xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ สับ กม.ดิจิตอล เน้นป้องกันความมั่นคง ละเลยสิทธิ ปชช.กระทบ ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ อนุมัติร่าง กม.ดิจิตอล ปักหมุดข้อเสีย เน้นปกป้องความมั่นคงมากกว่าความมั่นคงไซเบอร์ อาจกระทบความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ กระทบ ศก.-ไร้มาตรการปกป้องสิทธิ ปชช.ขั้นพื้นฐาน ยังขาดความชัดเจนหน่วยงานที่ถูกตั้งดูแล แถมกองทุน ศก.ดิจิตอลส่อมีปัญหาธรรมาภิบาล

วันนี้ (27 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายจุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ แถลงผลการพิจารณาการศึกษากรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายดิจิตอลทั้ง 10 ฉบับว่า คณะ กมธ.ได้ศึกษาข้อดีข้อเสียใน 2 ประเด็น คือ 1. ผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการสื่อสารและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร 2. ผลกระทบต่อโครงสร้างสถานะและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระที่กำกับดูแลกิจการ โดยพบว่านโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี แต่แนวทางมุ่งเน้นปกป้องความมั่นคงปลอดภัยของประเทศมากกว่าความมั่นคงปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ หรือระบบไซเบอร์ อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศซึ่งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่าผลดี นอกจากนี้ยังอาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขว้าง เนื่องจากยังขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และอาจถือเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ที่ขัดแย้งต่อหลักการของรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศได้

นายจุมพลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังขาดความชัดเจนในเรื่องสถานะและบทบาทและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานและหน่วยงานที่จะถูกจัดตั้งขึ้นตามร่างกฎหมายดังกล่าวโดยเฉพาะระบบการสรรหาคัดเลือกตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง และหลักประกันการใช้อำนาจและความรับผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีความชัดเจนถึงความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช.จะถูกลดบทบาทลงจนขาดความเป็นอิสระ ภายหลังจากคณะกรรมการตามกฎหมายนี้จะเข้ามามีบทบาทแทน ขณะที่กองทุนเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ที่ตั้งขึ้นใหม่ยังขาดกลไกและระบบตรวจสอบที่โปร่งใส ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในอนาคตด้วย ทั้งนี้ ภาพรวมกฎหมายทั้ง 10 ฉบับยังไม่มีมาตรการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีรองรับอาจส่งผลกระทบในการลิดรอนสิทธิเสรีขั้นพื้นฐานของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและรับรู้ข่าวสาร อีกทั้งยังเป็นการเพิ่งอำนาจให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่อย่างไร้ขอบเขต ปราศจาการกลั่นกรองจากศาลหรือตุลาการ ดังนั้น แนวดังกล่าว จึงเป็นแนวทางการบัญญัติกฏหมายที่สวนทางกับแนวทางการปฏิรูปด้านสื่อมวลชนที่กำลังดำเนินอยู่ อย่างไรตาม ทางคณะ กมธ.ได้ส่งข้อเสนอและแนวทางดังกล่าวให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อส่งไปให้ ครม.และคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น