xs
xsm
sm
md
lg

“พนัส” เปรียบเลือกตั้ง ส.ว.จังหวัดผ่านคณะกรรมการสรรหา ประชาชนไม่ได้เลือกเองแท้จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พนัส ทัศนียานนท์ (ภาพจากแฟ้ม)
ลูกพรรคเพื่อไทยประสานเสียงวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ “พนัส” ชี้เพิ่มเลือกตั้ง ส.ว. จังหวัดละคนผ่านการสรรหามารอบหนึ่ง ประชาชนไม่ได้เลือกเองอย่างแท้จริง ด้าน “อำนวย” หนุนไม่ต้องทำประชามติก็ได้ แต่เนื้อหาต้องยึดโยงประชาชน ไม่มีอคติในการร่างหรือแก้ไข

วันนี้ (4 เม.ย.) นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว. จ.ตาก และแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการสรรหา และการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน แต่การเลือกตั้งผู้สมัครต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติก่อนว่า ตอนแรก กมธ. ยกร่างฯ บอกให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง ส.ว. ทางอ้อม แต่ล่าสุด ปรับรูปแบบเพิ่มเติมให้ประชาชนมีส่วนเลือกตั้ง ส.ว. จังหวัดละ 1 คน แต่ต้องผ่านคณะกรรมการสรรหาก่อน ประเด็นคือคณะกรรมการสรรหาเป็นใคร การนำรายชื่อผู้สมัครไปให้ประชาชนเลือก ถือเป็นการบังคับให้ประชาชนเลือกตามที่เขาเลือกมาแล้ว

วิธีการนี้ถือเป็นแนวทางหนึ่ง ที่ไม่ให้ประชาชนเลือกตั้ง ส.ว. โดยตรง เพราะผู้ที่เลือกจริงๆ คือ คณะกรรมการสรรหา แล้วประชาชนเป็นเพียงผู้รับรอง เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะพวกเขาคิดว่าประชาชนโดยเฉพาะภาคเหนือและอีสานเลือกแต่คนไม่ดีเข้ามาทำหน้าที่ ไม่ใช่คนดีตามมาตรฐานของพวกเขา วิธีการดังกล่าวก็ไม่ต่างไปจากเดิม ส่วนประเด็นนายกฯคนนอกต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. 2 ใน 3 ของ ส.ส. ทั้งสภานั้น นายพนัส กล่าวว่า ตามหลักประชาธิปไตยแล้วผู้ที่เป็นนายกฯควรมาจากการเลือกของประชาชน การเปิดโอกาสให้คนนอกสามารถเป็นนายกฯได้ก็เหมือนย้อนกลับไปสมัยที่ประเทศไทยยังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส. ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า การทำประชามติอาจจะสร้างความขัดแย้ง และหากไม่ผ่านจะเสียเงินถึง 3,000 กว่าล้านบาท มองว่าจะไม่ทำประชามติก็ได้ แต่ต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยยึดโยงกับประชาชน ขณะเดียวกัน ขอฝากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและไม่มีอคติในการร่าง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ อยากให้พิจารณาที่มาของ ส.ส. ควรกลับมาใช้แบบเขตเล็ก ส.ส. 1 คน ต่อประชาชน 190,000 คน ส่วน ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และต้องสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง โดยพรรคต้องส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งทุกครั้ง หากไม่ส่งต้องยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 10 ปี ทั้งนี้ ผู้ลงสมัครเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมืองด้วย

ถ้าทำตามที่เสนอจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยไม่ต้องทำประชามติ ขอให้ นายวิษณุ และกรรมาธิการ แก้ให้เป็นประชาธิปไตยด้วย ทางเราจะยอมรับได้ ซึ่งขณะนี้สามารถปรับแก้รัฐธรรมนูญได้อยู่แล้วทั้งที่มา ส.ส. ส.ว. องค์กรอิสระ ที่ผ่านมาเกิดวิกฤตจากองค์กรอิสระ ทั้ง กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. โดยเฉพาะ กกต. ที่ไม่จัดเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงพรรคการเมืองบางพรรคที่ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งวันที่ 19 ก.ย. 49 และ 2 ก.พ. 57 หากจะเดินประท้วงก็ทำไป แต่จะต้องลงเลือกตั้ง หากท้ายที่สุดกรรมาธิการ ไม่ปรับแก้อะไรตามเสียงของประชาชน ทุกอย่างจะเดินไปไม่ได้ เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้น ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด การปฏิรูปทั้งหมดจะเสียของ


กำลังโหลดความคิดเห็น