สนช.เห็นชอบให้ “ภิญโญ ทองชัย” นั่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ก่อนถก พ.ร.บ.ล้มละลาย รมว.ยธ.แจงให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาคำสั่งขอชำระหนี้แทนขอศาล หวังลดขั้นตอน เพิ่มรายละเอียดคำขอประนอมหนี้ก่อนล้ม รวมทั้งปรับปรุงโทษให้เหมาะสม จากนั้นจึงมีมติรับหลักการวาระแรก
วันนี้ (1 พ.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 23/2558 โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งมีระเบียบวาระคือ ให้ความเห็นชอบบุคคล นายภิญโญ ทองชัย ที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ท.ผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 5 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่า ทางสมาชิก สนช.เห็นชอบให้นายภิญโญ ทองชัย เป็นคณะกรรมการ ป.ป.ท.
จากนั้นมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่...) พ.ศ. ...... โดยมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ชี้แจงโดยระบุว่า โดยที่กระบวนการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอคำขอรับชำระหนี้ต่อศาลเพื่อมีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ทำให้กระบวนการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้มีหลายขั้นตอนสมควรลดขั้นตอนโดยกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอชำระหนี้เพื่อให้การพิจารณาคำขอรับชำระหนี้มีความรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ สมควรกำหนดรายละเอียดของคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายให้ชัดเจนและกำหนดให้เจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดสามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษปรับให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันด้วย
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรมได้ปรับปรุงกระบวนการบังคับคดีล้มละลายให้มีขั้นตอนกระบวนการให้มีความสะดวก รวดเร็ว และทันสมัยโดยร่างกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจหน้าที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถนำเอาหนี้ที่มีอยู่ของลูกหนี้ไปใช้คืนให้กับเจ้าหนี้ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการของศาล นอกจากนี้ยังมีการกำหนดปรับปรุงสิทธิของลูกหนี้ร่วมหรือผู้ค้ำประกันให้สามารถรับช่วงสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ได้รวมถึงปรับปรุงการยื่นขอประนอมหนี้ให้มีความชัดเจนขึ้น
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. อภิปรายว่าการเร่งพิจารณาให้ทันกำหนดเส้นตาย 1 มิถุนายน เหลือเวลา 30 วันอาจจะเป็นปัญหาทำทันเวลาหรือไม่ที่จะมีผลต่อการจัดอันดับของธนาคารโลก เพราะขั้นตอนตามปกติในกรอบการพิจารณาในกรรมาธิการต้องใช้อีก 30 วันอีกทั้งหากรีบเร่งเกินไปก็จะเกิดความไม่รอบคอบเพราะกฎหมายนี้เกี่ยวคดีเป็นหมื่นคดีและมูลค่าทรัพย์สินจำนวนมาก อีกทั้งการตัดขั้นตอนของศาลให้พนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจพิจารณาความรวดเร็วนั้นอาจะต้องพิจารณาให้รอบคอบมากขึ้น
หลังจากนั้น ที่ประชุม สนช.ได้ลงมติรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.นี้ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 182 เสียง งดออกเสียง 2 เสียงและให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 15 คนมีระยะเวลาในการแปรญัตติ 7 วัน และมีระยะเวลาทำงาน 30 วัน