xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ข้อควรระวังจัดสรรคลื่นความถี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพัชรสุทธิ์ สุริตตานนท์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านการประมูลและการออกแบบตลาด
นักวิชาการจุฬาฯ เผยประเทศไทยจัดสรรคลื่นความถี่ไม่มีประสิทธิภาพ มีการกักตุน เรียกคืนไม่ได้ บริการในพื้นที่ห่างไกลขาดแคลน แนะคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลต้องทำความเข้าใจ ส่วนวิธีการจัดสรรหากเลือกวิธีบิวตี้คอนเทสต์ต้องตอบคำถามเกณฑ์การคัดเลือกให้ได้ทุกข้อ หวั่นดุลพินิจมีปัญหา

นายพัชรสุทธิ์ สุริตตานนท์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านการประมูลและการออกแบบตลาด กล่าวว่า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย Digital Economy นั้นต้องจัดสรรคลื่นความถี่โดยคำนึงถึง 3 เรื่อง คือ 1.การจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ 2.คลื่นที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ต้องดึงกลับมาจัดสรรใหม่ให้ได้ และ 3.ต้องไม่ให้เกิดการกักตุนคลื่นความถี่ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า มีคลื่นความถี่หลายคลื่นที่ไม่ได้นำมาใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพ และควรมีการเรียกคลื่นคืนเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ ยกตัวอย่าง มีคลื่นที่อยู่กับหน่วยงานภาครัฐจำนวนมากแต่กลับไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ควรเรียกกลับมาเพื่อจัดสรรใหม่จะทำให้มีการใช้คลื่นที่มีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อยู่ในขั้นตอนการเจรจาขอคืนแต่ยังติดปัญหาที่ภาครัฐต้องการการเยียวยาหากต้องนำคลื่นคืน

‘เมื่อพูดถึงประสิทธิภาพในการจัดสรรคลื่นความถี่ของประเทศไทยนั้นถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่ไอทียูกำหนดไว้มาก ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.มีการจัดสรรคลื่นความถี่ได้แค่ 379 MHz ขณะที่ไอทียู แนะนำให้จัดสรรคลื่นความถี่ให้ได้ 760MHz ในปี 2553 และควรจัดสรรให้ได้ 1,100 MHz ในปีนี้ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีคลื่นความถี่จำนวนมากแต่กลับไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้ ทำให้ยังมีพื้นที่ห่างไกลอีกหลายพื้นที่ขาดแคลนคลื่นความถี่ ’

ดังนั้น คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลที่กำลังจะถูกตั้งขึ้นตามกฎหมายใหม่นั้นต้องเข้าใจปัญหา ส่วนประเด็นที่ว่าจะใช้วิธีการจัดสรรคลื่นอย่างไร จะด้วยการประมูล หรือคัดเลือกที่เรียกว่าบิวตี้ คอนเทสต์ ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ตรงดุลพินิจของคณะกรรมการมากกว่า ดังนั้น คณะกรรมการต้องสามารถตอบเกณฑ์คำถามในการจัดสรรคลื่นความถี่ได้ทุกข้อ ไม่ว่าจะเป็นความมีประสิทธิภาพในการจัดสรร รายได้จากการจัดสรร ความโปร่งใส ความยุติธรรม และความเข้าใจง่ายในการจัดสรร ซึ่งทั้ง 5 ข้อนี้ได้พิสูจน์มาแล้วว่า การประมูลสามารถตอบคำถามได้ทั้งหมด ดังนั้น หากคณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องการใช้วิธีการคัดสรรแบบบิวตี้ คอนเทสต์ ก็ต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การจัดสรรคลื่นของต่างประเทศก็มีวิธีที่หลากหลาย ทั้งการประมูล และวิธีอื่น ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ คลื่นความถี่บางประเภทอาจไม่เหมาะสมต่อการประมูล จึงขึ้นอยู่กับรูปแบบในการสร้างแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจมากกว่า ความจริงหากรัฐต้องการมีคลื่นไว้ใช้สำหรับกิจการสาธารณะ เช่น การใช้สำหรับภัยพิบัติฉุกเฉิน รูปแบบนี้รัฐก็ไม่จำเป็นต้องมีคลื่นไว้ทำเอง อาจมีการออกเอกสารแนบท้ายใบอนุญาตให้เอกชนที่ได้รับคลื่นไปมีการกันคลื่นไว้ส่วนหนึ่งเพื่อทำเรื่องเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะเอกชนที่มีความชำนาญกว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่า

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น