ผบ.สส.ประชุม ผบ.เหล่าทัพ แจงการทำประชามติ ระบุรัฐบาล คสช.แค่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเปิดทางทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนจะทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้เกี่ยวข้อง ย้ำหนุนงานรัฐบาล คสช. ส่วนการแก้ปัญหาโรฮีนจารอผลประชุม 29 พ.ค.
พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานในการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยมี พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เข้าร่วมประชุม
พล.อ.วรพงษ์เปิดเผยผลการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพว่า ในที่ประชุมได้หารือถึงกรณีที่ รัฐบาลและ คสช.มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเปิดช่องให้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ส่วนจะทำประชามติหรือไม่ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการที่มีอยู่และขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีใครเสนอบ้าง ต้องเป็นไปตามกระบวนการ ถ้ากระบวนการไม่เสนอก็ไม่ต้องทำ หากเสนอให้ทำก็สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ เพราะที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ให้ทำก็เลยทำไม่ได้ แต่เมื่อ ครม.และ คสช.เห็นว่าเห็นชอบและเปิดเวทีให้ ส่วนจะทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ที่เกี่ยวข้อง
“ที่ประชุม ผบ.เหล่าทัพ พิจารณาเห็นว่าควรจะเปิดโอกาสให้สามารถทำได้ ซึ่ง ผบ. เหล่าทัพคุยกันแค่ตรงนั้น แต่จะให้พูดลึกลงไปเพราะอาจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความไขว้เขว้ว่าเป็นการชี้นํา จึงต้องปล่อยให้ผู้ที่มีหน้าที่ ในแต่ละขั้นตอนมีการพิจารณามาตามระดับขั้น หลังจากนั้นจะมีการตัดสินใจ ขณะนี้เป็นขั้นตอนการแก้ไข ที่ ครม. และ คสช.มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หลังจากนั้นจะมีขั้นตอนการแก้ไข จนกว่าจะออกมาเป็นทางราชการ และประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ส่วนอนาคตจะมีการผ่อนปรนให้ชุมนุมทางการเมืองเพื่อให้แสดงความคิดเห็นนั้น เรื่องนี้ตอบไม่ได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่”
พล.อ.วรพงษ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่ประชุมได้เน้นย้ำการทำงานของเหล่าทัพให้สนับสนุนและสอดคล้องนโยบายของรัฐบาล และคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.)โดยทำงานให้ตรงเป้าหมายทันตามกรอบระยะเวลาและมีผลสัมฤทธิ์ ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนของเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ดำเนินการอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมยังได้มีการพูดคุยถึงการแก้ไขปัญหาของชาวโรฮีนจาว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางกองทัพเรือโดยทัพเรือภาค 3 ตลอดจนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดสตูล (กอ.รมน.สตูล) ได้ดูแลชาวโรฮีนจาที่เกาะหลีเป๊ะโดยดำเนินการตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเรื่องจุดประสงค์การเดินทางว่าต้องการไปที่ใด ถ้าหากต้องการจะขึ้นฝั่งไทยก็จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มาตรการการดูแลและแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจาที่ชัดเจน คงต้องรอผลการประชุมในวันที่ 29 พ.ค.นี้
“ส่วนที่องค์กรต่างชาติออกมากดดันและผลักภาระให้ไทยเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลชาวโรฮีนจานั้น อยากให้รอผลการประชุมในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เพราะถือเป็นเวทีการประชุมเพื่อหาแนวทาง แก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจา โดยจะมีการเชิญประเทศต่างๆ องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาพูดคุยเพื่อหาทางออกที่ชัดเจน”
พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่า การทำงานของข้าราชการทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาชาวโรฮีนจา ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว และคิดว่าคงไม่มีใครทำในสิ่งที่ไม่ดี เพราะการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความโปร่งใส ประเด็นเรื่องมีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ถือว่าตัดไปได้เลย