xs
xsm
sm
md
lg

ชงสปช.ปฏิรูประบบภาษี แยกระดับชาติ-ท้องถิ่นให้ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)เมื่อวานนี้ (30มี.ค.) โดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาในส่วนของ คณะกรรมาธิการการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง เรื่องการปฏิรูประบบและโครงสร้างภาษี และการปฏิรูปการเงินฐานรากและสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว
นายสมชัย ฤชุพันธ์ ประธานกมธ.รายงานว่า ระบบภาษีอากรของไทยยังมีความไม่ครบถ้วน และไม่เหมาะสมหลายประการ จึงต้องมีการปฏิรูประบบภาษี ให้สอดคล้องกับสภาพศก. สังคมไทย และของโลก ที่ผ่านมาภาษีอากรของไทยได้รับการเปลี่ยนแปลง และปรับโครงสร้าง โดยทางภาษีเงินได้ เราได้ปรับลดอัตราภาษีแบบอัตราก้าวหน้า ซึ่งเดิมเคยมีอัตราสูงสุดที่ 65 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือ 37 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อเร็วๆนี้ ได้ลดลงอีกเหลืออัตราสูงสุด 35 เปอร์เซ็นต์
ส่วนภาษีศุลกากร ก็ได้ลดอัตราภาษีลงอย่างมาก จนรายได้จากภาษีศุลกากรซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้สูงสุดใน 3 กรมภาษีหลัก ขณะนี้กรมศุลกากร เป็นกรมที่จัดเก็บรายได้น้อยที่สุด ส่วนภาษีการค้าได้ยกเลิกภาษีการค้า และได้นำเอาภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทนภาษีการค้า
ทั้งนี้ ระบบภาษีอากรของไทย มีปัญหาสำคัญๆ 6 ประการ ดังนี้
1. ไม่ได้มีการแบ่งแยกชัดเจนในกฎหมายระหว่างภาษีของรัฐบาลระดับชาติกับภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2. ระบบภาษีของไทยยังมีภาษีไม่ครบฐานมีเพียงฐานการนำเข้าและส่งออก คือ ภาษีศุลกากรและฐานจากการผลิต และการบริโภคในประเทศ คือ ภาษีVAT และภาษีสรรพสามิต แต่ไม่มีภาษีจากฐานทรัพย์สินที่เป็นจริง และภาษีจากฐานมรดก ซึ่งรัฐบาลกำลังจะนำเสนอภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อใช้แทนภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือน และภาษีที่ดิน ส่วนภาษีมรดก ขณะนี้รัฐบาลได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว 3. ภาษีเงินได้ของไทยมีโครงสร้างอัตราที่ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับระดับขั้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ 4. ภาษีบางตัวล้าสมัยและเป็นภาษีก่อความรำคาญ 5. ระบบการบริหารจัดเก็บภาษียังไม่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพได้ 6. การกำหนดนโยบายภาษีของไทย ขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ทางกมธ. ขอเสนอกรอบแนวคิดในการปฏิรูป 6 ประการ คือ 1. ให้แยกให้ชัดไว้ในกฎหมายว่าภาษีของประเทศไทยมี 2 ระดับ คือ ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น และทำการจัดแบ่งให้ภาษีก่อเกิดรายได้ต่อท้องถิ่นได้มากพอ หรือเกือบพอกับการใช้จ่ายของท้องถิ่น 2. ให้เร่งทำภาษีให้ครบฐานโดยดำเนินการออกภาษีมรดก ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างภายในอายุของ สนช. 3. ให้ปรับช่วงเงินได้ของอัตราภาษีเงินได้ให้กว้างและสูง เพื่อให้อัตราภาษีสูงสุดใช้กับเงินได้สุทธิที่สูงขึ้นกว่าเดิมอย่างสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของไทย 4 .ให้ดำเนินการยกเลิกอากรแสตมป์โดยเร็ว 5. ให้ดำเนินงานปนรับปรุงการบริหารจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุมถึงผู้ที่ต้องเสียภาษีให้กว้างขวางขึ้น และ 6.ให้จัดตั้งคณะกรรมาการภาษีอากรระดับชาติ โดยมีองค์ประกอบทั้งภาครัฐเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาชน
