“พิเชษฐ” เตือนโลกไม่ยอมรับ ม.44 ห่วงจะโดนแบนเหมือนพม่า อ้างระบอบประชาธิปไตยต้องเคารพการเลือกตั้งแม้จะระยำตำบอนแค่ไหนก็ตาม อัดยิ่งกว่ากลัดกระดุมผิดเม็ด แต่กำลังเอากระดุมไปกลัดซิปกางเกง ด้าน “วิรัตน์” แนะใช้ ม.44 เพื่อประโยชน์ประชาชน นิรโทษกรรมไม่ควรทำเพื่อ “นายใหญ่-แกนนำ”
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าจะใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ ใช้เพียงครึ่งเดียว ไม่รุนแรงนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่คุณใช้อำนาจแบบไหน ปฏิบัติอย่างไร แต่อยู่ที่ข้อความ เนื้อหา ที่พูดออกไปได้เผยแพร่ไปแล้วทั่วสังคมโลกว่าเราเป็นเผด็จการ คือกำลังจะใช้มาตรา 44 มีอำนาจอยู่เหนือทั้งรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และเมื่อประชาคมโลกไม่ยอมรับเราจะถูกกีดกันด้านการท่องเที่ยว ปิดประตูตายการค้า ทั้งโลกเก่าและโลกใหม่ การส่งออกของเราจึงยับเยินขนาดนี้ และที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าคนไทยเดือดร้อนตรงไหน ตนอยากจะบอกว่าที่เขาเดือดร้อนตรงที่เขาเป็นเจ้าของประเทศเหมือนกันไง
“ในสังคมประชาธิปไตยโลก เขามองว่าไม่มีประเทศใดสามารถแก้ปัญหาการรัฐประหารได้ และก็ไม่มีทางเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อปกป้องการฉีกรัฐธรรมนูญรอบต่อไปได้เช่นกัน แนวทางเดียวที่ประชาคมโลกจะใช้ คือ ประชาคมโลกที่นำโดยอียู และสหรัฐอเมริกาจะทำทุกวิถีทางเพื่อกดดันประเทศที่มีการปฏิวัติรัฐประหารจนอยู่ไม่ได้ ยับเยินเหมือนที่เคยทำกับพม่ามาแล้ว”
ส่วนที่ น.ส.ซาแมนตา ฮอว์ลี ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอบีซี ออสเตรเลียประจำประเทศไทย ถาม พล.อ.ประยุทธ์ว่าสังคมโลกกำลังห่วงใยการร่างรัฐธรรมนูญของไทยไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น นายพิเชษฐกล่าวว่า ที่นักข่าวหญิงถามแบบนั้นก็เพราะเขามาจากข้างนอกจึงไม่กลัวอำนาจครอบงำ และถามเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์รู้ตัวเสียบ้างว่าสังคมโลกเขามองรัฐบาลไทยขณะนี้อย่างไร ตนพูดเพื่อประโยชน์กับประเทศ และจะวางมือทางการเมืองแล้ว ไม่กลัวหน้าไหนทั้งสิ้น การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ต้องเคารพการเลือกตั้ง ไม่ว่าการเลือกตั้งจะระยำตำบอนแค่ไหน แต่ก็ต้องแก้ปัญหาโดยตัวมันเองด้วยการเลือกตั้ง ไม่ใช่มาเขียนรัฐธรรมนูญตัดระบบเลือกตั้งออกไป ที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำท่าติดกระดุมผิดเม็ดให้นักข่าวหญิงดู ตนก็อยากจะบอกว่าภาพของนายกฯ ไม่ใช่แค่กำลังติดกระดุมผิดเม็ด แต่หนักกว่าคือกำลังเอากระดุมไปกลัดซิปกางเกง
ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ว่าส่วนตัวเชื่อว่ากระบวนการก่อการร้ายในบ้านเมืองยังมีอยู่ สังเกตได้จากเหตุการณ์ระเบิดศาลและที่บริเวณปทุมวันที่ผ่านมาเมื่อต้นปี เดิมทีสังคมก็เรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในสายตาของต่างชาติที่มองว่ากฎอัยการศึกนั้นอันตราย เพราะฉะนั้นเมื่อทูลเกล้าฯ ถวายยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วรัฐจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหารและตำรวจที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน ดังนั้น มาตรา 44 ที่มีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จึงถูกหยิบยกมาใช้
“จากนี้ไปการใช้มาตรา 44 ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากน้อยเพียงใด เช่น กรณีการนิรโทษกรรมที่ คสช.สามารถประชุมปรึกษากันแล้วออกประกาศได้เลย ซึ่งการนิรโทษกรรมก็ต้องกำหนดเวลาว่าจะนิรโทษกรรมให้ในช่วงในระยะเวลาใดบ้าง และควรนิรโทษให้แค่ผู้ที่มาชุมนุมเท่านั้น ไม่ควรทำเรื่องละเอียดอ่อน เช่นการนิรโทษกรรมพวกนายใหญ่หรือแกนนำ มิเช่นนั้นจะมีปัญหาบานปลายตามมาแน่นอน ว่า คสช.จะใช้อำนาจและกำหนดการใช้มาตรา 44 ให้มีประโยชน์มากกว่ากฎอัยการศึก เพราะประชาชนเขาดูออก ดังนั้น คสช.ต้องตระหนักว่าไม่สามารถนำมาตรา 44 มาใช้เพื่อปิดบังกับประชาชนได้ และที่สำคัญไม่ควรนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง"