xs
xsm
sm
md
lg

สปช.หวั่น สภาขับเคลื่อนฯสืบอำนาจ ค้าน พ.ร.ฎ.ล้างผิด “ประสาร” เชื่อ รธน. ผ่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภาปฏิรูปแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
ซักฟอก รธน. วันสุดท้าย สปช. หวั่นสภาขับเคลื่อนฯสืบทอดอำนาจ จี้เขียนให้ชัดปฏิรูปส่วนใด สปช.จว. ปัดต่อรองขอลง ส.ว. อัดล็อกสเปกให้ 60 สปช. นั่งสภาขับเคลื่อนน่าละอาย “เสธ.อู้” โต้ไม่มีล๊อบบี้ที่มาเลือกตั้ง ส.ว. “นิพนธ์” ขวาง กก. ปรองดองฯ เสนอตรา พ.ร.ฎ. อภัยโทษ เสี่ยงก้าวล่วงพระราชอำนาจ “ประสาร” เชื่อ สปช. ตบเท้าเห็นชอบ ร่าง รธน. แน่นอน ชี้ เข้าสู่ยุคภาค ปชช. ตรวจสอบ

วันนี้ (26 เม.ย.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นวันสุดท้าย ในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ส่วนที่ 1 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ การปฏิรูปแห่งชาติ ส่วนที่ 2 การปฏิรูปด้านต่างๆ

ซึ่งสมาชิก สปช. อภิปรายอย่างกว้างขวางและเห็นด้วยให้มีการปฏิรูปในทุกด้าน แต่เห็นว่าควรที่จะบัญญัติให้ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลไก โครงสร้างสภาการขับเคลื่อนและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ที่ยังมีไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาขับเคลื่อนฯว่ารับผิดชอบต่อใคร บทบาทอำนาจหน้าที่เป็นอย่างไรหรือมีเพียงแต่ทำข้อเสนอนโยบายแล้วส่งต่อให้รัฐบาลหรือ นอกจากนี้การส่งมอบจะทำอย่างไรไม่ให้มีรอยต่อเกิดขึ้น เพราะเข้าใจว่าเราดูรูปแบบการขับเคลื่อนมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีแผนชัดเจน มีความเป็นเอกภาพ ซึ่งทำให้งานเรื่องการปฏิรูปออกมาสัมฤทธิผล

นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ สปช. อภิปรายว่า อยากให้มีการทบทวนกลไก โครงสร้างและกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้มีสภาขับเคลื่อนฯมีความชัดเจนมากขึ้น โดยให้กำหนดเรื่องนี้ไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐซึ่งจะครอบไปถึงการปฏิรูปด้านต่างๆและรองรับการเดินหน้าของประเทศ ทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน นอกจากนี้ ต้องการให้หน่วยงานขับเคลื่อนมีความเป็นมืออาชีพขึ้นตรงต่อฝ่ายบริหาร และต้องการสร้างการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนทำให้ทุกคนเกิดความสึกเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ ควรมีการเปิดเผยรายงานการปฏิบัติงานต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนตัดสินเองว่ามีผลงานมากน้อยเพียงไหน อย่างไรก็ดีเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบที่ชัดเจน ควรมอบงานเรื่องนี้ให้ฝ่ายบริหารรับผิดชอบเป็นหลักในเรื่องการจัดการ กลไก และองค์กรขับเคลื่อน ส่วนในรัฐธรรมนูญอาจกำหนดเพียงกรอบเวลาและแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้มีผลต่อความสำเร็จ

