ผ่าประเด็นร้อน
เริ่มสำแดงเดชออกมาให้เห็นบ้างแล้วสำหรับมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งถือว่าเป็น “มาตราพิเศษ” ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบครอบจักรวาลกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังจะเห็นได้จากการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวในการแก้ปัญหาเข้าไปผ่าตัดกรมการบินพลเรือน จากกรณีองค์การการบินระหว่างประเทศได้ลดมาตรฐานการบินของไทย จนสร้างผลกระทบทางการบินในไทย อันจะกระทบกระเทือนในด้านธุรกิจการบิน การท่องเที่ยวมูลค่ามหาศาล หรือก่อนหน้านี้ก็ไปแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่หมักหมมมานาน ให้สามารถแก้ปัญหาได้ฉับไวกว่าเดิม
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เปิดเผยและชี้แจงเหตุผลให้ทราบไปแล้ว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องจับตากันต่อไปก็คือ จากคำพูดของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลและยกร่างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เพิ่งประกาศออกมารองรับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แทนกฎอัยการศึกที่กล่าวไว้ว่า “ในอนาคตอาจจะได้เห็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในเรื่องการปฏิรูป และในเรื่องนิรโทษกรรม”
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากการใช้อำนาจเพื่อแก้ปัญหาในกรมการบินพลเรือน และในเรื่องการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ที่ต้องใช้ความรวดเร็วเด็ดขาดให้ทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดความเสียหายลุกลามตามมา ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เปิดเผยให้ทราบไปแล้ว มันก็ยิ่งทำให้เห็นความเป็นไปได้ตามที่ วิษณุ เครืองาม ในฐานะมือกฎหมายได้แย้มออกมาให้เห็นภาพต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆของคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฉบับที่สาม ที่ออกมาประกอบตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เมื่อค่ำวันที่ 1 เมษายน มีทั้งสิ้น 14 ข้อ หลีกๆก็ให้อำนาจ “เจ้าพนักงาน” ซึ่งก็คือฝ่าย “ทหาร” มีอำนาจในการจับกุม ควบคุมตัว ตรวจค้น การห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน อำนาจในการควบคุมสื่อในการเสนอข่าวที่อ้างว่าสร้างความแตกแยกทำลายความมั่นคง และมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน ทั้งจำและปรับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีอยู่แล้วในกฎอัยการศึก แต่เมื่อออกมาเป็นคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มันก็ทำให้มองเห็นว่านี่คืออำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ชัดเจนขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาก็ต้องถือว่าในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติย่อมมีอำนาจล้นฟ้าอยู่ในตัวอยู่แล้ว
เพียงแต่ว่าสังคมทั้งในและต่างประเทศมีความเคยชินกับการใช้อำนาจผ่านทางการใช้อำนาจภายใต้กฎอัยการศึกในภาพรวมๆมากกว่า และที่สำคัญที่ผ่านมา มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ก็มีการบังคับใช้มาพักใหญ่แล้ว นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นต้นมา ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยืนยันก่อนหน้านี้ว่าได้ใช้มานานแล้ว และยืนยันให้เห็นด้วยการใช้ในการแก้ปัญหาเร่งด่วนในกรมการบินพลเรือน และการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ที่เรากำลังถูกมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาขีดเส้นให้แก้ไข ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาในเรื่องสินค้าส่งออกในอนาคต
แน่นอนว่านี่คือการแก้ปัญหาในด้านบวกในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วทันท่วงที และเป็นการแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์อย่างที่อ้างเอาไว้ก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันเมื่อได้เห็นปัญหาหลายอย่างที่หมักหมม แก้ไขยาก อย่างเช่น การปฏิรูประบบราชการ ที่มีแต่ความล่าช้า ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามมาอีกหลายกรณี ตามที่รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ได้แย้มเอาไว้ว่าในอนาคตจะมีเรื่องแก้ปัญหาด้านการปฏิรูป
สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างยิ่งอีกเรื่องหนึ่งที่จะตามมาก็คือ การแย้มว่าจะใช้อำนาจดังกล่าวออกมาผลักดันใช้ในเรื่องการนิรโทษกรรม เพราะมีการเกิดขึ้นแบบนี้ขึ้นในอนาคตจริงๆ จะมีเนื้อหาครอบคลุมไปถึงไหน จะมีการ “หมกเม็ด” กับแบบ “สุดซอย” ซ่อนเร้นอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือไม่ เพราะหากใช้อำนาจพิเศษแบบนี้ขึ้นมาจริง มันก็น่าหวาดผวา เพราะมันทำได้รวดเร็วจนบางครั้งมันรวดเร็วจนไล่ไม่ทัน และทุกครั้งที่มีความเคลื่อนไหวแบบนี้ออกมามันก็เกิดแรงกระเพื่อมเป็นเงื่อนไขให้วุ่นวายทุกครั้งเหมือนกัน!!