xs
xsm
sm
md
lg

คลังเตรียมขยับฐานราคาบ้าน-ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คาดโกยรายได้ปีละ 2 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คลังเตรียมขยับฐานราคาบ้าน ยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็น 1.5 ล้านบาท ส่วนราคาบ้าน 4-5 ล้านบาท จ่ายครึ่งหนึ่งของอัตราจัดเก็บจริง คาดว่าสร้างรายได้เข้ารัฐประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี

นายสมชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เชิญนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงแผนปฏิรูปภาษีต่อที่ประชุม โดยเบื้องต้นกระทรวงการคลังเมื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากคณะกรรมการปฏิรูปภาษี โดยมีภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ร่วมเป็นประธาน จึงเห็นชอบร่วมกันในการกำหนดอัตราจัดเก็บจริง คือ ภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรจัดเก็บร้อยละ 0.05 จากเพดานกำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.25, ภาษีสำหรับที่อยู่อาศัย อัตราจัดเก็บจริงร้อยละ 0.1 จากเพดานจัดเก็บร้อยละ 0.5 ที่ดินเพื่อการพาณิชย์จัดเก็บร้อยละ 0.5 เพดานกำหนดร้อยละ 2 และที่ดินรกร้างว่างเปล่า 0.5 จากเพดานกำหนดไว้ร้อยละ 2

และเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้มีรายได้น้อย จึงมีแนวคิดยกเว้นการจัดเก็บจริง สำหรับที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี รวมทั้งที่ดินของวัด มูลนิธิ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และที่ดินของประชาชนที่ติดภาระจำยอม เช่น ถูกไปใช้บริการสาธารณะ เช่น สร้างถนนให้ส่วนรวมใช้ประโยชน์โดยไม่ต้องเสียภาษี

นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายราคาบ้านที่อยู่อาศัยที่ได้รับการลดหย่อนเสียภาษีร้อยละ 50 หรือเสียภาษีเพียงครึ่งหนึ่ง สำหรับบ้านราคาเกิน 1-5 ล้านบาท จากอัตราจัดเก็บจริงร้อยละ 0.1 หมายความว่า บ้านราคา 1 ล้านบาทได้รับการยกเว้นภาษี หากบ้านราคา 4-5 ล้านบาท เมื่อเสียภาษีจากมูลค่าประเมินบ้านราคา 4-5 ล้านบาท (จากการคำนวณราคาบ้านหนึ่งล้านบาทเสียภาษีหนึ่งพันบาท) ต้องจ่ายภาษี 4,000 บาท เมื่อลดให้ครึ่งหนึ่งจึงต้องจ่ายเพียง 2,000-2,500 บาทต่อปี

สำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่ากำหนดอัตราจัดเก็บในขั้นแรก คือ ร้อยละ 0.5 หลังจากนั้นจะเพิ่มอีก 1 เท่าทุก 3 ปี แต่สูงสุดต้องไม่เกินร้อยละ 2 ตามเพดานที่กำหนดไว้ ด้วยการออกกฎหมายลูกบังคับใช้ เพื่อประกาศอัตราการจัดเก็บทุกประเภทใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ในส่วนของภาคธุรกิจ เช่น โรงแรมยืนยันว่าภาระภาษีไม่สูงกว่าภาษีโรงเรือนร้อยละ 12.5 หรือภาระการเช่าในปัจจุบันอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเปิดทางให้หักค่าเสื่อมสำหรับสิ่งปลูกสร้าง มีกำหนดไว้ 69 แบบ อาทิ บ้านไม้ สามารถหักค่าเสื่อมได้สูงสุดถึงร้อยละ 93 ในปีที่ 19 ส่วนอาคารคอนกรีต (ตึก) หักค่าเสื่อมได้สูงสุดร้อยละ 76 ในปีที่ 43 อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้หักค่าเสื่อมได้สูงสุดร้อยละ 85 ในปีที่ 22 เป็นต้น รวมทั้งยังต้องกำหนดเพดานการเสียภาษีเป็นแบบขั้นบันไดด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้ผู้รับมรดกรับภาระมากเกินไป โดยคำนวณจากราคาประเมินไม่ใช่ราคาตลาดที่ซื้อขายในปัจจุบัน โดยคณะกรรมการปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลังต้องหารือร่วมกันอีกหลายครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อพิจารณาร่วมกันให้รอบคอบเพื่อไม่ให้รายย่อย เกษตรกรรับผลกระทบมากจนเกินไป

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า แต่จะสรุปให้ได้ก่อนในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะเสนอสภานิติบัญญ้ติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าก่อนบังคับใช้จริง เพราะต้องรอการประเมินที่ดินรายแปลงจากกรมธนารักษ์ โดยต้องใช้เวลาประเมินที่ดิน 1 ปีครึ่งในการประเมินที่ดินรายแปลงทั้งประเทศ คาดว่าสร้างรายได้เข้ารัฐประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันจัดเก็บภาษีโรงเรือนประมาณ 25,000 ล้านบาท สำหรับภาษีการรับมรดกและภาษีมรดก อยู่ระหว่างการพิจารณากรรมาธิการ สนช. คาดว่าจะสรุปร่วมกันได้และผ่านสภาในอีก 4 สัปดาห์ข้างหน้า

คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง สปช. ให้ความเห็นหลากหลาย โดยนางประภาศรี สุฉันทบุตร สปช. เสนอแนะว่ากระทรวงการคลังควรทำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรายย่อยได้เห็นความสำคัญในการเสียภาษี โดยเฉพาะคนระดับกลางเริ่มตื่นเต้นหวาดกลัวกันมาก รวมทั้งควรให้แรงจูงใจกับคนวัยทำงานที่เสียภาษีในอัตราสูงมากจนต้องเกษียณอายุทำงานเพื่อให้มีสวัสดิการดูแลเหมือนกับต่างประเทศ เพราะเสียภาษีมาตลอดอาชีพการทำงาน นายกอบศักดิ์ ภู่ตระกูล สปช. แนะนำว่า ควรควบคุมดูแลการใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างเข้มงวด เพราะต่อไปรับภาระในการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ รวมทั้งกำหนดในกฎหมายให้ชัดเจนเพื่อให้ อปท. เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง การลงทุนให้กับหน่วยงานต่างๆ ได้รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบ นายสุทัศน์ เศรษฐกิจบุญสร้าง เสนอให้จับรางวัลหรือให้รางวัลจากใบเสร็จสำหรับผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นแรงจูงใจเหมือนกับหลายประเทศดำเนินการอยู่

นายสมหมาย พร้อมรับฟังความเห็นหลายด้านไปดำเนินการ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้กรมบัญชีกลางเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงดูแล อปท. โดยต้องเพิ่มสัดส่วนเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ รวมทั้งหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อเข้าไปประเมินผลการใช้เงินของ อปท. เพราะอนาคตเมื่อการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นสูงมากขึ้นหลายแสนล้านบาทต่อปี จึงต้องบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพเหมือนกับรัฐบาลกลาง














กำลังโหลดความคิดเห็น