นายทิวา การกระสัง สมาชิก สปช. อภิปรายว่า มีการกล่าวหาว่ามีการตกลงกันระหว่างกรรมาธิการยกร่างฯกับสมาชิก สปช. ที่มาจากจังหวัดที่ต้องการให้สปช.จังหวัดสามารถมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. ได้ สิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นเท็จ เนื่องจาก สปช. จังหวัดที่ไปพูดคุยกับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ นั้น เป็นการพูดกันในห้องสีชมพู เพราะต้องการให้สมาชิกที่มาจากจังหวัดที่เป็นประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปให้ประชาชนทราบ เนื่องจากได้รับแรงกระแทกจากข้างนอกและข้างใน จึงอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่ยอมรับของ ประชาชน ตนจึงได้บอกไปว่าถ้าต้องการให้ประชาชนยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มาของ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน โดยยืนยันว่าไม่เคยไปต่อรองกับนายบวรศักดิ์เลยว่าต้องการให้เพื่อนสมาชิก สปช. ที่มาจากต่างจังหวัดสามารถสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. และตนก็ไม่เคยคิดว่าจะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. แต่การลงสมัครเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ยืนยันไม่เคยมีการต่อรอง

“ในส่วนของสภาขับเคลื่อน ที่ระบุว่า ให้มีสมาชิก สปช. 60 คน นั้นผมสนับสนุน แต่ไม่เห็นด้วยที่ระบุให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 30 คน ถือเป็นการล็อกสเปกเกินไป และอยากรู้ว่ากฎหมายเขียนเพื่อประโยชน์ใครให้ดูคนเขียน คือ กรรมาธิการยกร่างฯทั้ง 36 คน หาก สปช. รับรองแบบเอาง่ายก็เข้าตำรา อย่างมาตรา 279 เกี่ยวกับสภาขับเคลื่อนฯและคณะกรรมาการยุทธศาสตร์ เขียนมาเพื่อใคร อย่างคำพูดแต่โบราณมา เมื่อก่อนต้องอ่านตั้งแต่แรกจนบรรทัดสุดท้าย แต่มาตรานี้เขียนโต้งๆ เพื่อ สปช. 60 คน สปช. ต้องมีอยู่ในสภาขับเคลื่อนฯนี้ การเอา สปช. เข้าไปเป็นถือเป็นการเอาพรรคพวกตัวเองเข้าไปเป็นถึง 60 คน ยิ่งกว่าตั้งเครือญาติเป็นผู้ช่วย สนช.และที่วุฒิสภา 50 เขียนแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเอง ซึ่งผมอยากบอกว่าการตั้ง สปช. 60 คนน่าอายยิ่งกว่า”

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ ชี้แจงว่า ทุกเรื่องที่บัญญัติมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่มา ส.ว. ในช่วงแรก ก็มีสมาชิกที่เห็นด้วย แต่จากการรับฟังความคิดเห็น และจัดเวทีต่างๆ ทำให้ทางกรรมาธิการมีการทบทวนในรอบสุดท้าย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบน่าจะให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของ จังหวัดทั้ง 77 จังหวัด

“ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีการล็อบบี้และประธานกรรมาธิการยกร่างไม่มีอะไรอยู่ในใจหรือใช้อภิสิทธิ์ไปฟังใครมา แต่ที่มา ส.ว. ดังกล่าวเป็นเสียงส่วนใหญ่ของกรรมาธิการยกร่างที่เห็นด้วยในการปรับสัดส่วนให้ลดลง ส่วนเรื่องสภาขับเคลื่อนฯ ที่สมาชิกอภิปรายเกี่ยวกับสภาขับเคลื่อนที่มีจำนวน 120 คน มีที่มา 3 ทาง รวมถึงที่ ตั้งข้อสงสัยถึงการให้ สัดส่วน สปช. อยู่ในสภาขับเคลื่อนฯ เพราะทางกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่าในเรื่องการปฏิรูปควรให้คนมีความรู้ในด้านต่างๆ เข้ามาอยู่ในสภาขับเคลื่อนฯ เพื่อให้การปฏิรูปทำได้ดี แต่เมื่อมีเสียงเห็นด้วยไม่เห็นด้วยจะนำมาชั่งน้ำหนักและปรับเปลี่ยนไม่ให้เกิดข้อครหาต่อไป”

