xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ไฟเขียว เตรียมเปิดประมูล 4G ภายในสิงหาคม - คาดเปิดประมูล 4 ใบอนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 1/2558
“บิ๊กตู่” ไฟเขียว สั่งเตรียมการประมูล 4G ในย่านความถี่ 900 - 1800 เมกะเฮิรตซ์ ภายในเดือนสิงหาคม 2558 ย้ำเพื่อให้ประเทศไทยก้าวทันโลกในด้านดิจิตอล คาดเปิดให้ประมูล 4 ใบอนุญาต นำเงินเข้ารัฐ 4 หมื่นล้านบาท และ เกิดการลงทุนติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่นับแสนล้านบาท ตั้งกรรมการ 5 ชุด ดูแล ธุรกิจเกิดใหม่ดิจิตอล พร้อมบูรณาการโครงข่ายบรอดแบนด์ และศูนย์ข้อมูลภายในประเทศ

วันนี้ (18 มี.ค. 58) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 1/2558 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รมว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิณ จั่นตอง รมว.คมนาคม นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข นายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย ตลอดจนตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายสิทธิชัย โภไคยอุดม, นายโกศล เพ็ชร์สุวรรณ, นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล, นายไพรัช ธัชยพงษ์, นายชิต เหล่าวัฒนา, นายมนู อรดีลเชษฐ์, นายสุพันธุ์ มงคลสุธี และ นายบุญทักษ์ หวังเจริญ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดการประชุมว่า เรื่องการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนเป็นการสร้างโอกาสเพื่อเข้าถึงการเรียนรู้ พร้อมยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยให้ดีขึ้น อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเป็นการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

มีรายงานว่า ที่ประชุมได้รับทราบการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557 ซึ่งรัฐบาลมีทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่มุ่งเน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาใน 5 ด้าน คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) โครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการ (Service Infrastructure) โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐาน (Soft Infrastructure) ด้านส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Digital Economy Promotion) และด้านการพัฒนาสังคมดิจิตอล (Digital Society)

ที่ประชุมเห็นชอบต่อแนวทางการเตรียมการในประเด็นสำคัญของแต่ละยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมของเศรษฐกิจดิจิตอล และได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อน โดยตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย คณะทำงานด้าน National Boardband, คณะทำงานด้านดาต้าเซ็นเตอร์, คณะทำงานด้านอี - คอมเมริซ์, คณะทำงานด้านดิจิตอล คอนเทนต์, คณะทำงานด้านกฎหมาย และคณะทำงาน long life education เป็นต้น โดยคณะทำงานแต่ละชุดจะมาจากข้าราชการ และหน่วยงานเอกชน เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อการบูรณาการโครงข่ายบรอดแบนด์ของภาครัฐ และหน่วยงานในกำกับของรัฐ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน และใช้ทรัพยากรโครงข่ายบรอดแบนด์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ อันจะนำไปสู่การให้บริการอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกพื้นที่ในระดับราคาที่เหมาะสม การเตรียมการเรื่องศูนย์ข้อมูลในประเทศ (Data Center) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน และความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณภาครัฐ และยังเป็นการทำให้ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้มีมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัย และมาตรฐานคุณภาพด้านการให้บริการ รวมถึงการส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่จะเป็นผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก

ตลอดจนการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิตอลโดยส่งเสริมให้ SMEs ไม่ต่ำกว่า 20,000 ราย ปรับเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ ภายใน 3 ปี รวมทั้งการสร้างธุรกิจใหม่ดิจิตอล (Digital Entrepreneurs) ไม่น้อยกว่า 300 ราย รวมถึงการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านบริการใหม่ธุรกิจใหม่ที่ตลาดต้องการรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย รวมทั้งการเร่งรัดปรับปรุงบริการของภาครัฐไปสู่ Smart Service เพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชนมากที่สุด

กล่าวคือ การเป็นการให้บริการโดยไม่ต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งจะมีบริการจากกระทรวงนำร่อง 7 กระทรวงในระยะแรก จำนวน 100 บริการ ก่อนที่จะมีการขยายผลการดำเนินงานไปสู่หน่วยงานอื่นๆ และการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ รวมทั้งจัดเตรียมการพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบเปิด Massive Open Online Course (MOOC)

“พร้อมการเดินหน้าเพื่อเตรียมการประมูล 4G ภายในเดือนสิงหาคม 2558 ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวทันโลกในด้านดิจิตอล”

ในตอนท้ายการประชุม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณคณะกรรมการ ที่ร่วมมือกันในการช่วยลดความขัดแย้ง พร้อมมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประเทศไทยได้เดินไปข้างหน้าสู่สังคมที่ก้าวไกลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากยิ่งขึ้น

มีรายงานว่า การประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4จี ในย่านความถี่ 900 - 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ กสทช. เสนอให้บอร์ดดีอีพิจารณา เพื่ออนุมัติให้เปิดประมูลตามกำหนดการเดิม คือ ประมาณเดือนกันยายน - ตุลาคม หรืออย่างช้าภายในสิ้นปีนี้ โดยใบอนุญาตที่จะเปิดให้ประมูลมีด้วยกัน 4 ใบอนุญาต คาดจะนำเงินเข้ารัฐ 4 หมื่นล้านบาท และ เกิดการลงทุนติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่นับแสนล้านบาท

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯได้รับทราบการเตรียมการเรื่องการประมูล 4จี ภายใต้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปเริ่มขั้นตอนเปิดประมูลให้เสร็จสิ้นภายในเดือนส.ค.นี้ หลังจากประกาศของคสช.ที่สั่งให้ชะลอการประมูลออกไป 1 ปี จะสิ้นสุดในวันที่ 17 ก.ค.นี้ ซึ่งการเปิดประมูลครั้งนี้ต้องเปิดประมูลแบบไม่จำกัดคลื่นความถี่ เพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น

“การทำให้เสร็จภายในเดือนส.ค.นี้ ก็ไม่ต้องแก้ประกาศของคสช. ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 17 ก.ค.58 จึงขอให้เริ่มเลย เพราะได้ใช้ประโยชน์ได้ ขณะที่การประมูลหากมีความถี่หลากหลายจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยไม่ได้ล็อกตัวเองอยู่ที่คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพราะยังมีความถี่อีกเยอะ และเมื่อทำทั้งทีก็ทำให้สู้ต่างประเทศให้ได้ ไม่ใช่หมกมุ่นแต่ของเดิม โดยขั้นตอนจากนี้จะเป็นอำนาจของกสทช.ที่จะไปหาวิธีการประมูล ซึ่งรัฐบาลจะไม่เข้าไปก้าวก่าย และในการประชุมครั้งนี้ นายกฯ ก็บอกว่า เดือนส.ค.นี้ต้องทำให้เสร็จ ทางกสทช.ก็ตกลง ส่วนวงเงินในการประมูลก็อยู่ที่กสทช.จะพิจารณา และจากนี้กสทช.จะรายงานความคืบหน้ามายังคณะกรรมการฯ เป็นประจำทุกเดือน”




กำลังโหลดความคิดเห็น