xs
xsm
sm
md
lg

อนุ กมธ.เผยผลสำรวจ 70% พอใจร่าง รธน. ยันเปลี่ยนแปลงได้ รับอยากให้ประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธานอนุ กมธ.รับฟัง ปชช.ร่าง รธน. เผยได้รับความสนใจมาก ผลสำรวจส่วนใหญ่ต้องการให้มี กม.กองทุนยุติธรรม รองมาคือให้ ปชช.มีสิทธิถอดถอนสมาชิกท้องถิ่น รวมถึงการมี กม.จัดสรรที่ดิน ชี้สอดคล้องกับการยกร่างฯ ร้อยละ 70 พอใจ รับยกร่างเสร็จต้องสำรวจอีกครั้ง แจงยังเปลี่ยนแปลงได้ ย้ำอยากให้ประชามติ แต่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ


วันนี้ (9 มี.ค.) นางถวิลวดี บุรีกุล คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงผลสำรวจความเห็นของประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2558 ที่กรรมาธิการยกร่างฯ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จากกลุ่มตัวอย่าง 5,800 ราย พบว่าประชาชนให้ความสนใจมาก โดยร้อยละ 97.1 ต้องการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนยุติธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในการดูแลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 96 เห็นว่าควรให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อเสนอถอดถอนสมาชิกท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นได้ และร้อยละ 95 ต้องการให้กำหนดกฎหมายเกี่ยวกับชุมชนในการจัดสรรที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นธรรม

นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 95.6 ต้องการให้มีการกำหนดแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในนโยบายมาจากแหล่งใด อีกทั้ง ร้อยละ 95.2 ประชาชนควรมีสิทธิออกเสียงประชามติในเรื่องที่จะมีผลกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติและประชาชน ร้อยละ 94.3 ต้องการกรรมการองค์กรอิสระต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะทั้งก่อนและหลังตำแหน่ง ร้อยละ 90.5 ควรทำการแยกแยะกำหนดโทษผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเพื่อให้อภัยแก่ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ และมิได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรง เช่น ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ทำลายทรัพย์สิน

ขณะที่ร้อยละ 88.2 เห็นว่าประเทศไทยควรมีระบบรัฐสภาที่มี 2สภาคือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ร้อยละ 86.9 ชุมชนต้องมีสิทธิในการอนุญาตหรือยกเลิกการให้เอกชนเข้ารับสัมปทานเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน ร้อยละ 58.9 นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.ด้วย ร้อยละ 58.6 นายกรัฐมนตรีควรมาจากความเห็นชอบของ ส.ส. ร้อยละ 54.6 ควรกำหนดให้นายกฯดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินกี่วาระ ควรจำกัดให้ดำรงตำแหน่งได้สองสมัย ส่วนประเด็นที่ประชาชนไม่เห็นด้วยเลยคือการให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต

ทั้งนี้ แม้การสำรวจดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีการยกร่างฯแล้วทำให้เห็นว่าสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่แสดงความเห็นมา โดยเฉพาะกระบวนการตรวจสอบซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ จึงเชื่อว่าประชาชนกว่าร้อยละ 70 พอใจกับการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แต่ก็ยอมรับว่าจำเป็นต้องสำรวจความเห็นประชาชนอีกครั้งหลังจากได้ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว เนื่องจากการสำรวจที่ผ่านมาเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไปประชาชนมีข้อมูลจากข้อมูลเดิมจึงไม่มีคำถามเกี่ยวกับกรณีบ้านเมืองวิกฤต ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญนี้มีเจตนารมณ์ที่จะแก้ปัญหากรณีเกิดวิกฤตบ้านเมืองด้วย โดยขณะนี้นักวิชาการของสถาบันพระปกเกล้าได้เตรียมคำถามที่จะสำรวจความเห็นประชาชนแล้ว คาดว่าในช่วงต้นดือนเมษายนน่าจะเริ่มสำรวจความเห็นประชาชนอีกครั้งได้ โดยคำถามที่จะสำรวจประชาชน เช่น ที่มานายกฯ ที่มา ส.ว. สิทธิของประชาชน และอาจสอบถามว่าต้องการให้มีการทำประชามติหรือไม่ด้วย เป็นต้น เพราะเจตนารมณ์ของกรรมาธิการฯ ยืนยันมาตลอดว่าอยากให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ คสช.ที่เป็นผู้มีอำนาจจะเห็นอย่างไร โดยในการประชุมแม่น้ำ 5 สายทุกครั้งประธานกรรมาธิการยกร่างก็จะเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ซึ่งก็บอกว่าขอพิจารณาก่อน

อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันยังไม่ใช่ร่างสุดท้ายสามารถเปลี่ยนแปลงเพราะเมื่อยกร่างแล้วเสร็จก็จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยในวันที่ 17-27 มี.ค.จะมีการรับฟังความคิดเห็นของ สปช. จากนั้นก็จะรับฟังความคิดเห็นจาก คสช. หากมีความเห็นที่แตกต่างทางกรรมาธิการฯ ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น