xs
xsm
sm
md
lg

สปช.จี้เปิดเผยรายได้สัมปทาน ห้ามรัฐใช้ประชานิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (16ธ.ค.) มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการวิสามัญ 18 คณะ เป็นวันที่ 2 โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานการประชุม
เริ่มด้วย คณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา โดยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธาน ได้เสนอว่า ต้องมีแผนแม่บทระดับชาติ เพื่อพัฒนาและสนับสนุนการสร้างงานศิลปะ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและต้องจัดตั้งองค์กรสมัชชาศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยดึงทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

**ต้องใช้วัฒนธรรมปฏิรูปสังคม

ทั้งนี้ ทางสมาชิก สปช. ได้อภิปราย โดยเสนอให้ รัฐจะต้องมีหน้าที่ทำนุบำรุงและปฏิสังขรณ์สถานที่สำคัญให้ครบถ้วน โดยฟื้นฟูให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ ที่ประเทศไทยเป็นอารยประเทศมาช้านาน รัฐและทุกภาคส่วนต้องมีหน้าที่ในการปลูกฝังศีลธรรม สร้างจิตสำนึกที่ดีงามให้ทุกคนทุกวัย โดยอาจจะมีการดำเนินการขอเวลาของสื่อรัฐ เพื่อสนับสนุนในการเผยแพร่เรื่องดังกล่าว ส่วนศาสนาเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะขอให้ทุกภาคส่วนทำนุบำรุง และคุ้มครองทุกศาสนา และมีการสร้างดุลยภาพทั้งฝ่ายภาครัฐ เอกชน และประชาชนในการพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม โดยรัฐจะต้องสร้างให้ภาคประชาชนจัดการด้านวัฒนธรรม เพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติ
หลังจากนั้น นายเนาวรัตน์ ได้กล่าวสรุปว่า ตนเห็นว่าต้นไม้เปรียบเสมือนสังคม โดยมีศาสนา จริยธรรม เป็นแก่นไม้ คุณธรรม จริยธรรม เป็นเนื้อไม้ ค่านิยมดั่งเปลือกไม้ เศรษฐกิจเป็นราก การเมืองคือ กิ่งก้านสาขา ดังนั้นการจะปฏิรูปสังคมได้ จะต้องมีการหันมามองถึงสาเหตุ ซึ่งวิกฤติวัฒนธรรมไทยที่เกิดขึ้น มาจากปัญหาจากราก คือ การพัฒนาเศรษฐกิจจนกลายเป็นวัฒนธรรมบริโภคนิยม เอาเงินและตัวเองเป็นหลัก ซึ่งจำเป็นต้องปฏิรูป
"ผมเห็นว่า ในปัจจุบันนี้อาวุธทางวัฒนธรรมเป็นอาวุธที่แหลมคมในการครอบครองประเทศอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ จิตใจของเด็กไทยกลายเป็นพวก เคป๊อปไปหมดแล้ว ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนเอาสิ่งต่างๆ ของต่างประเทศมารับใช้ประเทศชาติของเรา อีกทั้งค่านิยมที่ว่า ตามข่าวแล้วเก่ง คิดเองแล้วโง่ ถือเป็นอันตรายของสังคมบริโภค ดังนั้น ควรเอาศิลปวัฒนธรรมมาปฏิรูปสังคม โดยจะต้องมีส่วนร่วมกับทุกด้าน ส่วนการสร้างกองทุนสร้างเสริมศิลปะ วัฒนะธรรม เป็นกองทุนภาคประชาสังคม ภายใต้การมีส่วนร่วมและการจัดการของภาคประชาชนนั้น ก็จะไม่รอรัฐบาลใหม่ โดยหลังจากนี้จะดำเนินการ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนดังกล่าวในช่วงเวลาการทำงานของ สปช. เพื่อรับรองประเด็นที่จะปฏิรูปตามร่างรัฐธรรมนูญที่จะกำหนดเอาไว้

