xs
xsm
sm
md
lg

ใครเป็นใคร? ในทีมงาน “ปฏิรูปกิจการตำรวจ” ฉบับ สปช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร
ใครเป็นใคร ? ในรายชื่อ “คณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ” ฉบับ สปช. เปรียบเทียบกับ “คณะทำงานกำหนดแนวทางปฏิรูปตำรวจ” ที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้ง ร่วมนับหนึ่ง “ปฏิรูปกิจการตำรวจ” หรือแค่ “ปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

หลังจาก นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงนามในคำสั่ง สปช. ที่ 20/2558 เรื่องแต่งตั้ง “คณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ” จำนวน 17 คน

มาดูว่า 17 คนที่แต่งตั้งในครั้งนี้ ใครเป็นใคร

นอกจาก “นายเทียนฉาย กีระนันทน์” และ “พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร” จะเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ แล้ว

มีการแต่งตั้ง “นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์” อดีตรองประธานศาลปกครอง เป็น ประธานกรรมการ ปัจจุบัน เป็น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน

ขณะที่กรรมการประกอบด้วย

“นายธวัชชัย ไทยเขียว” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งล่าสุดระบุเป็น “เพื่อนสนิท” นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ซึ่ง นายธวัชชัย ใช้ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เงินเดือน 130,610 บาท ทำสัญญาประกันตัวนายศุภชัยกับศาลอาญา ถูกระบุว่า เป็นตัวกลางเจรจาหาทางออกร่วมกันกับแกนนำ กปปส. กับ นายสมชาย วงศ์สวัสด์ คราว กปปส. ปิดล้อมกระทรวงยุติธรรม

“พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน” ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1” เขาเคยพูดถึงการปฏิรูปตำรวจว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงปฏิรูปกิจการตำรวจเป็นครั้งแรกช่วงปี 2404 - 2405 จนมีการถวายพระนาม “บิดาตำรวจไทย” มีพระราชประสงค์ให้ตำรวจเป็นตำรวจของพระมหากษัตริย์และเป็นตำรวจของประชาชน จนปัจจุบันปรับโครงสร้างมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขียนกฎหมายให้ฝ่ายการเมืองตั้งตำรวจ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ต.ช. ตั้ง ผบ.ตร. รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคงเป็นประธาน ก.ตร. ตั้งนายพล ทำให้ ผบ.ตร. และนายพลตั้งโดยฝ่ายการเมือง ตำรวจซูฮกรับใช้ สนองความต้องการของนักการเมืองได้ดี ไม่เป็นตำรวจของพระมหากษัตริย์และประชาชน ผิดพระราชประสงค์การจัดตั้งตำรวจ ถูกมองเป็นตำรวจรับใช้การเมือง ไม่มีตำรวจคนไหนอยากรับใช้นักการเมือง แต่จำเป็นไม่รับใช้ไม่ได้ดี เป็นวังวน ต่างจากหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมด้วยกัน อัยการ และศาล ต่างไม่รับใช้นักการเมือง อัยการมีคณะกรรมการอัยการ ส่วนศาลมีคณะกรรมการตุลาการ คณะกรรมการทั้งสองชุดไม่ได้เอานักการเมืองมาเป็นประธาน มีอิสระ แต่โครงสร้างตำรวจเอานายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีมานั่งคุมตำรวจ ถ้าการปฏิรูปไม่เอาตำรวจพ้นการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้าย ไม่มีทางเรียกศรัทธาประชาชนได้”

“นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์” นายกสภาทนายความ เขาเคยพูดถึงการปฏิรูปตำรวจว่า “ปัญหาของงานสอบสวนคือการรับหรือการสั่งคดีในบางคดีมักไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม และบางครั้งอาจมีการแทรกแซงจากผู้ที่ไม่มีความรู้ในสายงานสอบสวน จึงเป็นที่มาของคำว่าเป่าคดี ดังนั้นการให้สายงานสอบสวนแยกตัวออกมาเป็นอิสระในลักษณะขององค์กรอิสระจะเป็นผลดีต่อการทำงาน”

“พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ” ปัจจุบัน เป็น สมาชิก สปช.ด้านการศึกษา เป็น อดีตรอง ผบ.ตร. และอดีตคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก.ตร.

“พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร” ปัจจุบัน เป็นที่ปรึกษา (สบ 10) สตช. และเป็น “คณะทำงานกำหนดแนวทางปฏิรูปตำรวจ” ที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 40 /2558 แต่งตั้ง

“นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง

“นายพงศ์โพยม วาศภูติ” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปท้องถิ่น 

“นายเช็มชัย ชุติวงศ์” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

“นายสังศิต พิริยะรังสรรค์” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รองประธานกมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

“นายไพโรจน์ พรหมสาส์น” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการปกครองท้องถิ่น เป็น ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบบริหารราชการ

“นายวันชัย สอนศิริ” กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) เคยพูดถึงการปฏิรูปตำรวจว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรมียศ มีตำแหน่ง เพราะมักเกิดปัญหาซื้อขายตำแหน่งจำนวนมาก โดยเสนอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนเท่านั้น เพื่อให้โรงพักเป็นที่พักกายพักใจแก่ประชาชน”

นอกจากนั้น ยังมี “อัยการสูงสุด หรือ ผู้แทน” “เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม หรือผู้แทน” และ “ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย” มาร่วมเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ

เมื่อเทียบกับ “คณะทำงานกำหนดแนวทางปฏิรูปตำรวจ” ที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 40 /2558 ลงวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา

โดยมี พล.ต.อ.สมยศ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ และ พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รอง ผบ.ตร. เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน มีจเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร. ที่ปรึกษา (สบ 10) ผู้ช่วย ผบ.ตร. ทุกท่าน ผบช.น. ผบช.ภ.1 ผบช.ภ.2 ผบช.ภ.7 ผบช.ก. ผบช.ตชด. ผบช.ปส. ผบช.กมค. ผบช.สยศ. ผบช.งป. ผบช.สง.กตร. เป็นคณะทำงาน

ผบช.สกพ. เป็นคณะทำงานและเลขานุการ มี พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย รอง ผบช.สกพ. เป็นคณะทำงาน และผู้ช่วยเลขานุการ พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง รอง ผบช.สยศ.ตร. เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ พล.ต.ต.อนุชา รมยะนันทน์ ผบก.อต. เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ พ.ต.อ.ปรีชา สถาวร รอง ผบก.อต. เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ และ ผกก. กลุ่มงานวิเคราะห์และพัฒนาระบบงาน กองอัตรากำลัง เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

ในส่วนของคณะทำงานย่อย ด้านต่างๆ 6 คณะ ได้แก่

1. ด้านแนวทางการกระจายอำนาจสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย รอง ผบช.สกพ. เป็นคณะทำงานและเลขานุการ

2. ด้านการถ่ายโอนภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปให้หน่วยงานอื่นของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี เป็นคณะทำงานและเลขานุการ

3. ด้านองค์กรกำหนดนโยบาย ควบคุม กำกับดูแล และการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นคณะทำงานและเลขานุการ

4. ด้านการให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ โดย พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน พล.ต.อ.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ เป็นคณะทำงานและเลขานุการ

5. ด้านกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ โดย พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน พล.ต.ท.วัฒนา สักกวัตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็น รองหัวหน้าคณะทำงาน ผู้บังคับการกองกฎหมาย เป็นคณะทำงานและเลขานุการ

6. ด้านการรับฟังความคิดเห็นและการประชาสัมพันธ์ โดย พล.ต.อ.เรืองศักดิ์ จริตเอก รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน / ผู้บังคับการกองสารนิเทศ เป็นคณะทำงานและเลขานุการ มีที่ปรึกษา ประกอบด้วย พล.ต.อ.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล อดีตรอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.บริหาร เสี่ยงอารมณ์ อดีตผู้ช่วยผบ.ตร. และผู้แทนคณะอนุฯ ก.ตร. คณะต่างๆ

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ บช.น., ภ.1 - 9 และ ศชต. จัดสัมมนา เพื่อรับฟังความคิดเห็นข้าราชการตำรวจและผู้เกี่ยวข้อง โดยเชิญบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาให้ข้อมูล และข้อเสนอแนะ เพื่อส่งข้อมูลให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกอบการพิจารณา

โดยล่าสุด มีการจัดสัมมนาการปฏิรูปหลายครั้ง เช่น การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบงานตำรวจ ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาระบบงานตำรวจ” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีผลสรุปเช่น

แนวคิด “ให้ยกฐานะสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานระดับกระทรวง” มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 1 ตำแหน่ง, จเรตำรวจแห่งชาติ 1 ตำแหน่ง, รองจเรตำรวจแห่งชาติ 1 ตำแหน่ง, รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 4 ตำแหน่ง, ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 5 ตำแหน่ง, ระดับอธิบดี เทียบเท่า ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยศพลตำรวจโท 17 ตำแหน่ง

