xs
xsm
sm
md
lg

สปช.เสนอ 6 แนวทางปฏิรูปภาษี ยกเลิกอาการแสตมป์ “สรรพากร-ศุลกากร” ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ สปช. เผย 6 ปัญหาระบบภาษี พร้อมเสนอ 6 กรอบแนวทางปฏิรูป แยกภาษีระดับชาติและท้องถิ่นให้ชัดเจน เร่งเก็บให้ครบฐาน ขยายช่วงเงินได้ อัตราภาษีเงินได้ให้กว้างและสูง แนะยกเลิกอากรแสตมป์ พร้อมตั้ง กก. ภาษีระดับชาติ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมเพิ่มขีดการแข่งขัน ขณะที่สมาชิกแนะ จนท. สรรพากร - ศุลกากร ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ด้วย

วันนี้ (30 มี.ค.) ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง เรื่อง การปฏิรูประบบและโครงสร้างภาษี และการปฏิรูปการเงินฐานรากและสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดย นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการ รายงานว่า ระบบภาษีอากรของไทยยังมีความไม่ครบถ้วน และไม่เหมาะสมหลายประการ จึงต้องมีการปฏิรูประบบภาษีให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมไทยและของโลก ที่ผ่านมาภาษีอากรของไทยได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพัฒนาและปรับโครงสร้าง โดยทางภาษีเงินได้เราได้ปรับลดอัตราภาษีแบบอัตราก้าวหน้าซึ่งเดิมเคยมีอัตราสูงสุดที่ 65 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือ 37 เปอร์เซ็นต์และเมื่อเร็วๆนี้ได้ลดลงอีกเหลืออัตราสูงสุด 35 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภาษีศุลกากรก็ได้ลดอัตราภาษีลงอย่างมากจนรายได้จากภาษีศุลกากรซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้สูงสุดใน 3 กรมภาษีหลัก ขณะนี้กรมศุลกากรเป็นกรมที่จัดเก็บรายได้น้อยที่สุด ส่วนภาษีการค้าได้ยกเลิกภาษีการค้า และได้นำเอาภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทนภาษีการค้า

นายสมชัย กล่าวต่อว่า ระบบภาษีอากรของไทยมีปัญหาสำคัญ 4 ประการ คือ 1. ไม่ได้มีการแบ่งแยกชัดเจนในกฎหมายระหว่างภาษีของรัฐบาลระดับชาติกับภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2. ระบบภาษีของไทยยังมีภาษีไม่ครบฐานมีเพียงฐานการนำเข้าและส่งออก คือ ภาษีศุลกากรและฐานจากการผลิต และการบริโภคในประเทศ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีสรรพสามิต แต่ไม่มีภาษีจากฐานทรัพย์สินที่เป็นจริง และ ภาษีจากฐานมรดก ซึ่งรัฐบาลกำลังจะนำเสนอภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อใช้แทนภาษีบำรุงท้องที่ละภาษีโรงเรือน และภาษีที่ดิน ส่วนภาษีมรดกขณะนี้รัฐบาลได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว 3. ภาษีเงินได้ของไทยมีโครงสร้างอัตราที่ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับระดับขั้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ 4. ภาษีบางตัวล้าสมัยและเป็นภาษีก่อความรำคาญ 5. ระบบการบริหารจัดเก็บภาษียังไม่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพได้ และ 6. การกำหนดนโยบายภาษีของไทย ขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ทางคณะกรรมาธิการขอเสนอกรอบแนวคิดในการปฏิรูป 6 ประการ คือ 1.ให้แยกให้ชัดไว้ในกฎหมายว่าภาษีของประเทศไทยมี 2 ระดับ คือ ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น และทำการจัดแบ่งให้ภาษีก่อเกิดรายได้ต่อท้องถิ่นได้มากพอหรือเกือบพอกับการใช้จ่ายของท้องถิ่น 2. ให้เร่งทำภาษีให้ครบฐานโดยดำเนินการออกภาษีมรดก ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างภายในอายุของสนช. 3. ให้ปรับช่วงเงินได้ของอัตราภาษีเงินได้ให้กว้างและสูง เพื่อให้อัตราภาษีสูงสุดใช้กับเงินได้สุทธิที่สูงขึ้นกว่าเดิมอย่างสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของไทย 4 .ให้ดำเนินการยกเลิกอากรแสตมป์โดยเร็ว 5.ให้ดำเนินงานปนรับปรุงการบริหารจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุมถึงผู้ที่ต้องเสียภาษีให้กว้างขวางขึ้น และ6.ให้จัดตั้งคณะกรรมาการภาษีอากรระดับชาติ โดยมีองค์ประกอบทั้งภาครัฐเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาชน

