xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” เล็งเชิญ “ฝรั่งเศส-เยอรมนี” แลกเปลี่ยนแนวคิดรัฐธรรมนูญ รับ คสช.-รัฐบาลเดินหน้าได้แค่ 30%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรี ประชุมแม่น้ำ 5 สาย เผยเตรียมเชิญตัวแทน “เยอรมนี - ฝรั่งเศส” แบ่งปันประสบการณ์จัดทำรัฐธรรมนูญ เผยรัฐบาล - คสช. แก้ปัญหาประเทศชาติได้แค่ 30% ด้าน “วิษณุ” แจงไม่ได้ให้วิจารณ์รัฐธรรมนูญ ยอมรับเวลาบีบรัด เชิญหลายประเทศไม่ได้

วันนี้ (7 เม.ย.) ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมแม่น้ำ 5 สายในวันนี้ ใช้เวลาประชุมเพียง 1 ชั่วโมง 20 นาที ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมที่ใช้เวลาน้อยที่สุดตั้งแต่เคยประชุมมา โดยเมื่อเวลา 17.25 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยตัวแทนทั้ง 5 องค์กรได้แถลงข่าว โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันเบาๆ เพราะเรามีปัญหาเยอะกันอยู่แล้ว อยากฝากบอกสื่อทุกคน ว่า วันนี้ทุกคนได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีการรายงานความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ รวมทั้งการทำงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีเอกสารชัดเจนว่าเราทำอะไร ไปถึงไหน อย่างไรบ้าง ซึ่งตนได้ให้นโยบายใหม่ว่า วันนี้เรากำลังเข้าระบะเดินหน้าไปสู่การมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งตามโรดแมป เพราะฉะนั้นต้องให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างความเข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมาประธานของแตละคณะได้ทำอยู่แล้ว แต่ความขัดแย้งมันมีมาก จนบางครั้งมันไม่เข้าใจกัน

“ประมาณกลางเดือนเมษายนนี้ ระหว่างวันที่ 20 - 22 เม.ย. จะหาบุคคลภายนอกมาอธิบายให้ฟังว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญในประเทศของเขาควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งเขามีประสบการณ์มาแล้ว เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส ที่มีปัญหาคล้ายๆ เราในอดีต แล้ววันนี้เขามีรัฐธรรมนูญของเขาว่าเขามาอย่างไร เขาแก้ปัญหาอย่างไรและมีการรัฐประหารเหมือนกันกับเรา ก็จะถามเขาแค่นั้นเอง และให้เขาอธิบายว่าประเทศเขามีรัฐธรรมนูญอย่างนี้มีความเป็นมาอย่างไร แล้วมาสร้างความเข้าใจในประเทศของเราว่าวันนี้สิ่งที่พวกเราเห็นตรงกัน คือ จะต้องปฏิรูปบ้านเมืองให้ได้ สิ่งที่ต้องทำวันนี้ เนื่องจากเรามีปัญหาจำนวนมากคิดเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งวันนี้รัฐบาล และ คสช. ทำมาได้ไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากปัญหามันเยอะมาก จึงต้องสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนให้ได้ เพื่อที่จะเดินหน้าประเทศกันต่อไป เราจะแก้ปัญหาประเทศที่มีความขัดแย้งได้อย่างไร ก็เลยเห็นชอบร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญเขียนมาอย่างไรก็ตามถ้าประชาชนไม่ยอมรับ มันก็ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องศึกษาและดูจากภายนอกประเทศบ้าง จากนั้นก็จะไปสู่การวิจัย ซึ่งผมมีขั้นตอนอยู่แล้ว และวันนี้ก็ได้ประชุมร่วมกัน ก็ขอให้รอฟังแล้วกัน อย่าเอาเรื่องพวกนี้ไปเป็นประเด็นความขัดแย้งนักเลย อย่างไรเลือกตั้งก็ต้องเลือกตั้งอยู่แล้ว อย่างไรก็หนีเลือกตั้งไม่พ้น เพราะมีโรดแมปของมันอยู่ แต่ถ้ามันมีปัญหามาก มันก็เลือกไม่ได้ ทำไม่ได้ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน ก็ขอเอาแค่นี้แล้วกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เราไปดูปัญหาบ้านเมืองว่ามีความเดือดร้อนตรงไหน แล้วเราทำอะไรกันอยู่ ช่วยกันไปอธิบายกับคนเหล่านั้นได้หรือไม่ว่าทุกคนทำงานหนักทั้งกฎหมาย การเตรียมการปฏิรูป การบริหารราชการแผ่นดิน ปัญหามันเยอะเกินไปแล้ว แล้วเพิ่มความขัดแย้งที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเข้าไปอีก ยอมรับว่ามันหนัก ต่างประเทศเองก็มีทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจประเทศไทย รอฟังข่าวดีในวันที่ 8 เม.ย. ว่า รัสเซียจะมีความร่วมมืออะไรกับไทยเพราะนายกรัฐมนตรีรัสเซียจะเดินทางมาเยือนอย่างเป็นทางการ เราเปิดประเทศคบกับทุกประเทศไม่ได้เลือกข้างใดข้างหนึ่ง เราเป็นประเทศที่มีความเป็นกลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายกรัฐมนตรีพูดจบตรงนี้ได้เอ่ยปากขอร้องกับสื่อมวลชนว่า “ขอพูดแค่นี้อย่าถามอะไรกันอีกเลย ขอเถอะเหนื่อยแล้ว” พร้อมกล่าวขอบคุณ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีและตัวแทนแม่น้ำ 5 สาย ได้เข้าไปพูดคุยเป็นการส่วนตัวในห้องรับรองสโมสรกองทัพบกเป็นเวลา 30 นาที