**ตั้ง "คกก.การเงิน การคลัง และภาษีอากร"

ด้านคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง โดยนายสมชาย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการฯ เสนอว่า
1. รัฐจะต้องจัดทำยุทธศาสตร์แห่งชาติ โดยกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทย เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานอิสระ เพื่อติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
2. บุคคลจะต้องแสดงสถานะรายได้ต่อหน่วยงานที่สัดกัด เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ และผู้มีรายได้มากเสียภาษีอย่างเหมาะสม
3. รัฐจะต้องมีการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
4. จัดตั้งองค์กรอิสระ ชื่อว่า "คณะกรรมการการเงิน การคลัง และภาษีอากรแห่งชาติ" ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน ประชาชน และนักวิชาการ เพื่อเสนอข้อมูลต่อรัฐบาลในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
5. จัดตั้ง "สำนักงานงบประมาณแห่งรัฐสภา" ทำหน้าที่วิเคราะห์ และติดตามการใช้จ่ายงบประมาณที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา ว่าส่งผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มอาชีพ หรือระบบเศรษฐกิจระยะยาวอย่างไรบ้าง รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ

**ห้ามรัฐใช้นโยบายประชานิยม
6. จำแนกการจัดเก็บภาษีระดับชาติและภาษีท้องถิ่นอย่างชัดเจน เนื่องจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น จึงควรปรับระบบการจัดเก็บภาษีให้สอดคล้อง โดยพื้นที่ที่สามารถจัดเก็บภาษีได้มาก ควรมีส่วนในการจัดสรรงบประมาณที่จัดเก็บได้ ส่วนพื้นที่ที่จัดเก็บภาษีได้น้อย รัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม
7. ปฏิรูป พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี จะต้องมีการประมาณการรายได้และรายจ่ายอย่างชัดเจน โดยเฉพาะระบุแหล่งทุนที่ชัดเจน และกระบวนการในการชำระหนี้ที่ชัดเจน
8. จัดทำกฎหมายการเงินการคลังแห่งชาติ ซึ่งเคยมีการเสนอร่างดังกล่าวแล้วใน ปี 51 แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดวินัยการคลัง รายได้ รายจ่าย การกู้ยืมเงิน รวมถึงการคลังท้องถิ่น
9. กำหนดให้มี พ.ร.บ. ป้องกันนโยบายที่สร้างความนิยมทางเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลใช้นโยบายประชานิยม เพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ไม่ใช่การงดสวัสดิการภาครัฐ รวมถึงวิเคราะห์ความคุ้มค่าของนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล
10. ขจัดช่องโหว่ในการจัดสรรงบประมาณไปแต่ละยังพื้นที่ โดยวางมาตรการตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการต่างๆ ของ ส.ส.
11. ทบทวนความเหมาะสมในการดำรงอยู่ของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงจำแนกบทบาทของภาครัฐในการเป็นผู้ตรวจสอบและ เจ้าของรัฐวิสาหกิจอย่างชัดเจน โดยจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นอิสระจากกระทรวงในกำกับดูแลในมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน เอกชน และรัฐวิสาหกิจ 12. จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย
13. รัฐจะต้องสร้างมาตรการป้องกันการผู้ขาดของภาคธุรกิจ เว้นภาคธุรกิจที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ ไม่คุ้มหากปล่อยให้เกิดการแข่งขัน เช่น การขนส่งไฟฟ้าตามสายส่งขนาดใหญ่ แต่จะต้องมีการกำกับดูแล เพื่อความเป็นธรรมของผู้บริโภค

**นิยาม"หนี้สาธารณะ"เป็น"หนี้ภาครัฐ"

ทั้งนี้ได้มีสมาชิกแสดงความเห็นหลากหลาย อาทิ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ สปช.อภิปรายว่า เจตนารมณ์ของกมธ. ปฏิรูปเศรษฐกิจ ฯ คือความพยายามในการรวมกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน การคลัง เช่น พ.ร.บ. งบประมาณ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ และพ.ร.บ. เงินคงคลัง ไว้ในกฎหมายฉบับเดียว แก้ไขนิยามของหนี้สาธารณะ คือ หนี้ในงบประมาณรวมกับหนี้รัฐวิสาหกิจ เปลี่ยนเป็น "หนี้ภาครัฐ" คือ หนี้ในระบบและนอกระบบ ซึ่งรวมหน่วยงานราชการ กองทุนหมุนเวียนฯ ด้วย เพราะที่ผ่านมา นักการเมืองนิยมใช้งบประมาณจากแหล่งทุนนอกระบบ เช่น ธนาคารเฉพาะกิจ เป็น สำนักงบประมาณแห่งรัฐสภาที่ เสนอต่อที่ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ควรเพิ่มบทบาทหน้าที่ในการวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของพรรคการเมืองหรือนโยบายของพรรคการเมือง ที่มีส่วนสร้างความเสียหายต่อประเทศ และ สร้างหลักประกันให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ป้องกันไม่ให้ รมช. กระทรวงการคลัง แทรกแซงการทำงาน

