ถึงคิว 250 ส.ส.! มติ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด แก้ที่มา ส.ว. แบ่งเป็น 3 กลุ่ม จงใจใช้อำนาจขัด รธน. ยื่น สนช. ถอดถอน พร้อมเอาผิดอาญา 3 อดีต ส.ส. “อุดมเดช รัตนเสถียร - คมเดช ไชยศิวามงคล - นริศร ทองธิราช” เปลี่ยนญัตติ - เสียบบัตรแทนกัน ส่วนกรณี “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” รอด! เผย 239 ส.ส. ร่วมลงชื่อ และอีกหนึ่ง ส.ส. ที่ไม่ได้ลงมติรับหลักการก็โดนด้วย ส่วนสอง ส.ส. ที่ไม่ได้ลงวาระ 2 ก็รอด
วันนี้ (12 มี.ค.) ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาผลการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาร้องเรียนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา
115 มาตรา 116 วรรคสอง มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114) เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ในส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) แล้ว
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติในข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 สิ้นผลไปแล้ว แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ยังมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้ง
ความเห็นคดีนี้เนื่องจากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาในขณะนั้นเป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ถือเป็นเหตุที่อาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 58 ในมาตรา 64 และมาตรา 65 ซึ่งยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557
นอกจากนี้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 15 - 18/2556 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2556 ไว้ย่อมมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ รวมถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องผูกพันในผลแห่งคดี ที่ว่ามีการสับเปลี่ยนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องของการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ด้วย
จากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาในประเด็นตามข้อกล่าวหาต่างๆ แยกได้เป็น 7 ประเด็น ดังนี้
1. ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 1 จำนวน 239 ราย ได้ร่วมลงลายมือชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา และได้พิจารณาและลงมติในวาระที่ 1 วาระที่ 2 โดยเฉพาะในมาตรา 6 และพิจารณาและลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ
เสียงข้างมาก (8: 1) ว่ามีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง
2. ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 2 จำนวน 1 ราย ได้ร่วมลงลายมือชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา และแม้จะมิได้ลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 แต่ได้พิจารณาและลงมติในวาระที่ 2 โดยเฉพาะในมาตรา 6 และพิจารณาและลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก (8: 1) ว่า มีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง
3. ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 3 จำนวน 10 ราย ได้ร่วมลงลายมือชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา และได้พิจารณาและลงมติในวาระที่ 1 แม้จะมิได้พิจารณาและลงมติในมาตรา 6 ที่มีเนื้อหาเพิ่มเติมหลักการส าคัญโดยการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 116 วรรคสอง ในวาระที่ 2 ก็ตาม แต่ก็ได้พิจารณาและลงมติ
ในวาระที่ 3 เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก (8: 1) ว่า มีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่ราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง
4. ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 4 จำนวน 2 ราย ได้ร่วมลงลายมือชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา และได้พิจารณาและลงมติในวาระที่ 1 แต่ก็มิได้พิจารณาและลงมติในวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับรายมาตราโดยเฉพาะในมาตรา 6 ที่มีเนื้อหาเพิ่มเติมหลักการส าคัญโดยการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา
116 วรรคสอง และก็มิได้พิจารณาและลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก (5: 4) ว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป
5. ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 5 จำนวน 3 ราย ได้ร่วมลงลายมือชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา และได้พิจารณาและลงมติในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ พิจารณาและลงมติในวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับรายมาตรา โดยเฉพาะในมาตรา 6 ที่มีเนื้อหาเพิ่มเติมหลักการส าคัญโดยการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 116 วรรคสอง ที่มีผลทำให้บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลง สามารถลงสมัครรับ
เลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้อีกโดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 2 ปี และพิจารณาและลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภานั้น
แต่ต่อมาได้ถึงแก่ความตายก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติวินิจฉัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ว่ามีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาถึงแก่ความตายในระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง ความผิดเป็นอันระงับไป จึงมีมติให้จำหน่ายคดีจากสารบบ
6. ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 6 จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย นายอุดมเดช รัตนเสถียร ผู้ถูกกล่าวหาลำดับที่ 3 นายคมเดช ไชยศิวามงคล ผู้ถูกกล่าวหาลำดับที่ 39 และนายนริศร ทองธิราช ผู้ถูกกล่าวหาลำดับที่ 162 ที่ได้ร่วมลงลายมือชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา และได้พิจารณาและลงมติในวาระที่ 1 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาความผิดอาญาด้วย จึงให้แยกเรื่องไว้ดำเนินการให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน
7. กรณี นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏพฤติการณ์ว่าได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอาญา ในเรื่องกล่าวหาว่ามีสมาชิกรัฐสภากระทำการเสียบบัตรลงคะแนนและกดออกเสียงลงคะแนนแทนกัน ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของสมาชิกวุฒิสภาด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติยกเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปจึงมีมติให้รวบรวมสำนวนและเอกสารหลักฐาน ส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำหรับผู้ถูกกล่าวหา 3 กลุ่มแรก เพื่อดำเนินการถอดถอนต่อไป
มีรายงานว่า สว่นใหญ่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 8 ต่อ 1 เสียงชี้มูลความผิดในคดีถอดถอนอดีต ส.ส.จำนวน 250 คน ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. โดยแบ่งกลุ่มตามพฤติกรรมออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก อดีต ส.ส.ที่ร่วมเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และลงมติในวาระที่ 1, 2 และ 3 จำนวน 239 คน กลุ่มที่ 2 อดีต ส.ส. ที่ร่วมเสนอญัตติและลงมติในวาระที่ 2 และ 3 จำนวน 1 คน และกลุ่มที่ 3 อดีต ส.ส. ที่ร่วมเสนอญัตติและลงมติในวาระที่ 1 และ 3 จำนวน 10 คน
ทั้งนี้ นายอุดมเดช รัตนเสถียร เป็นอดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย นายคมเดช ไชยศิวามงคล เป็นอดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย, นายนริศร ทองธิราช เป็น อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย