เผยวงสัมมนาถกร่างรัฐธรรมนูญของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหิดล ร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ ชี้ไม่ควรมีบัญชีรายชื่อกลุ่มการเมือง ขวางมาตรา 111 ตัดสิทธิ์นักการเมืองทุจริตตลอดชีวิต หวั่นเพิ่มความขัดแย้ง เสนอที่มา ส.ว. สองทาง พร้อมชงทำประชามติ
วันนี้ (19 เม.ย.) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการสัมมนากำหนดการประชุมถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการนำเสนอสรุปผลการประชุมถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดย นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล แถลงสรุปผลการสัมมนาฯ ว่า ที่ประชุมเห็นว่าการเลือกตั้ง ส.ส. แบบระบบเอ็มเอ็มพี คือ การเลือกส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เสนอควรให้เป็นแบบปิด และบัญชีรายชื่อตามร่างรัฐธรรมนูญมี 2 แบบ คือ มีบัญชีรายชื่อพรรค และกลุ่มการเมือง ที่ประชุมเสนอว่าไม่ควรมีบัญชีรายชื่อกลุ่มการเมือง ควรมีแต่ของพรรคการเมืองเพื่อส่งเสริมระบบพรรคการเมือง สำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต มีความเห็นว่าควรมีผู้สมัครแบบอิสระ โดยไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง
ส่วนมาตรา 111 เป็นมาตราที่ว่าด้วยการทุจริตของข้าราชการและนักการเมืองที่เคยถูกตัดสิน เพราะมีการกระทำในอดีตอันมาจากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้มีการตัดสิทธิตลอดชีวิต ที่ประชุมเห็นว่าเมื่อการตัดสินจบลงแล้ว ถ้าตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต อาจจะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองได้ สำหรับการได้มาของ ส.ว. เรามีข้อเสนอ 2 ทาง คือ 1. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 จำนวน 200 คน คือ การเลือกตั้งแบ่งเขตเป็นจังหวัด สัดส่วนเป็นไปตามประชากรของแต่ละพื้นที่ 2. คล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 50 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด 77 คน และอีกกลุ่มเป็น ส.ว. จากการสรรหา อีก 73 คน รวมเป็น 150 คน โดยแยกเป็นการสรรหาจากนักวิชาการ โดยตำแหน่ง และผู้มีประสบการณ์ด้านต่างๆ และการสรรหาโดยตรง
ส่วนองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ ควรลดลงไปบ้าง หรือควรมีวาระการดำรงตำแหน่งแค่ 6 ปี ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่าการให้คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ให้สามารถเสนอตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแก่บุคคลที่ให้ความจริงอันเป็นประโยชน์และได้แสดงความสำนึกแล้วนั้น ไม่อยากให้ตั้งเงื่อนไขมากจนเกินไป ที่เขียนไว้เคร่งเกินไป และที่ประชุมเห็นด้วยกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