นายกิตติพงศ์ อุรุพีพัฒนพงศ์ โฆษกกรรมาธิการฯ กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยไม่ได้มีการปรับโครงสร้างการเก็บภาษี มาเป็นเวลานาน โดยเรื่องการปฏิรูปภาษีนั้นขนาด รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังถอย เมื่อเจอประชาชนต้านภาษีที่ดิน แล้วนับประสาอะไรกับรัฐบาลเลือกตั้ง จึงไม่มีทางจะปฏิรูปภาษีได้ ในรัฐบาลเลือกตั้ง ซึ่งความจำเป็นในการปฏิรูปภาษีนั้น เพราะมีแหล่งรายได้จากภาษีต่ำกว่าเงินกู้ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยใช้จ่ายเงินในอนาคตไปเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่สามารถปฏิรูปภาษีได้ ไทยก็ไม่ต่างกับบางประเทศในยุโรปที่ล้มละลายเพราะนโยบายประชานิยม ซึ่งถ้าปฏิรูปคราวนี้ไม่ได้ ก็คงปฏิรูปภาษีไม่ได้ เพราะขนาดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีอำนาจผูกขาด ก็ไม่ยอมออกกฎหมายปฏิรูปภาษี เพราะกระทบผลประโยชน์ส่วนตนหลายคนที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก
"การที่มีภาษีเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่ใช่การดึงคนรวยให้จนลง แต่ให้คนจนมีฐานะเพิ่มขึ้น ซึ่งความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยส่วนหนึ่งที่มันถ่างเยอะๆ คือระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งการมีภาษีมรดกก็ดี การมีภาษีทรัพย์สินก็ดี เป็นเรื่องที่เราต้องสนับสนุนให้รัฐบาลต้องทำ " นายกิตติพงศ์ กล่าว
นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า การเก็บภาษีท้องถิ่นกับภาษีส่วนกลาง ถือเป็นการพลิกโฉมประเทศไทยอย่างนัยยะสำคัญ ถ้ามีการทำให้กฎหมายภาษีทรัพย์สินผ่านการเก็บภาษีท้องถิ่นต่างๆ ก็จะทำให้รัฐบาลไม่ต้องเอางบจากส่วนกลางไปช่วย โดยจะใช้งบส่วนกลางในการลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาประเทศได้
การปฏิรูปภาษีที่ดี มีเรื่องหลักๆ ที่อเมริกาใช้ในการประเมิน คือภาษีต้องมีความเพียงพอต่อรายได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีในเรื่องงบประมาณ 2 ขาต่อไปนี้รัฐบาลจะใช้จ่ายและหาเงินมาอย่างไรก็ต้องบอกสภา กฎหมายต้องไม่ยุ่งยากซับซ้อน ภาษีต้องมีความเป็นธรรม และความมีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่จัดเก็บภาษี โดยประเด็นปัญหาภาษีของไทยที่เผชิญอยู่ คือ ผู้เสียภาษีอยู่ในอัตราที่น้อยมาก ซึ่งต้องมีการเพิ่มฐานภาษีขึ้นมาการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่ไม่เป็นความจริง และการขาดประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี โดยจะต้องอาจจะเพิ่มภาษีใหม่อื่นๆ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีเพื่อสุขภาพ ภาษีกำไร เป็นต้น
อย่างไรก็ตามสมาชิก สปช.ได้อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับการปฏิรูปโครงสร้างภาษี แต่ควรที่จะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเต็มใจเสียภาษี ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ขณะที่สมาชิกบางส่วน เสนอให้มีการปฏิรูปหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษี คือ กรมสรรพากร และศุลกากร เพราะที่ผ่านมามีข่าวว่าเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมีการทุจริต เรื่องการจัดเก็บภาษีจนถูกคณะกรรมการป.ป.ช. ตรวจสอบเรื่องความร่ำรวยผิดปกติ จึงอยากเสนอให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร และศุลกากร ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.ด้วย และมีมติรับทราบรายงานและข้อเสนอแนะของสมาชิก โดยทางคณะกรรมาธิการฯจะนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น