xs
xsm
sm
md
lg

สปช.นัดสัมมนาวางแนวการทำงาน-กำหนดเนื้อหาปฏิรูปพรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทียนฉาย กีระนันทน์ (แฟ้มภาพ)
“เทียนฉาย” นำสัมมนา “สานพลัง สปช.ออกแบบอนาคตประเทศไทย” พรุ่งนี้ วางแนวทางการทำงาน กำหนดเนื้อหาให้กรรมาธิการด้านต่างๆ ในการปฏิรูป ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต. ไม่เห็นด้วยทำประชามติ แนะตั้งอนุฯ กมธ.รับฟังความเห็นครอบคลุมทั่วประเทศ เหมือนทำประชามติย่อยๆ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการสัมมนา สปช. เรื่อง “สานพลัง สปช.ออกแบบอนาคตประเทศไทย” ในวันที่ 9-10 พ.ย. ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ ว่า ประเด็นสำคัญเพื่อให้สมาชิกฯ ร่วมแสดงความเห็น เจตนารมณ์ และออกแบบอนาคตประเทศไทย รวมถึงร่วมวางแนวทางการทำงาน รวมถึงการกำหนดเนื้อหาให้กับคณะกรรมาธิการฯ ปฏิรูปด้านต่างๆ ทั้ง 18 คณะ ว่าจะเดินหน้าทำงานอย่างไร เพื่อให้เกิดเอกภาพ และมีการบูรณาการร่วมกันได้อย่างไร รวมถึงร่วมกันออกแบบเพื่อนำเสนอกรอบความเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ไปยังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ใช้ประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เบื้องต้นเชื่อว่า ภายในวันที่ 10 พ.ย.นั้น จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จากนั้นจะมีการแถลงข่าวให้สื่อมวลชนได้รับทราบด้วย

นายเทียนฉายกล่าวว่า สำหรับการจัดสัมมนาดังกล่าว เป็นไปตามความเห็นร่วมของสมาชิก สปช.ที่ต้องการให้สมาชิกได้ทำความรู้จักกันอย่างใกล้ชิดในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ อีกทั้งมองว่าการสร้างความรู้จัก และร่วมระดมความเห็นในประเด็นปฏิรูปแบบองค์รวมไม่สามารถทำได้ภายในห้องประชุมรัฐสภา ที่จัดเก้าอี้แบบหันหน้าไปทางเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนาดังกล่าวมีไฮไลต์สำคัญ คือ การกล่าวเปิดสัมมนาโดยนายเทียนฉาย ที่จะสะท้อนถึง ปัญหาของประเทศที่สะสม ไปจนถึงแนวคิดปฏิรูปปัญหานั้นๆ นอกจากนั้นจะให้สมาชิกฯ ที่มาจากด้านปฏิรูปต่างๆ ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปประเทศไทย ก่อนจะถอดแนวคิดเป็นโรดแมป ภายใต้กิจกรรม “เราจะไปสู่อนาคตที่หวังไว้ได้อย่างไร” หรือ Scenario for Thailand จากนั้นจะนำโรดแมปดังกล่าวไปถกเถียงและร่วมกำหนดรายละเอียดของการทำงานต่อไป

นายจรุงวิทย์ ภุมมา ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต.ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายการเมือง กล่าวว่า ในการสัมมนาสร้างวิสัยทัศน์ประเทศไทยของ สปช. ในระหว่างวันที่ 9-10 พ.ย.นี้ก็จะมีการถกเถียงในรายละเอียดว่า จะทำโครงของการรับฟังความคิดเห็นอย่างไร โดยวันที่ 11 พ.ย.ก็จะมาสรุปว่าร่างโครงการ และในวันพุธที่ 12 พ.ย.นี้ ก็จะลงมือทำเหมือนกันทั่วประเทศ โดย กกต.จังหวัดก็พร้อมแล้วที่จะให้การสนับสนุน เพราะเวลา 60 วันเพื่อรับฟังความคิดเห็นสรุปประเด็นส่งให้กรรมาธิการยกร่างฯ มันเหลือน้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หลายฝ่ายเริ่มมีความเชื่อแล้วว่าหลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว แนวโน้มจะไม่มีการนำไปทำประชามติ เพราะยุ่งยาก สิ้นเปลือง และไม่เกิดประโยชน์ หวังว่าขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นแตกประเด็นในรายละเอียด ชัดเจน และทั่วถึง จะเป็นตัวทดแทนการทำประชามติได้อย่างดี

นายจรุงวิทย์กล่าวว่า หากการกำหนดประเด็นไปรับฟังและความมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นมีมากพอ ก็อาจไม่มีความจำเป็นในการทำประชามติหลังยกร่างฯ เสร็จ ซึ่งบทเรียนจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 คือ ทำประชามติให้ประชาชนรับโดยที่ไม่รู้เนื้อหา แต่รับเพื่อให้มีการเลือกตั้งไปก่อน

“มันไม่ใช่แค่เยสหรือโนแบบประชามติแยกประเทศของสกอตแลนด์ มันง่าย แต่นี่เป็นรัฐธรรมนูญจึงกำหนดเนื้อหายาก หากจะออกแบบให้สามารถรับมาตรานี้ไม่รับมาตรานี้ ก็ต้องใช้เวลามากขึ้น ไม่สามารถทำให้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด แต่ควรจะใช้วิธีแบ่งอนุกรรมาธิการเป็นกลุ่มย่อยๆ ไปรับฟังความเห็นให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งจะเท่ากับการทำประชามติย่อยๆ ในเนื้อหาหลายๆ ประเด็น เพราะเชื่อว่าห้วงเวลาไม่เอื้ออำนวยให้ทำประชามติหลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญ”


กำลังโหลดความคิดเห็น