**จี้ออกกม.บี้รัฐเผยรายได้จากสัมปทาน

ด้านนายพิสิฐ ลี้อาธรรม สปช. เสนอว่า ควรมีจัดต้องกองทุนการออม เพื่อรองรับสภาวะผู้สูงอายุในสังคมไทย ในมิติของการคุ้มครองผู้บริโภค ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานที่จะควบคุมการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินต่างๆ ให้มีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค รวมถึงสร้างหลักประกันให้กับประชาชนที่ใช้บริการทางการเงินด้วย
ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช. อภิปรายว่า อัตราภาษีที่ภาคธุรกิจจะต้องจ่ายให้รัฐราว 2.5 เปอร์เซ็นต์ ไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นการผ่องถ่ายทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และสุขภาวะของประชาชน เช่น การสัมปทานของภาครัฐ ที่ไม่มีการศึกษาผลกระทบก่อนและหลังการสัมปทาน ซึ่งรัฐจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายสากล เช่น การเปิดเผยรายได้ที่ภาครัฐได้รับจากการให้สัมปทานน้ำมัน ก๊าช และเหมือนแร่ รวมถึงเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่เป็นหุ้นส่วน ป้องกันไม่ให้เกิดการอำพรางในลักษณะนิติบุคลคล ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการระดับสูงไม่ควรเป็นหุ้นส่วนโดยไม่มีข้อยกเว้น
นายวัลลภ พริ้งพงษ์ อภิปรายว่า สำหรับการจำแนกการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่นให้ชัดเจน มี 3 แนวทาง คือ 1. การกำหนดอัตราภาษีที่สามารถบริหารด้วยตนเอง 2. เมื่อมีการปรับโครงสร้างภาษีที่ดิน ควรให้ อปท. สามารถจัดเก็บและบริหารจัดภาษีดังกล่าวได้ นอกเหนือจากภาษีโรงเรือน อาคารปลูกสร้าง และบำรุงท้องที่ 3. จัดเก็บภาษีประเภทใหม่ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีจากสถานประกอบการในพื้นที่ และหน่วยงานที่ใช้ทรัพยากรในพื้นที่นั้นๆ และ 4 สร้างหลักเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณไปยัง อปท. ให้สอดคล้องกับภาษีที่จัดเก็บได้ เสนอตั้งศาลสิ่งแวดล้อมเพื่อขจัดปัญหา
ทางด้านนายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแนวทางการปฏิรูป 7 ด้าน ซึ่งครอบคลุมเรื่องเฉพาะของแต่เรื่อง เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ ที่ดิน สัตว์ป่า ทรัพยากรทางทะเล การผังเมือง และกลไกการแก้ปัญหา โดยสิ่งที่จะบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ คือ รัฐจะต้องคุ้มครองสิทธิประชาชนที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการกำหนดในส่วนนี้ รัฐจะต้องจัดให้มีระบบการจัดการทรัพยากรน้ำที่ชัดเจน จัดให้มีระบบและแผนจัดการทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืน ให้ถือว่าทรัพยากรทางทะเล เป็นสมบัติของชาติ ประชาชนมีสิทธิใช้ประโยชน์และมีหน้าที่ดูแลฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ จัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อฟื้นฟูป้องกันและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาวะของประชาชน ให้ถือว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ โดยรัฐต้องคำนึงถึงการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน อาจจะต้องมีองค์กรอิสระขึ้นมาดูแลด้วย และให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมที่เป็นอิสระเพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นกลไกในการขจัดปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

** ตั้งกองทุนความเสี่ยงในโครงการขนาดใหญ่

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สปช.ล้อม กล่าวว่า จัดตั้งกองทุนความเสี่ยงจากการตั้งโครงการขนาดใหญ่ ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะจะมีกฎหมายลูกมาบังคับในการดำเนินการของกองทุนดังกล่าว กำหนดบรรจุให้ต้นไม้ที่มีชีวิตเป็นทรัพย์อีกประเภทหนึ่งในรัฐธรรมนูญ โดยสามารถค้ำประกันได้ ซึ่งจะให้มีการออก พ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ ซึ่งจะให้มีการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชน รวมทั้งช่วยภาครัฐในการดูแลทรัพยากรด้วย นอกจากนี้ ต้องมีการปรับปรุงระบบรายงานด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมด้วย โดยจะต้องแยกหน่วยงานรายงานจากราชการเพื่อป้องกันข้อครหาจากประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น