ผ่าประเด็นร้อน
แม้ว่ามีการตั้งข้อสังเกตแบบตรงกันว่าเวลานี้ประเทศไทยกำลังถูกบีบคั้นในแบบคุกคามจากประเทศตะวันออกประดังเข้ามาแบบผิดปกติ โดยมาในหลายรูปแบบทั้งในประเภทที่เรียกว่าเป็น “องค์กรระหว่างประเทศ” กระหน่ำเข้ามาจนแทบตั้งตัวไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “องค์การการบินระหว่างประเทศ” ที่ลดมาตรฐานด้านการบินของไทย และสั่งให้แก้ไขตามมาตรฐาน การระบุว่าเป็นประเทศแถวหน้าในเรื่องการค้ามนุษย์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน การทำประมงผิดกฎหมาย ล่าสุดทางสหภาพยุโรป (อียู) ได้ขีดเส้นตายให้ไทยต้องแก้ไขภายใน 6 เดือน ไม่เช่นนั้นจะไม่รับซื้อสินค้าประมง
นี่ยังไม่นับเรื่องแรงกดดันทางการเมืองโดยตรงที่นำโดยขาใหญ่ “สหรัฐอเมริกา” ที่บีบถามเช้าถามเย็นให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ซึ่งมีความเป็นไปได้เหมือนกันหากไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือไทยมีความจำเป็นต้องเลื่อนออกไปด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ก็อาจถูกตีความว่ามีความพยายามสืบทอดอำนาจ อาจถูกมาตรการคว่ำบาตรตามมาอีกก็ได้ ใครจะรู้
นั่นเป็นการตั้งข้อสังเกตกันแบบผิดปกติหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงมาสู่ยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนมาถึงรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่าประเทศไทยต้องเจอกับสภาพกดดันดังกล่าวทันที หลายคนอาจตั้งข้อสังเกตในเรื่องผลประโยชน์ที่เปลี่ยนไป เคยได้แล้วไม่ได้แบบเดิมจากที่เคยได้กับรัฐบาลที่บอกว่ามาจากการเลือกตั้ง แม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะยืนยันว่าเป็นมิตรกับทุกฝ่ายทุกประเทศก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นประเด็นอยู่ที่ว่าผลประโยชน์ที่เคยได้กลับไม่ได้เท่าเดิมหรือเปล่า โดยเฉพาะในยุคที่ไทยกำลังกระชับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับจีนและรัสเซียเพิ่มขึ้นตามลำดับ
นั่นเป็นข้อสังเกตในเชิงการเมือง และผลประโยชน์ระหว่างประเทศ ที่ต้องมาพิจารณาให้น้ำหนักซึ่งเป็นไปได้สูงทีเดียว
แต่ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับกันแบบไม่ต้องอ้อมค้อมกันก็คือ ในบ้านเราปัญหาดังกล่าวมีอยู่จริง และมีมากเสียด้วย และมีมานานและมีมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะความเน่าเฟะของระบบราชการ จนทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ระหว่างข้าราชการในหน่วยงานที่รับผิดชอบ สมคบกับนายทุนหลายระดับตั้งแต่ท้องถิ่นไปจนถึงทุนใหญ่ระดับชาติ รวมไปถึงพวกนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั่นแหละ ถามว่าการค้าแรงงานเถื่อน การค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมายที่ทำลายทรัพยากรแบบเหี้ยนเตียนมีหรือไม่ และเกี่ยวพันไปจนถึงธุรกิจประมง ธุรกิจอาหารสัตว์หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า “มีมากมายมหาศาล” ชนิดที่เรียกว่าถ้าไม่ดัดจริตรับรองได้เลยว่าจิ้มไปตรงไหนก็ต้องเจอ
เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้มีการปิดบังซ่อนเร้น รวมไปถึงถูกปิดด้วยภาพของบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนผลประโยชน์จนมองข้ามไป เพิ่งจะมีการหยิบยกมาบีบคั้นประดังเข้ามาพร้อมกันในช่วงนี้พอดี
แน่นอนว่าเมื่อพิจารณากันถึงจำนวนเงินและผลประโยชน์ ก็ต้องบอกว่ามากมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากสินค้าประเภทประมงที่ไทยต้องส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอียู รวมไปถึงเรื่องมาตรฐานการบิน หากไทยแก้ปัญหาไม่ทันตามเส้นตาย หรือทำไม่ได้ตามมาตรฐานที่เขากำหนด มันก็จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจให่ย่ำแย่ลงไปอีก
อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งเมื่อมองในฝ่ายรัฐบาลที่ต้องแก้ไขปัญหาก็ได้เห็นชัดเจนว่าจำเป็นต้องใช้ “มาตรการพิเศษ” เข้ามาใช้นั่นคือ ต้องใช้ “มาตรา 44” ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่ให้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศใช้ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศมาจากประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศในเอเซีย-แอฟริกา ว่าเขาจะใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยจะใช้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปช่วยเหลือแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ และรวดเร็วทันการณ์
หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ในระยะหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาคสามสงบแห่งชาติใช้อำนาจมาตรา 44 เข้าไปแก้ปัญหาหลายอย่างทั้งในการปรับโครงสร้างในหน่วยราชการ เช่น ในกรมการบินพลเรือน หรือแม้แต่การสั่งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ และเชื่อว่าจะมีการใช้อำนาจโยกย้ายระดับบิ๊กอีกหลายรายตามมา นอกจากนี้ยังประกาศว่าจะเข้าไปล้างบางในกรมที่ดิน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ด้วย
แน่นอนว่านี่คือปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องใช้ “อำนาจพิเศษ” และ “กฎหมายพิเศษ” เข้าไปจัดการกับปัญหาที่หมักหมมและไร้ประสิทธิภาพจนสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเมืองได้อย่างทันท่วงทีและทันการณ์กว่าการใช้กฎหมายปกติที่มีขั้นตอนอืดอาดยืดยาด และที่สำคัญจะสำเร็จยากเพราะถูกขัดขวางจากพวกเสียประโยชน์ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีเสียงท้วงติงว่าการใช้อำนาจแบบ “ครอบจักรวาล” ดังกล่าวจะสุ่มเสี่ยง แต่นาทีนี้ในสถานการณ์แบบนี้มันก็ใช้ได้ผล ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ใช้ ใช้ไปในทางชอบหรือมิชอบต่างหาก ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันต้อง “ยาแรง” เท่านั้น!!