ส่วนระดับกองบัญชาการเดิม เปลี่ยนเป็นระดับกรมเป็นนิติบริหารแบบเบ็ดเสร็จ เช่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล เปลี่ยนเป็น กรมนครบาล, กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปลี่ยนเป็น กรมตำรวจสอบสวนกลาง, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปลี่ยนเป็น กรมตรวจคนเข้าเมือง, กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 - 9 เปลี่ยนเป็น กรมตำรวจภูธร 1 - 9, พิสูจน์หลักฐานตำรวจ เปลี่ยนเป็น กรมตำรวจพิสูจน์หลักฐาน, กองบัญชาการศึกษา เปลี่ยนเป็น กรมตำรวจศึกษา กองบัญชาการตำรวจชายแดนและกิจการพิเศษ เปลี่ยนเป็น กรมตำรวจตระเวนชายแดนและกิจการพิเศษ, สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ เปลี่ยนเป็น กรมตำรวจราชสำนักประจำ

ส่วนอำนาจการแต่งตั้ง ระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้คัดเลือก และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. เห็นชอบ การแต่งตั้งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ - ผู้บังคับการ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคัดเลือกเสนอ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. เห็นชอบ การแต่งตั้ง รองผู้บังคับการ - ผู้กำกับการ ให้สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ อธิบดี คัดเลือกเสนอ ก.ตร. เห็นชอบ และตัดอำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยอ้างเหตุพิเศษออกทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ปฏิรูปงานสอบสวน ให้ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ โดยให้ยกฐานะเป็นคณะกรรมการสอบสวนแห่งชาติ แบ่งเป็นสำนักงานสอบสวนกลาง หรือสำนักงานสอบสวนแห่งชาติ มีระดับ พล.ต.อ. เป็นหัวหน้า และมีระดับ พล.ต.ท.- พล.ต.อ. เป็นรองสอบสวนกลาง หรือรองสอบสวนแห่งชาติ โดยดูแลสำนักงานสอบสวนทั่วประเทศ มีอำนาจในการการกำหนดนโยบาย การบริหารงานบุคคล การออกกฎระเบียบ คำสั่ง การบริหารงานสอบสวน และควบคุม กำกับดูแล และมีเจ้าหน้าที่สอบสวนกลางหรือเจ้าหน้าที่สอบสวนแห่งชาติ เป็นผู้ปฏิบัติงานสอบสวนอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสอบสวนกลางหรือสอบสวนแห่งชาติ

สำนักงานสอบสวนภาค มีระดับ พล.ต.ท. เป็นหัวหน้า มีระดับ พล.ต.ต. เป็นรองสอบสวนภาค มีอำนาจหน้าที่เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนภาค บริหารงานสอบสวน และควบคุม กำกับ ดูแล สำนักงานสอบสวนจังหวัดในเขตรับผิดชอบ และมีเจ้าหน้าที่สอบสวนภาค เป็นผู้ปฏิบัติภายใต้การบังคับบัญชาของสอบสวนภาค, สำนักงานสอบสวนจังหวัดมีระดับ พล.ต.ต. หรือ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ เป็นหัวหน้า มีระดับ พ.ต.อ. พิเศษ หรือพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ เป็นรองสอบสวนจังหวัด ดูแลสำนักงานสอบสวนอำเภอในเขตรับผิดชอบและสั่งคดีได้ทุกคดีในเขตจังหวัดโดยเฉพาะการให้ความเห็นชอบในคดีสั่งไม่ฟ้องหรืองดการสอบสวน

สำนักงานสอบสวนอำเภอ มีระดับ พ.ต.อ. หรือ พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นหัวหน้าฐานะเทียบเท่าหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ มีอำนาจในการบริหารงานสอบสวน และสั่งทุกคดีในเขตอำเภอนั้นๆ มีระดับพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นหัวหน้า, พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ, พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ, พนักงานสอบสวน เป็นผู้ปฏิบัติงานสอบสวนคดีอาญา จราจร ตาม ป.วิ อาญา นอกจากนี้ ยังมีผู้ช่วยพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่คดี ธุรการ เจ้าหน้าที่ตรวจที่เกิดเหตุ พลขับ ควบคุมผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ส่งหมาย และเจ้าหน้าที่เดินรายงาน เป็นทีมงานสอบสวน

ล่าสุด “คณะกรรมการ” ชุดนี้ ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปตำรวจ ไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บ้างแล้ว และเตรียมเสนอต่อ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ใน “คณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ” ซึ่งมี “พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน” “ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1” “พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ” อดีตรอง ผบ.ตร. และอดีตคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก.ตร. และ “พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร” ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นตัวแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ.


นายธวัชชัย ไทยเขียว
พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน
นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์
พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ
พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร
นายวันชัย สอนศิริ
กำลังโหลดความคิดเห็น