ส่วน นายนิพนธ์ นาคสมภพ สมาชิก สปช. ได้อภิปรายเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวด 4 การปฏิรูปและการปรองดอง ว่า ตนเห็นด้วยที่จะมีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติเพื่อจะมาทำหน้าที่ในด้านดังกล่าว แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจเสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษนั้น ตนเห็นว่าจะเป็นการที่เสี่ยงต่อการก้าวล่วงพระราชอำนาจ เพราะโดยปกติเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในพระบรมราชวินิจฉัย ที่ไม่มีใครก้าวล่วงได้ เพราะตนเชื่อว่าการสร้างความปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ามีการก้าวล่วงพระราชอำนาจ จะเป็นจุดเปราะบางที่สุดของประเทศนี้ ตนขอเสนอให้มีการกำหนดในรัฐธรรมนูญเพื่อให้นักการเมืองที่พูดโกหกจนสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติจะต้องรับผิดชอบกับคำพูดด้วย เพราะทำให้ประเทศชาติขาดความน่าเชื่อถือ

ขณะที่ นายประสาร มฤคพิทักษ์ กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวถึงการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ 7 วันนี้ ว่า เป็นการอภิปรายที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์ ใช้ไมตรีจิตต่อกันแทนที่จะเอาชนะคานกัน นับเป็นมาตรฐานใหม่ของการอภิปรายในสภาฝ่ายกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเองก็น้อมใจที่จะรับฟังอย่างเต็มที่ ไม่มีท่าทีแข็งขืน ฝ่าย สปช. ก็ทำการบ้านมาอย่างดีและแสดงออกอย่างมีวุฒิภาวะ อย่างไรตาม คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังต้องรับฟังเสียงจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสียงของรัฐบาล เสียงจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมกันไป กับการรับฟังเสียงประชาชน ที่ยังแสดงความคิดเห็นเข้ามาหลายทิศหลายทาง

นายประสาร กล่าวต่อว่า เมื่อถึงวันที่ลงมติ คือ วันที่ 6 สิงหาคม นี้ ด้วยบรรยากาศถ้อยทีถ้อยมีไมตรีต่อกันเช่นนี้ จะทำให้ สปช. ส่วนใหญ่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญในที่สุด ทั้งนี้ประเด็นความสนใจสาธารณะรวมศูนย์ไปที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. เป็นสำคัญ ขณะที่บทบาทภาคพลเมืองที่ถูกยกระดับขึ้นมาและจะมีฤทธิ์เดชมาก กลับเป็นเรื่องที่คนสนใจน้อย

นายประสาร ยังกล่าวต่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นักการเมืองยุคใหม่จะต้องเข้าสู่การตรวจสอบของภาคประชาชนอย่างเข้มข้น นอกจากมีกลไกต่างๆ เช่น ผู้สมัคร ส.ส. ต้องแสดงการเสียภาษี 3 ปีย้อนหลัง ให้ประชาชนเป็นคนกำหนดตัว ส.ส. (Open List) แทนที่จะต้องเป็นไปตามรายชื่อที่พรรคการเมืองกำหนดมา การให้รองประธานสภาคนที่หนึ่งต้องเป็นตัวแทนของพรรคที่ได้คะแนนอันดับสอง คือ พรรคฝ่ายค้าน การให้คนเป็นประธานกรรมาธิการชุดสำคัญต้องเป็นคนของพรรคฝ่ายค้าน แล้วยังมีสมัชชาคุณธรรม สมัชชาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคพลเมือง เป็นตาสับปะรดกระจายกันอยู่ทั่วประเทศเช่นนี้ ทำให้นักการเมืองต้องก้าวออกมาจากพื้นที่เดิมที่ “สะดวกได้สบายดี” (Comfort Zone) มาสู่พื้นที่แห่งการเอ็กซเรย์ของประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น