xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แจงคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 4 ให้ทหารเข้าร่วมปฏิบัติเพื่อให้งานเร็วขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เผยคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 4 เพื่อให้ทหารเข้าไปเสริมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เผยที่ผ่านมาได้พลผู้มีอิทธิพลไม่กล้าเหิมเมื่อมีทหารเข้าไปช่วยเสริมให้งานเร็วขึ้น ขณะเดียวกันยังป้องกันเจ้าหน้าที่เกียร์ว่างหรือทุจริตเมื่อมีทหารเข้าประกบการทำงาน ย้ำเชิญนักวิชาการต่างประเทศมาเล่าประสบการณ์วิกฤตในอดีต ไม่ใช่มาร่าง รธน.ให้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2558 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยส่วนรวมว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.เป็นการใช้อำนาจมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อแก้ปัญหาบางอย่างในทางบริหาร โดยปกติกฎหมายแต่ละฉบับมีรัฐมนตรีที่รักษาการสามารถแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการได้ แต่ระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาพบว่าการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายแต่ละฉบับลงไปปฏิบัติไม่ได้ผล เพราะกำลังเจ้าหน้าที่น้อย หย่อนประสิทธิภาพ หรือยังไม่เข้าใจเจตนาความมุ่งหมายของกฎหมายและของรัฐบาล จึงมีเสียงเรียกร้องจากทุกกระทรวงมาว่าทำอย่างไรจะสามารถแต่งตั้งคนนอกกระทรวงมาเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อมาเสริมกำลังได้ แต่ปรากฏว่าติดปัญหา เพราะกฎหมายเหล่านี้มักเขียนว่าการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องเป็นการแต่งตั้งคนในกระทรวงๆ นั้นเท่านั้น แต่งตั้งคนนอกไม่ได้ จึงมีแนวคิดว่าจะแก้ไขกฎหมาย แต่หากไปแก้กฎหมายจะเป็นการถาวร เพราะจุดประสงค์ต้องการให้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวในระหว่างการจัดระเบียบสังคมนี้ ถึงเวลาหนึ่งจะออกเป็น พ.ร.บ.เพื่อยกเลิก

นายวิษณุกล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีตามกฎหมายจะเป็นผู้ร้องขอไปยัง รมว.กลาโหม ขอให้ตั้งทหารเข้ามาเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เสริม เมื่อพิจารณาแล้วจะเสนอหัวหน้า คสช.ออกคำสั่งแต่งตั้งทหารเข้าไปเสริมกำลังของฝ่ายกระทรวง ทบวง กรมในการที่จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นั้นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงการตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารลงไปประกบเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นๆ มีความระมัดระวัง จะเกียร์ว่าง จะทุจริต หรือจะไปบกพร่องเสียเองอย่างในอดีตไม่ได้ เพราะจะถูกประกบ มีการตรวจสอบจากทหาร ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเองหากทำผิดกฎหมายจะถูกประกบโดยพลเรือนเช่นกัน เป็นการทำงานเหมือนคู่ขา ต่างคนต่างตรวจสอบ

“คงจะได้ดูว่าจากนี้ไปเมื่อเรามีกำลังทหารไปเสริมดูแลทุกอย่างจะดีขึ้นหรือไม่ ที่แล้วมามีปัญหา เวลาเจ้าหน้าที่ทำเองพวกบุกรุกไม่ยำเกรง แต่เมื่อมีการปรับกำลังเจ้าหน้าที่ทหารไปช่วยดู กลับดีขึ้น แปลกเหมือนกันผู้มีอิทธิพลมักกลัวทหารมากกว่าตำรวจ อาจจะเป็นเพราะนานๆ เขาลงไปที”

นายวิษณุยังกล่าวถึงเการเชิญนักวิชาการต่างประเทศเล่าประสบการณ์เรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นสิ่งที่น่าลองดู เพราะก่อนหน้านี้มีข้อเสนอแนะมาว่า ทำไมไม่เอานักวิชาการต่างชาติมาอธิบาย แต่ไม่ได้ให้มาวิจารณ์รัฐธรรมนูญ เพียงแต่ต้องการให้มาบอกว่า บ้านเมืองเขามีวิกฤตและผ่านวิกฤตได้อย่างไร เราต้องการให้เขาแนะตรงนั้นมากกว่า ไม่ใช่มาสอนเรา และไม่ใช่มาร่างรัฐธรรมนูญให้

อย่างไรก็ตาม ที่จริงนักวิชาการที่เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จบการศึกษามาจากต่างประเทศทั้งนั้น อย่างกรณีตนเวลาไปเรียนจะไปเรียนในสิ่งที่เรียนมา แต่เรื่องเบื้องลึกเบื้องหลังเก่าแก่ของเขา เราไม่ได้อินหรือรู้อย่างคนประเทศเขาเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น