xs
xsm
sm
md
lg

ศาลกาญจนบุรีเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกะเหรี่ยงคลิตี้ เผยสู้คดีกันมา 13 ปี โจทก์ตายแล้ว 4 จำเลยตาย 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - ศาลจังหวัดกาญจนบุรี เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) คดีกะเหรี่ยงคลิตี้ ฟ้องบริษัทเอกชนชื่อดัง “บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด” เหตุจำเลยที่ 2 ไม่จ่ายค่าธรรมเนียม 2 แสนบาท เผยสู้คดีกันมา 13 ปี โจทก์ตายแล้ว 4 คน จำเลยตายแล้ว 2

เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (26 เม.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดีบัลลังก์ 6 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีแพ่งหมายเลขดำ ที่ 106/2546 หมายเลขแดง ที่ 1565/2549 ระหว่างนายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ที่ 1 กับพวกรวม 8 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน จำเลย โดยมี ว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน กรรมการสิ่งแวดล้อม ทนายความผู้ช่วยเหลือคดีจากสภาทนายความ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา สภาทนายความ นางภินันท์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ พร้อมชาวบ้านคลิตี้ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากสารตะกั่วจำนวนหนึ่งเข้าร่วมรับฟัง โดยชาวบ้านได้นำรูปภาพของชาวบ้านที่เสียชีวิตจากสารตะกั่ว จำนวน 4 คน รวมทั้งป้ายผ้าเขียนเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ กล่าวถึงปัญหา และผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากพิษของสารตะกั่วมาให้สื่อมวลชนที่รอทำข่าวได้ถ่ายภาพด้วย

จนกระทั่งเวลา 09.45 น. เมื่อถึงกำหนดคู่ความมาศาล ศาลได้ตรวจสำนวนแล้วมีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคำสั่งศาลฎีกาไปนัดพร้อม และฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 21 มิ.ย.59 เวลา 09.00 น. เหตุที่ต้องเลื่อนเนื่องจาก 1.ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาจำเลยที่ 1 และทนายจำเลย 1 ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ทนายรับหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาแทน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้โจทก์ทั้ง 8 ตรวจสอบที่อยู่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และแถลงให้ศาลภายใน 3 วัน เพื่อดำเนินการส่งหมายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 และเหตุผลที่ 2.ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้ครบถ้วนเสียก่อน จึงจะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้

ว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน กรรมการสิ่งแวดล้อม ทนายความผู้ช่วยเหลือคดีจากสภาทนายความเปิดเผยภายหลังว่า ในกระบวนการของศาลมีประเด็นปัญหาอยู่สองส่วน ส่วนแรกคือ การส่งหมายให้แก่ทางจำเลยทั้งสองทราบ เนื่องจากว่าจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทที่เลิกกิจการไปนานแล้วทำให้ส่งหมายไม่ได้ จึงต้องประกาศทางหนังสือพิมพ์ ขณะเดียวกัน ทนายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทนายในพื้นที่ก็ปฏิเสธในการรับหมาย ก็เลยทำให้การส่งหมายไม่ชอบ ประเด็นที่ 2 เนื่องจากว่าวันนี้จำเลยทั้งสองคนเขาใช้วิธีการแยกยื่นฎีกา คือ เดิมที่เราฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องนายคงศักดิ์ กลีบบัว เป็นจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นกรรมการบริษัทฯ ให้รับผิดส่วนตัว ศาลก็พิพากษาให้จำเลยทั้ง 2 ร่วมกันชำระค่าเสยหายให้แก่ชาวบ้าน ต่อมา ทั้งบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และนายคงศักดิ์ กลีบบัว ได้ร่วมกันยื่นอุธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เสียเงินที่ศาลอุธรณ์เป็นเงิน จำนวน 2 แสนบาท เพราะว่าเป็นการร่วมกันยื่นอุธรณ์ ต่อมา ศาลอุธรณ์ได้พิพากษาให้จำเลยทั้ง 2 ชำระเงินให้ชาวบ้านเป็นเงินจำนวนเงิน 29 ล้านบาทเศษ ซึ่งจำเลยก็ได้ยื่นอุธรณ์ ส่วนโจทก์ก็ยื่นอุธรณ์เช่นกันจนกระทั่งถึงชั้นฎีกา

