xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” อ้างเขียนผิด ส่งร่าง รธน.ให้ทุกฝ่าย 26 เม.ย.นี้ - หากเลื่อนเลือกตั้งต้องแก้ รธน.ชั่วคราว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยันเดินตามโรดแมป หากต้องการเลื่อนเลือกตั้งต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พร้อมส่งร่างให้วิจารณ์ 26 เม.ย. อ้างเขียนรัฐธรรมนูญผิด ตัดฝ่ายสอบสวนออกจาก สตช. เพราะ กมธ.ยุติธรรมส่งข้อเสนอช้า


วันนี้ (24 เม.ย.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความเห็นจากเวทีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือ ศปป. เมื่อวานนี้ ที่มีข้อเสนอให้การเลือกตั้งช้าไป 2-3 ปี โดยยืนยันการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะเป็นไปตามโรดแมปและรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. พิจารณาภายในวันที่ 23 กรกฎาคม เพื่อให้ลงมติเห็นชอบหรือไม่ในวันที่ 6 สิงหาคม ซึ่งหากจะมีอะไรนอกเหนือจากนี้ ก็ต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

ส่วนความเห็นที่หากมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วไม่จำเป็นต้องให้ สปช. ลงมติเห็นชอบร่างนั้น มองว่าขึ้นอยู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแสดงความเห็นใดๆ ต้องมีหลักการ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ว่า สปช.เป็นผู้ที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมแสดงความเห็นโดยส่วนตัวและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ ที่เห็นควรให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการหารือกันถึงเรื่องนี้ ในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ในเดือนพฤษภาคม

ส่วนที่มีการให้ความเห็นกันว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอาจสร้างความวุ่นวายในอนาคต นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยวันที่ 26 เม.ย.จะส่งร่างฯ ให้ฝ่ายการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ และส่งคำข้อแก้ไข โดยขอให้ระบุให้ชัดเจนว่ามาตราใดมีปัญหา และมีแนวทางปรับแก้อย่างไร ไม่ใช่พูดเหมารวมว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดปัญหา

นายบวรศักดิ์ยังกล่าวถึงการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมว่ามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปรับแก้เนื้อหาในส่วนการปฏิรูปตำรวจ ที่ระบุให้ระบบงานสอบสวนเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมอธิบายว่าเนื้อหาที่ลงไปในร่างรัฐธรรมนูญไม่ตรงกับมติของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่ต้องการให้ระบบงานสอบสวนแยกอิสระจากฝ่ายสืบสวนและปราบปรามเท่านั้น ไม่ได้แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ยอมรับว่าข้อเสนอที่ให้แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอยู่ในข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ พร้อมตำหนิคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายฯ ที่ส่งข้อเสนอมาช้า แต่ก็ยอมรับว่าเป็นความบกพร่องของทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯเอง ที่ไม่ได้ทบทวนทุกตัวอักษร

ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังกล่าวถึงเนื้อหาในส่วนคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ส.ในมาตรา 111 โดยมีการบัญญัติไว้ทั้งกรณีที่ถูกถอดถอนหรือถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว โดยยึดสาระสำคัญตามแนวทางของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 แต่ได้เขียนแยกแยะให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงกรณีที่เคยต้องคำพิพากษาคดีทุจริต หรือทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้เป็นการตั้งธงเพื่อปิดกั้นบุคคลในบ้านเลขที่ 111 และ 109 เพราะไม่กระทบ เพราะมุ่งเอาผิดเฉพาะคนที่ถูกศาลตัดสินว่ากระทำผิดเฉพาะตัว และคนที่ถูกถอดถอนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น