xs
xsm
sm
md
lg

สปช.หนุนแนวทางปฏิรูปสื่อ ชงตั้งองค์กรกำกับลงโทษ หลังคุมกันเองไร้ผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปช.รับทราบงาน กมธ.ปฏิรูปสื่อ เสนอตรากฎหมายจัดระเบียบสื่อมวลชนทำหน้าที่ด้วยจริยธรรม และความรับผิดชอบ ปราศจากการถูกครอบงำ ขณะที่สมาชิกเสนอตั้งองค์กรกำกับลงโทษในฐานะฐานันดรสี่ หลังปล่อยสื่อควบคุมกันเองแล้วไร้ผล

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้พิจารณารายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในวาระเรื่องการกำกับดูแลสื่อ สิทธิเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ และการป้องกันการแทรกแซงสื่อ โดยนายจุมพล รอดคำดี ประธานกรรมาธิการเสนอรายงานดังกล่าวว่า การปฏิรูปการสื่อสารมลชนเพื่อเป็นแนวทางการทำงานของสื่อมวลชน เนื่องจากปัญหาสังคมส่วนหนึ่งเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน เพราะขาดจริยธรรม ขาดความรับผิดชอบ ขาดสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ ดังนั้น การปฏิรูปจะเป็นการกำกับดูแลสื่อมวลชนเพื่อกำหนดวิธีคิด วิธีการนำเสนอข่าวสาร พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์ในการปฏิรูป ซึ่งสื่อมวลชนของไทยต้องมีความรับผิดชอบ รวมถึงประชาชนมีสิทธิ ในการรับรู้ เข้าถึง เท่าทันเพื่อความถูกต้อง ครบถ้วนและชอบธรรมที่สำคัญจะทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ โดยสื่อต้องปราศจากการถูกครอบงำ

นอกจากนี้ ต้องสร้างพลเมืองที่เท่าทันสื่อและต้องมีบทบาททั้งในเชิงลบ และเชิงบวก ดังนั้น ประชาชนต้องมีบทบาทในการเฝ้าระวังไม่ให้รัฐและกลุ่มทุนเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ซึ่งสถานการณ์สื่อที่มีปัญหามากคือการถูกแทรกแซง การรับอามิสสินจ้าง ทำให้สื่อมวลชนขาดจริยธรรมในการนำเสนอข่าว ดังนั้น ควรตรากฎหมายเกี่ยวกับสื่อมวลชนเพื่อให้การทำหน้าที่ของสื่อเป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งควรสร้างกลไกให้มีจิตสำนึกในเสรีภาพ ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง

“ที่ผ่านมาสื่อถูกแทรกแซงจากลุ่มทุน ภาครัฐ จนทำให้สื่อกลายเป็นกระบอกเสียงของผู้มีอำนาจ จึงต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้สื่อทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระและเสรี ดังนั้นควรสร้างกลไกป้องกันไม่ให้สื่อถูกครอบงำหรือถูกแทรกแซงเพื่อไม่ให้สื่อขาดความเป็นอิสระ รวมทั้งมีระบบอุดหนุนสวัสดิภาพและสวัสดิการสื่อโดยระดมทุนจากภาครัฐและเอกชนเพื่อให้สื่อขนาดเล็กสามารถสร้างศักยภาพเทียบเท่าสื่อขนาดใหญ่ได้”

จากนั้นมีสมาชิกหลายคนได้อภิปรายสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปสื่อของคณะกรรมาธิการฯ โดยเห็นว่าสื่อมีอิทธิพลอย่างสูงต่อประชาชนและเยาวชน ที่ผ่านมาหลายเหตุการณ์ความขัดแย้งก็เกิดจากสื่อบางแห่งขาดความรับผิดชอบ พร้อมตั้งข้อสังเกตเพิ่มข้อเสนอแนะในหลายประเด็น เช่น คุณภาพการนำเสนอของสื่อ จริยธรรมหรือสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ ที่เห็นว่าหากให้สื่อกำกับดูแลกันเองน่าจะไม่เห็นผลเท่าที่ควร ดังที่ได้เกิดเหตุการณ์ในอดีตที่เมื่อไม่พอใจที่ถูกตรวจสอบก็ลาออกจากการเป็นสมาชิก ดังนั้นต้องมีองค์กรขึ้นมากำกับดูแลเพื่อให้สื่อทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบมีจริยธรรม แต่การมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนควรให้อำนาจอย่างแท้จริงในการกำกับดูแล สามารถลงโทษสื่อที่ทำผิดได้ และควรให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีบทบาทกำกับดูแลประสิทธิภาพการทำงานของสื่อด้วยในฐานะฐานันดรที่ 4 รวมถึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลด้วย และเห็นควรให้มีการปฏิรูป คือ การป้องกันการแทรกแซงสื่อ ทั้งจากนายทุนและรัฐ เพราะบางสื่อขณะนี้ถูกซื้อเข้าตลาดหลักทรัพย์ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารตามหลักจริยธรรมหรือความเป็นอิสระคงทำได้ยาก ขณะที่บางสื่อมีการนำเสนอภาพหรือข้อมูลสนับสนุนรัฐมนตรี กลายเป็นข้อได้เปรียบฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยแต่ไม่มีพื้นที่หรือไม่มีเงินซื้อสื่อ ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้สื่อเป็นสื่อของประชาชน

นางเตือนใจ สินธุวณิก สมาชิก สปช.ด้านสื่อมวลชน ในฐานะเป็นกรรมาธิการฯ ชี้แจงทำความเข้าใจกับสื่อว่า สภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะเป็นองค์กรที่มาดูแลเชื่อมโยงกับสมาคม มูลนิธิของสื่อที่มีอยู่แล้ว แต่จะมีการบัญญัติเรื่องหลักจริยธรรมว่าควรเป็นอย่างไร มีการพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับสวัสดิภาพและสวัสดิการของสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว พร้อมขอให้มั่นใจว่าการปฏิรูปสื่อครั้งนี้ทำเพื่อประชาชนและประโยชน์ของประเทศชาติและกอบกู้ศักดิ์ศรีความศรัทธาของสื่อให้กลับคืนมา

ทั้งนี้ นายจุมพลได้กล่าวขอบคุณข้อเสนอแนะของสมาชิก สปช. พร้อมจะนำข้อเสนอไปใช้ในแนวทางการปฏิรูปสื่อสารมวลชน เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพแล้วจะส่งผลให้สื่อเกิดความระมัดระวังในการเสนอข่าว และจะทำให้สื่อเกิดความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน ดังนั้น การใช้สื่อใดๆ ต้องตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบด้วย หากดำเนินการดังกลไกที่วางไว้จะทำให้การปฏิรูปสื่อมวลชนประสบความสำเร็จ จากนั้นที่ประชุมได้รับทราบรายงานดังกล่าว

ขณะที่นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ กรรมาธิการชี้แจงเพิ่มเติมว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการรู้เท่าทันสื่อ ดังนั้นเราจึงได้วางกลไกในการป้องกันไม่ให้สื่อถูกแทรกแซงและทำให้สื่อมวลชนเป็นสื่อของประชาชนอย่างแท้จริง






กำลังโหลดความคิดเห็น