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวภายหลังการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ช่วยชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญกับต่างประเทศ ว่า นายกรัฐมนตรีไม่ถึงขนาดกับกังวลว่าร่างรัฐธรรมนูญจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เพียงแต่ปรารภว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาลำดับแรกต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนไทย ขณะเดียวกัน ต้องคำนึงถึงโลกาภิวัตน์ ได้รับการยอมรับในสายตาของต่างประเทศด้วย ต้องผสมผสานกัน เพราะบางทีเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ แต่อาจจะใช้แก้ปัญหาคนไทยไม่ได้ หรือจะเอาแก้ปัญหาคนไทยได้โดยที่ต่างประเทศไม่ยอมรับ จะไปได้ลำบาก ซึ่งจะหารือกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไปว่าจะทำอย่างไร

ส่วนที่เชิญต่างประเทศมาไม่ใช่เป็นการมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพราะบางประเทศมีประสบการณ์บางอย่างเหมือนกับเรา เคยเกิดวิกฤติการณ์ ปัญหาความขัดแย้ง และผ่านพ้นมาได้จนกระทั่งทำรัฐธรรมนูญได้ น่าจะมาเล่าสู่กันฟัง โดยนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ความจริงวิธีการนี้น่าจะทำก่อนหน้านี้นานแล้ว เพียงแต่ตอนนั้นไม่คิดว่าจะเกิดปัญหายุ่งยากอะไร จนมาถึงระยะนี้เริ่มเห็นเค้าแล้วว่าบางทีเราอาจจะต้องเรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เยอรมัน ฝรั่งเศส ก็เคยเจอปัญหาอะไรและแก้ปัญหาอย่างไร แต่ไม่ใช่การเอารัฐธรรมนูญไทยไปตีแผ่ให้เขาวิจารณ์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่ได้มองประเทศใดเป็นพิเศษ เพียงแต่เป็นเรื่องที่จะทำเร่งด่วน เพราะข้อเสนอแนะอาจจะเป็นประโยชน์ที่เรานำมาใช้มาได้ หากช้าจะไม่ได้ประโยชน์ เนื่องจากหลังจากวันที่ 26 เม.ย. นี้ ทาง กมธ. ยกร่างฯ จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้หน่วยงานต่างๆ วิจารณ์ และให้ความเห็นแล้ว โดยมีเวลา 30 วัน เมื่อเวลาบีบรัดเข้ามา การจะเชิญมากมายหลายประเทศคงไม่ได้ อาจต้องเอาความสะดวกเข้าว่า ทั้งนี้ ในที่ประชุมแม่น้ำสายครั้งนี้ได้มีการให้กำลังใจ กมธ. ยกร่างฯ ในการทำหน้าที่ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น