แต่เมื่อถึงเวลาฎีกาก็เกิดเหตุประหลาดขึ้นมา เพราะปรากฏว่า จำเลยทั้ง 2 ได้ให้ทนายความ 2 คนไปแยกกันยื่นฎีกา สรุปแล้วก็คือว่า การยื่นฎีกาเป็นของทนายคนที่หนึ่ง และคนที่สองซึ่งการฎีกาปรากฏว่า บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัดวางเงินแค่ 2 แสนบาท ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้วางเงิน ต่อมา ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ศาลฎีกาได้ตรวจพบว่าจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้วางเงิน จำนวน 2 แสนบาท

ดังนั้น วันนี้ศาลจังหวัดกาญจนบุรี จึงบอกว่า ถ้าจะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ จะต้องให้จำเลยที่ 2 มาวางเงินค่าธรรมเนียมก่อน จำนวน 2 แสนบาท ถ้าหากยังไม่วางเงินก็ไม่สามารถอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ และให้โจทก์ไปหาที่อยู่ของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด มาแถลงที่ศาลภายใน 3 วัน และจะให้จำเลยที่ 1 คือ นายคงศักดิ์ กลีบบัว หรือทายาดให้นำเงิน จำนวน 2 แสน มาวางที่ศาลภายในวันที่ 21 มิ.ย.59 และถ้าหากจำเลยที่ 2 นำเงินมาวางตามกำหนดศาลจังหวัดกาญจนบุรีก็จะอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาให้ฟัง แต่ถ้าหากจำเลยที่ 2 ยังไม่นำเงินมาวางตามที่กำหนด ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ก็จะส่งสำนวนกลับไปที่ศาลฎีกาที่ กทม.เพื่อให้ศาลฎีกาสั่งอีกครั้งหนึ่งว่ากรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่มาวางเงิน จำนวน 2 แสนบาทศาลฎีกาจะมีคำสั่งว่าอย่างไร ซึ่งกระบวนนี้เราก็พอจะเดาได้ว่าวันที่ 21 มิ.ย.59 นี้ ทางจำเลยที่ 2 ก็คงจะไม่มาวางเงินที่ศาลเพื่อให้ศาลจังหวัดกาญจนบุรีส่งสำนวนกลับไปที่ศาลฎีกานั่นเอง

ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาฯ สภาทนายความ เปิดเผยว่า ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีคำสั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปเป็นวันที่ 21 มิ.ย.59 สิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องให้ทนายความไปศึกษาดูว่าเกิดข้อผิดพลาดอะไร ส่วนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสารตะกั่วที่ยื่นฟ้องก็จำเป็นจะต้องกลับไปรอที่บ้านต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่ศาลนัด

ส่วน นางภินันท์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ กล่าวว่า ทราบว่ากรมควบคุมมลพิษได้งบประมาณในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นเงิน จำนวน 490 ล้านบาท และกำหนดว่าต้องทำการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับมาเหมือนเดินภายใน 3 ปี ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าเงินจำนวนดังกล่าวได้มาจากไหน ซึ่งในวันนี้เราจะเดินทางเข้าไปในพื้นที่เพื่อตรวจสอบว่า มีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

ด้าน นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา โจทก์คนที่ 1 กล่าวว่า การเดินทางมาที่ศาลเป็นไปด้วยความลำบาก ซึ่งในวันนี้เราตั้งใจมาฟังศาลจังหวัดกาญจนบุรีอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา แต่ปรากฏว่าไม่สามารถอ่านได้ เนื่องจากทางจำเลยไม่ได้มาชำระเงินค่าธรรมเนียมให้แก่ศาล ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่า เมื่อถึงวันที่ 21 มิ.ย.59 จำเลยจะมาวางเงินค่าธรรมเนียมหรือไม่ ซึ่งเราจะต้องรอดูต่อไป โดยตลอดระยะเวลาที่เราต่อสู้กันมาในชั้นศาลรวมประมาณ 13 ปี ซึ่งที่ผ่านมา ฝ่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากศาลตะกั่วก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว 4 ราย และทราบว่า ฝ่ายจำเลยก็เสียชีวิตไปแล้ว จำนวน 2 ราย ซึ่งจนถึงขณะนี้ตนมองว่าฝ่ายจำเลยคงต้องการยื้อเวลากับชาวบ้านมากกว่า

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาวบ้านคลิตี้ต้องการมากที่สุดคือ การที่ขอให้กรมควบคุมมลพิษรีบเข้ามาดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับมาใสสะอาดเหมือนเดิมให้เร็วที่สุด

รายงานข่าวว่า การที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในครั้งนี้ ไม่มีตัวแทนฝ่ายจำเลยเดินทางมาที่ศาลแม้แต่คนเดียว






กำลังโหลดความคิดเห็น