xs
xsm
sm
md
lg

บก.ปอศ. ตั้งเป้าปี 58 ลุยจับ 9 กลุ่มธุรกิจหลัก ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท รองผบก.ปอศ. รักษาราชการแทน ผบก.ปอศ. (ยืนซ้าย) และ พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ ปลาทอง รอง ผบก.ปอศ.(ยืนขวา) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งดำเนินการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยพุ่งเป้าจับแน่ 9 กลุ่มธุรกิจหลัก ระบุชัดมีความเชื่อมโยงระหว่างซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ มัลแวร์และการคุกคามทางไซเบอร์ชัดเจน ขณะที่การปราบปรามที่ผ่านมามีแนวโน้มการละเมิดที่ลดลง 1-2% ต่อปี โดยปี 2557 มีการจับกุม 197 คดี รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 456 ล้านบาท พร้อมชี้การแต่งตั้งบัญชีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจะทำให้การพิสูจน์หลักฐานเพื่อสนับสนุนด้านการตัดสินคดีมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท รองผบก.ปอศ. รักษาราชการแทน ผบก.ปอศ. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)
พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท รอง ผบก.ปอศ. รักษาราชการแทน ผบก.ปอศ. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวว่า นักพัฒนาและผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจดิจิตอลในอนาคต และการปกป้องจากการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ จะสร้างงานให้เพิ่มมากขึ้น สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และยกระดับชื่อเสียงของประเทศไทยในเรื่องความโปร่งใสและการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทุกบริษัทหรือบุคคลที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ กำลังก่ออาชญากรรมภายใต้กฎหมายไทย และตำรวจ ปอศ. มีหน้าที่ต้องปราบปรามและจับกุม

ขณะที่ข้อมูลจากไอดีซีระบุตัวเลขจากปี 2546-2549 พบอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยกว่า 80% แต่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมา โดยปี 2550 พบ 78% ปี 2551 พบ 76% ปี 2552 พบ 75% ปี 2553 พบ 73% ปี 2554 พบ 72% และปี 2556 พบการละเมิด 71% พร้อมระบุว่าโอกาสที่ผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจจะเผชิญกับภัยมัลแวร์เมื่อใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์สูงถึง 33% และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 25% ของการโจมตีทางไซเบอร์ทุกรูปแบบ มุ่งไปที่องค์กรธุรกิจในภาคการผลิตซึ่งเป็นฐานการผลิตของธุรกิจขนาดใหญ่
พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ ปลาทอง รอง ผบก.ปอศ. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)
***ความเชื่อมโยงระหว่างซอฟต์แวร์เถื่อนและอาญากรรมไซเบอร์

ด้าน พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ ปลาทอง รอง ผบก.ปอศ. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวถึงการปฏิบัติงานตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาว่า มีการจับกุมข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จากบริษัทมากกว่า 40 แห่งทั้งในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และราชบุรี ซึ่งผู้บริหารระดับสูงและผู้เกี่ยวข้องฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรเหล่านี้ บ่อยครั้งที่ไม่รู้ว่าองค์กรธุรกิจของตนกำลังทำผิดกฎหมาย แต่ความไม่รู้ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวได้ และองค์กรธุรกิจเหล่านี้กำลังเป็นเป้าหมายของการปราบปรามจากการกระทำผิด และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทและองค์กรนี้ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย โทษฐานที่ยอมให้มีการลักทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญามูลค่าหลายล้านบาทของผู้อื่นโดยการปล่อยให้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตภายในองค์กร

ทั้งนี้ การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ยังคงมีความเชื่อมโยงระหว่างซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ มัลแวร์และการคุกคามทางไซเบอร์ โดย บก.ปอศ. ระบุว่าซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายเป็นบันไดขั้นแรกในการป้องกันภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ และเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการสร้างระบบเศรษฐกิจดิจิตอล ส่งผลให้การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจดิจิตอลที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย

ขณะที่อาชญากรรมบนโลกไซเบอร์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น การใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อาจจะทำให้องค์กรเหล่านี้กำลังเสี่ยงที่จะเผชิญกับอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ การถูกหลอก และการถูกโจรกรรมข้อมูล และอาจจะส่งผลความเสี่ยงไปยังเยาวชนได้ เช่น การเล่นเกมในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ที่เกมออนไลน์ส่วนใหญ่ต้องใช้บัตรเครดิตเพื่อชำระเงิน ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของแฮกเกอร์ ในการขโมยรหัสผ่านบัตรเครดิตของเยาวชนเหล่านี้ และนำเงินไปใช้โดยอาศัยมัลแวร์ที่ติดมากับซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย

กรณีตัวอย่างของอาชญากรรมไซเบอร์ คือ องค์กรบริษัทในประเทศไทยหลายแห่งถูกเจาะเข้าระบบการเงินและบัญชี โดยอาชญากรไซเบอร์ได้สร้างใบเรียกเก็บเงินฉบับปลอมที่มีความคล้ายคลึงกับใบเรียกเก็บเงินจากคู่ค้าขึ้นมา และได้ขโมยเงินของผู้ผลิตไทยโดยวิธีดังกล่าวนี้มานับครั้งไม่ถ้วน นอกจากนี้ อาชญากรไซเบอร์ได้มีการแฮกฐานข้อมูลเพื่อเข้าถึงข้อมูลทางการเงินและข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วยเช่นกัน