นายกิตติพงศ์ อุรุพีพัฒนพงศ์ โฆษกกรรมาธิการ กล่าวเสริมว่า การเก็บภาษีเป็นเรื่องที่สำคัญมากและประเทศไทยไม่ได้มีการปรับโครงสร้างมาเป็นเวลานาน โดยเรื่องการปฏิรูปภาษีนั้นขนาด รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังถอยเมื่อเจอประชาชนต้านภาษีที่ดิน แล้วนับประสาอะไรกับรัฐบาลเลือกตั้ง จึงไม่มีทางจะปฏิรูปภาษีได้ในรัฐบาลเลือกตั้ง ซึ่งความจำเป็นในการปฏิรูปภาษีนั้น เพราะมีแหล่งรายได้จากภาษีต่ำกว่าเงินกู้ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยใช้จ่ายเงินในอนาคตไปเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่สามารถปฏิรูปภาษีได้ไทยก็ไม่ต่างกับบางประเทศในยุโรปที่ล้มละลาย เพราะนโยบายประชานิยม ซึ่งถ้าปฏิรูปคราวนี้ไม่ได้ ก็คงปฏิรูปภาษีไม่ได้เพราะขนาดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีอำนาจผูกขาดก็ไม่ยอมออกกฎหมายปฏิรูปภาษีเพราะกระทบผลประโยชน์ส่วนตนหลายคนที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก

“การที่มีภาษีเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่ใช่การดึงคนรวยให้จนลง แต่ให้คนจนมีฐานะเพิ่มขึ้น ซึ่งความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยส่วนหนึ่งที่มันถ่างเยอะๆ คือ ระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งการมีภาษีมรดกก็ดี การมีภาษีทรัพย์สินก็ดี เป็นเรื่องที่เราต้องสนับสนุนให้รัฐบาลต้องทำ” นายกิตติพงศ์ กล่าว

นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า การเก็บภาษีท้องถิ่นกับภาษีส่วนกลาง ถือเป็นการพลิกโฉมประเทศไทยอย่างนัยสำคัญ ถ้ามีการทำให้กฎหมายภาษีทรัพย์สินผ่าน การเก็บภาษีท้องถิ่นต่างๆ ก็จะทำให้รัฐบาลไม่ต้องเอางบจากส่วนกลางไปช่วย โดยจะใช้งบส่วนกลางในการลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาประเทศได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย การปฏิรูปภาษีที่ดีมีเรื่องหลักๆ ที่อเมริกาใช้ในการประเมิน คือ ภาษีต้องมีความเพียงพอต่อรายได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีในเรื่องงบประมาณ 2 ขา ต่อไปนี้รัฐบาลจะใช้จ่ายและหาเงินมาอย่างไรก็ต้องบอกสภา กฎหมายต้องไม่ยุ่งยากซับซ้อน ภาษีต้องมีความเป็นธรรมและความมีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่จัดเก็บภาษี โดยประเด็นปัญหาภาษีของไทยที่เผชิญอยู่ คือผู้เสียภาษีอยู่ในอัตราที่น้อยมาก ซึ่งต้องมีการเพิ่มฐานภาษีขึ้นมาการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่ไม่เป็นความจริง และการขาดประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี โดยจะต้องอาจจะเพิ่มภาษีใหม่อื่นๆ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีเพื่อสุขภาพ ภาษีกำไร เป็นต้น

นายกิตติพงศ์ กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันหากประชาชนมีข้อพิพาทด้านภาษีอากรต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ประกอบด้วยคนของภาครัฐเกือบทั้งหมดซึ่งจะมีการเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางที่พิจารณาอุทธรณ์โดยมีคนภายนอกทำการวินิจฉัย และเปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีสามารถเลือกไปศาลก็ได้ โดยไม่ต้องผ่านการอุทธรณ์ ซึ่งโดยสรุปแล้ว วัตถุประสงค์ที่เสนอกรอบฯก็คือ การสร้างความเป็นธรรม เป็นกลาง และลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถของคนไทยให้แข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มรายได้ในส่วนต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตาม สมาชิก สปช. ได้อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับการปฏิรูปโครงสร้างภาษี แต่ควรที่จะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเต็มใจเสียภาษี ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ขณะที่สมาชิกบางส่วน เสนอให้มีการปฏิรูปหน่วยงานทีหน้าที่จัดเก็บภาษี คือ กรมสรรพากร และศุลกากร เพราะที่ผ่านมามีข่าวว่าเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมีการทุจริตเรื่องการจัดเก็บภาษีจนถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบเรื่องความร่ำรวยผิดปกติ จึงอยากเสนอให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรและศุลกากรต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ด้วย และมีมติรับทราบรายงานและข้อเสนอแนะของสมาชิก โดยทางคณะกรรมาธิการจะนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น