xs
xsm
sm
md
lg

อันตรายจากเหมืองแร่โปแตช เอาชีวิตคนไทยแลกผลประโยชน์?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ในขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี กำลังพิจารณาการออกอาชญาบัตร (สำรวจเหมืองแร่) กับการออกประทานบัตร (ทำเหมืองแร่) ซึ่งล่าสุด บริษัท เหมืองแร่โปแตช อาเซียน จำกัด (มหาชน) ที่เจ้าสัวซีพี ถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับสอง เพิ่งจะได้รับประทานบัตรไปหมาดๆ หลังรอมายาวนานเกือบ 30 ปี

มีสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ ควรคิดทบทวนให้ดีก่อนการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติ ว่า ผลกระทบที่ตามมาเป็นอย่างไร คุ้มค่ากับเงินจำนวนน้อยนิดที่รัฐได้ส่วนเอกชนฟันกำไรจากแผ่นดินไทยหรือไม่

ลองย้อนไปดู “คดีคลิตี้” ซึ่งบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัมปทานเหมืองตะกั่วในปี พ.ศ. 2510 และปิดกิจการไปในปี พ.ศ. 2542 ส่วนเหมืองแร่ปิดถาวรในปี 2544 ผ่านไป 10 ปี ในปี 2554 ชาวบ้านคลิตี้เห็นว่าน้ำในลำห้วยขุ่น ตอผุดขึ้นมาให้เห็นว่า “โรงแต่งแร่” ที่อยู่ต้นลำห้วยคลิตี้ ปล่อยน้ำในบ่อกักเก็บแร่สารตะกั่วลงสู่ลำห้วยตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2541 ซึ่งในขณะนั้น ทางบริษัทถูกกรมทรัพยากรธรณีสั่งระงับกิจการชั่วคราว 120 วัน และปรับ 2,000 บาท

คดียืดเยื้อยาวนานจนถึงปี 2556 จึงสิ้นสุด ใช้เวลายาวนานถึง 15 ปี ศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษ ชดเชยชาวบ้านคนละ 1.7 แสนบาท และฟื้นฟูลำห้วยให้สารตะกั่วไม่เกินค่ามาตรฐานอย่างน้อย 1 ปี

จนถึงขณะนี้ ปริมาณสารตะกั่วที่ปนเปื้อนอยู่ในลำห้วยคลิตี้อาจจะเบาบางลงแล้ว แต่ยังคงมีสารตะกั่วเกินค่าปกติในเด็ก ซึ่งเท่ากับว่าเหมืองปิดไป 10 กว่าปีแล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดกับวิถีชีวิตชุมชนยังคงอยู่

โดยในระยะแรกตั้งแต่ปี 2536 - 2537 ประชาชนเริ่มมีอาการเจ็บป่วย บวม และเสียชีวิต เด็กแรกเกิดป่วยมีพัฒนาการช้า เนื่องจากปริมาณสารตะกั่วในเลือดของประชาชนสูงถึง 30 - 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ชาวบ้านไม่สามารถดื่มน้ำในห้วยคลิตี้และกินปลาที่อาศัยอยู่ในลำห้วยได้ ในขณะที่สุขภาพของประชาชนยังคงมีความเสี่ยง แต่เอกชนปิดเหมืองเปิดตูดแน่บโกยกำไรไปเรียบร้อย ทิ้งชุมชนให้ทุกข์ระทมอยู้ข้างหลัง

คราวนี้ลองมาดูตัวอย่างโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่จังหวัดอุดรธานีกันดูบ้าง เผื่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา และทบทวนนโยบายที่เตรียมจะออกประทานบัตรให้กับบริษัทอีกสองแห่ง

โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เป็นเหมืองแร่ใต้ดิน ครอบคลุมพื้นที่ 7 หมื่นไร่ กำลังการผลิตปีละ 2 ล้านตัน สำรวจกันในปี 2516 ทำสัญญาในปี 2527 ซึ่งปัจจุบัน บริษัท เอเซียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอร์เรชั่น ธุรกิจในเครือบริษัท อิตาเลี่ยนไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของ เริ่มมองเห็นผลกระทบที่ตามมาแล้ว คือ

1) ผลกระทบต่อเกษตรกรรมอันเป็นเศรษฐกิจหลักของชุมชนจากปัญหาการขยายตัวของดินเค็มและน้ำเค็มจากการแต่งแร่รวมถึงความเค็มของกองเกลือ

2) เกิดผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษขณะทำเหมือง ฝุ่นเกลือ ฯลฯ และยังทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงในระยะยาวด้วย

3) ความเสี่ยงจากดินทรุด เหมืองถล่ม อุบัติเหตุจากการทำเหมือง

4) ความเสี่ยงจากการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งจะกระทบต่อวิถีชีวิตท้องถิ่น

5) ความเสี่ยงที่ชุมชนไม่สามารถควบคุมได้ เพราะสามารถดำเนินการเหมืองแร่ใต้ดินที่อยู่ลึกเกิน 100 เมตร โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน

ในขณะที่ผลกระทบต่างๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กลับอนุญาตประทานบัตร (ทำเหมืองแร่โปแตช) ให้กับบริษัท เหมืองแร่โปแตช อาเซียน จำกัด (มหาชน) ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยผ่านความเห็นชอบรายงานสิ่งแวดล้อมเลยแต่มาผ่านพรวดๆ ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จนใช้เวลาแค่ 7 เดือนก็ออกประทานบัตรได้

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเป็นวาระแห่งชาติเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ความไม่เป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติกลับมองข้ามชีวิตชาวบ้าน โดยเฉพาะการอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชอย่างรวดเร็ว จาก จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องในธุรกิจเหมืองแร่ อันอาจจะถูกนำไปนินทาว่าเป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนก็เป็นได้

หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ทบทวนเรื่องนี้ก็ไม่แตกต่างอะไรกับสุภาษิตไทยที่ว่า “มือถือสากปากถือศีล” เพราะการทำเหมืองที่อ้างว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสร้างรายได้ให้กับประเทศนั้น ไปเบียดเบียนวิถีชีวิตประชาชนระยะยาว ก่อให้เกิดความเจ็บป่วย รวมถึงความขัดแย้งที่นับวันจะทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ จากการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่เป็นธรรม เห็นเงินสำคัญกว่าชีวิตคน

อำนาจในมือ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะนี้ สามารถสร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้กับคนไทยได้ หรือไม่ ก็สร้างความไม่เป็นธรรมกับคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีทางสู้อย่างมหาศาล จึงต้องใช้ “ธรรมนำอำนาจ”

ไม่ใช่ใช้ “อำนาจแสวงหาประโยชน์” แม้จะอ้างว่าประเทศได้ประโยชน์ก็ตาม

พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 ไว้สวยหรู โดยจำแนกออกเป็น 11 ด้าน ที่น่าสนใจคือ ข้อ 9) แถลงไว้ว่า “การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการสวนทางกับนโยบายของตัวเอง เพราะ ครม. อนุมัติหลักการพระราชบัญญัติแร่ เปิดโอกาสให้เอกชนได้รับสัมปทานโดยที่ชุมชนขาดโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับนโยบาย อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังให้ความสำคัญกับการทำเหมืองแร่ มากกว่าการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พล.อ.ประยุทธ์ มักประกาศเสมอว่า จะเข้ามาทำในสิ่งที่รัฐบาลเลือกตั้งทำไม่ได้ นี่คือหนึ่งในตัวอย่างนั้น แต่เป็นผลงานชิ้นโบดำ ที่แม้แต่รัฐบาลเลือกตั้งยังไม่กล้าทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น