“ธนาคารและสถาบันทางการเงินหลายๆ แห่งได้มีการแจ้งเตือนลูกค้าไม่ให้ใช้คอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อนในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องและทุกคนควรปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. ใคร่ขอความร่วมมือจากทั้งภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปให้ใช้แต่ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายและปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจ ทำธุรกรรมทางการเงินและอื่นๆ ที่ผ่านช่องทางออนไลน์” พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ กล่าวเสริม

***บริษัทใหญ่ไม่ให้ความสำคัญงบประมาณซอฟต์แวร์

ในปี 2557 องค์กรธุรกิจที่ถูกเข้าตรวจค้นและจับกุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. ฐานใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตามสัญญา มีรายได้โดยเฉลี่ยต่อปีที่ 211 ล้านบาทต่อบริษัท แสดงให้เห็นว่า แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ก็ยังละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์โดยไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย ซึ่งมีองค์กรธุรกิจทั้งหมด 197 แห่ง ถูกเข้าตรวจค้นและจับกุม โดยมีมูลค่าการละเมิดรวมทั้งสิ้นประมาณ 456 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็นองค์กรธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้นชาวไทย 76% ชาวญี่ปุ่น 1.5% ชาวมาเลเซีย 1.5% ชาวอเมริกัน 1% ชาวออสเตรเลีย 0.5% ชาวจีน 0.5% ชาวเดนมาร์ก 0.5% และอื่นๆ (บริษัทร่วมทุน) 18.5% โดยประเภทของอุตสาหกรรมมีตั้งแต่โรงงานอุตสาหกรรม 44% ก่อสร้างและออกแบบ 19% ตัวแทนจำหน่ายและธุรกิจค้าส่ง 10% วิศวกรรม 6% อสังหาริมทรัพย์ 4% เครื่องจักรกล 3% และอื่นๆ 14%

ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังทำงานเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างมุ่งมั่น โดยเน้นโครงสร้างพื้นฐาน (Hard Infrastructure) โครงสร้างความมั่นคงปลอดภัย (Soft Infrastructure) โครงสร้างพื้นฐานด้านบริการ (Service Infrastructure) การส่งเสริมการขับเคลื่อนศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล (Digital Economy Promotion) และการสร้างสังคมที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลโนยีดิจิตอล (Digital Society and Knowledge)

“พื้นฐานสำคัญอีกอันหนึ่งที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจดิจิตอลประสบความสำเร็จ คือ องค์กรธุรกิจไทยต้องเคารพลิขสิทธิ์และไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ผลสำรวจของไอดีซีระบุว่า ในประเทศไทยมากกว่า 71% ของซอฟต์แวร์ที่ถูกดาวน์โหลดในเครื่องพีซีในประเทศไทย คือ ซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตามสัญญาเราจะปล่อยให้สถานการณ์การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นเช่นนี้ต่อไปไม่ได้” พ.ต.อ.สรรักษ์ กล่าว

***ชี้เป้าการปราบปราม ปี 58

พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ เปิดเผยว่า เป้าหมายการปราบปรามในปี 2558 นี้แบ่งออกเป็น 9 กลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้ 1. วิศวกรรมและการก่อสร้าง 2. อุตสาหกรรมการผลิต 3. อุตสาหกรรมเครื่องจักร 4. บริษัทรับเหมาช่วงต่อ 5. ยานยนต์และชิ้นส่วน 6. การออกแบบสถาปัตยกรรม 7. ตัวแทนจำหน่ายและธุรกิจค้าส่ง 8. อินเทอร์เน็ต คาเฟ่ และ 9. บริษัทห้างร้านที่จำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยทิศทางการจับกุมและดำเนินคดีเป็นเป็นลักษณะจากผู้ใช้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ขยายผลไปสู่องค์กรที่ผลิตซอฟต์แวร์เถื่อน และจากองค์กรที่ผลิตซอฟต์แวร์เถื่อนขยายผลไปสู่ผู้ใช้ละเมิดลิขสิทธิ์ในหลากหลายมิติ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินงานป้องปรามและปราบปรามซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

ทั้งนี้ การปราบปรามเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่ทางออกของการลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ การทำงานที่ครบทุกด้านเช่นการให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ข่าวสารให้เกิดทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการไม่ลักทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ผลิต ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ผ่านสิ่งพิมพ์ แผ่นพับเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทั้งเยาวชนและประชาชนที่เกี่ยวข้องของตัวตำรวจเองที่ลงพื้นที่ให้ข้อมูลความรู้ ก็เป็นสิ่งที่สร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันหรือการป้องปราบที่มีประสิทธิภาพ และเมื่อเกิดการกระทำความผิด โทษสูงสุดของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จะถูกจำคุก 4 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ระยะเวลาการพิจารณาคดีทั้งกระบวนการใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี แบ่งเป็นขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนประมาณ 6 เดือน และขั้นตอนการพิจารณาประมาณ 6 เดือน ทั้งนี้ มีความพยายามในการจัดตั้งรายชื่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อการสืบค้นคดีทางเทคนิค ซึ่งจะช่วยให้พยานหลักฐานทางเทคโนโลยีมีความหนาแน่นมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลให้เกิดการตัดสินคดีความที่รวดเร็วขึ้น แต่ตอนนี้ขั้นตอนการแต่งตั้งรายชื่อดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแม้ว่าจะยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญ เพราะการดำเนินงานปราบปรามก็สามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ขั้นตอนการตัดสินอาจจะมีความล่าช้าตามความยากง่ายของคดีเท่านั้น” พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ กล่าว

Company Related Link :
บก.ปอศ

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น