รองนายกฯ แจ้งชื่อนักวิชาการฝรั่งเศส-เยอรมนีจ้อประสบการณ์แก้วิกฤตการเมือง “ประยุทธ์” แล้ว รอตอบรับ มองร่าง รธน.แน่นไป เล็งชง กมธ.ยกร่างฯ ตัดออก เผยยังไม่ตอบรับประชามติ ชี้เรื่องละเอียดอ่อน หวั่นเข้าทางนักการเมือง โบ้ยรัฐบาลหวังอยู่ยาว แจงพบ ขรก.เกษียณเอี่ยวทุจริต-เปลี่ยนชื่อ สอบเข้มหวั่นย้ายคนผิด
วันนี้ (24 เม.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รายงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงความคืบหน้าที่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเล่าประสบการณ์การแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองในประเทศ โดยล่าสุดได้ข้อสรุปที่จะเชิญผู้แทนจากประเทศฝรั่งเศส และเยอรมนีมาประมาณ 3-4 คน โดยระหว่างนี้รอการตอบรับบุคคลและนักวิชาการที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ความจริงแล้วมีหลายประเทศที่อยู่ในความสนใจเชิญมาเล่าประสบการณ์แต่ติดเงื่อนไขห่วงเวลาที่จำกัด
สำหรับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในส่วนของ ครม.ซึ่งตนเองเป็นมีส่วนรับผิดชอบและในส่วนของ คสช.ได้มีการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาในขั้นต้นแล้ว และได้ข้อสรุปว่าจะต้องหารือกันอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน ผนึกความเห็นของ ครม.และ คสช.ร่วมกัน ยื่นต่อกรรมาธิการยกร่างฯ เพื่อให้ข้อเสนอแนะมีน้ำหนักมากขึ้น
ทั้งนี้ นายวิษณุยังเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่กรรมาธิการยกร่างฯ มา 315 มาตรานั้น จำนวนมาตราไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ความสำคัญอยู่ที่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญซึ่งเห็นว่ามีจำนวนมาตรามากเกินไป สามารถที่จะตัดทอนเนื้อหาบางส่วนออกได้ 20-30 มาตรา โดยนำส่วนที่ตัดออกนำไปเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแทนได้ พร้อมยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญที่ประเทศอินเดียมีมาตราน้อย แต่เนื้อหาในบางมาตรามีมากถึง 5 หน้า ทั้งนี้เตรียมที่จะเสนอประเด็นตัดทอนรัฐธรรมนูญต่อกรรมาธิการยกร่างฯ ต่อไป
ขณะที่พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีการทำประชามติ และยอมให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป นายวิษณุพร้อมรับฟังข้อเสนอ แต่ยังไม่ตัดสินใจใดๆ ในขณะนี้เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากรัฐบาลตัดสินใจทำประชามติทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปก็จะมีกลุ่มการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นตำหนิรัฐบาลว่าไม่เดินตามโรดแมปที่สัญญาไว้กับประชาชน
ส่วนความคืบหน้ารายชื่อข้าราชการที่เกี่ยวข้อกับการทุจริตที่ส่งรายชื่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. นายวิษณุยอมรับว่าหลังจากส่งรายชื่อไปตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่ามีข้าราชการบางคนที่เปลี่ยนชื่อและเกษียณอายุราชการไปแล้ว ต้องมีการตรวจสอบให้ละเอียดเพื่อไม่เกิดการโยกย้ายผิดคน การตรวจสอบข้าราชการทุจริตมี 3 ส่วน คือ การโยกย้าย การเอาผิดทางวินัย และการดำเนินคดีอาญา ผู้ที่กระทำความผิดก็จะต้องถูกลงโทษโดยไม่สามารถหลุดพ้นได้