เคยตัดสิทธิทางการเมืองแบบเหมาเข่งอย่างไม่เป็นธรรม อย่างบ้านเลขที่ 109 และ 111 ได้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง” นายดิเรกกล่าว
รองประธาน กมธ.การเมือง กล่าวว่า มาตรา 7 วรรคสอง ที่ให้อำนาจการวินิจฉัยแก่ศาลรัฐธรรมนูญ กมธ. ทั้ง 2 คณะ ก็ได้เห็นพ้องตามที่ตัวแทนจากศาลเสนอให้ตัด ศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด ออกจากวรรคสองทิ้งไป เพื่อไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากทั้ง 2 ศาล มีอำนาจหน้าที่เป็นของตนชัดเจนอยู่แล้ว และที่สำคัญตามหลักประชาธิปไตย จะมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่ 4 ไม่ได้
รองประธาน กมธ. การเมือง กล่าวอีกว่า สำหรับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการปรองดอง ก็เสนอให้รวบไว้เป็นมาตราเดียว โดยมอบอำนาจให้รัฐสภา และ ครม. เป็นผู้จัดให้มีการปฏิรูปประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม โดยให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และกฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดในกฎหมาย มีส่วนยึดโยงกับประชาชน
รองประธาน กมธ. การเมือง กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กมธ. ยังได้มีการเสนอเพิ่มเนื้อหาใหม่ คือ คณะกรรมการไต่สวนอิสระ ในกรณีที่อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา แล้วมักจะมีเสียงไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งยาก ก็ให้ ส.ส. 1 ใน 10 ยื่นคำร้องต่อ ประธานวุฒิสภา ตั้งกรรมการไต่สวนอิสระ เพื่อตรวจสอบความประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะประกอบด้วยตัวแทนจาก ป.ป.ช. ปปง. ป.ป.ท. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน อสส. ประธาน กมธ. สามัญ สภาผู้แทนราษฎร และประธาน กมธ. วิสามัญวุฒิสภา อย่างละ 1 คนเป็นกรรมการ โดยให้ตัวแทนจาก ป.ป.ช. เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่สอบสวนทุจริตของรัฐบาล เพื่อถ่วงดุลการตรวจสอบ หากพบว่ามีความผิด ก็เข้าสู่กระบวนการทางอาญา หรือกระบวนการถอดถอนต่อไป
“ทั้งหมดนี้คือการแก้ไขเพื่อตอบสนองต่อหลักการประชาธิปไตยที่การเมืองต้องชอบธรรม กระบวนการยุติธรรมต้องเข้มแข็ง ศาลต้องตัดสินด้วยความเที่ยงตรง แม้ระบบการเมืองแบบรัฐธรรมนูญ 2540 จะถูกมองว่าเข้มแข็งเกินไป แต่ครั้งนี้ก็มีการเพิ่มอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลรัฐสภาและรัฐบาลให้เข้มแข็งมากขึ้นอย่าง คณะกรรมการไต่สวนอิสระ เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงว่า กมธ. ไม่มีมติแก้ไขให้ประธานรัฐสภามีอำนาจยุบสภา เนื่องจากขัดต่อหลักประชาธิปไตย ข่าวที่เสนออกไปเป็นเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของ กมธ. เท่านั้น” รองประธาน กมธ. การเมือง กล่าวทิ้งท้าย