บอร์ดทีโอทีอนุมัติใบลาออกจากการเป็นรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ “ธันวา” เนื่องจากติดภารกิจส่วนตัวที่เพิ่มขึ้น แต่ยังคงเป็นบอร์ดทีโอทีตามเดิม พร้อมแต่งตั้ง “มนต์ชัย” นั่งรักษาการอีกครั้งหนึ่ง มีผล 1 มี.ค. ขณะที่ความคืบหน้าเรื่องการสรรหาตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานบอร์ดปัดข่าวลือผู้สมัคร 3 คนตกคุณสมบัติ แจงอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติและเชิญมาแสดงวิสัยทัศน์เร็วๆ นี้
พล.อ. สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้นายธันวา เลาหศิริวงศ์ พ้นจากการทำหน้าที่รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตามที่นายธันวา ยื่นใบลาออกแล้ว เนื่องจากต้องไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัวที่เพิ่มขึ้น แต่ยังคงสถานการณ์เป็นกรรมการทีโอทีต่อไป โดยจะมีผลทันทีภายในสิ้นเดือนนี้และมีมติแต่งตั้งให้นายมนต์ชัย หนูสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ทำหน้าที่รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป
“ที่ผ่านมาพิสูจน์ได้ว่าธันวามีส่วนทำให้เรื่องหลายเรื่องของทีโอทีลุล่วง เรียกได้ว่าทำงานได้ดี มีแนวคิดใหม่ๆ มานำเสนอ แต่เนื่องจากงานตรงนี้เป็นงานหนักที่ต้องกลับดึกและเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดก็ต้องเข้ามาทำงาน ธันวาติดภารกิจสำคัญที่บ้านจึงทำให้ไม่มีเวลา”
สำหรับความคืบหน้าเรื่องการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่นั้น พล.อ.สุรพงษ์ กล่าวปฏิเสธทุกข่าวลือที่บอกว่าคุณสมบัติของผู้สมัครทั้ง 3 คนไม่ผ่านเกณฑ์ แลคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ยังไม่ได้รายงานความคืบหน้าใดๆ มายังตนเอง โดยยืนยันว่ากำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติและจะเรียกผู้สมัครมาแสดงวิสัยทัศน์ให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที มีทั้งหมด 3 คน ได้แก่ พลตรีสุรพล ตาปนานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก นายสมพรต สาระโกเศศ อดีตกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. และนายศิริพงษ์ โลหะศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โพรเกรส ซอฟท์แวร์ จำกัด
สำหรับนายธันวาเริ่มเข้ามานั่งเป็นตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย.57 ขณะที่เข้ามาเป็นกรรมการทีโอทีในเดือน ส.ค.57 โดยก่อนหน้านี้เป็นกรรมการผู้จัดการให้กับบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ขณะที่นายมนต์ขัยเคยเป็นรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่มาแล้วตั้งแต่เดือน มี.ค. 55 และสมัครใจลาออกจากตำหน่งในเดือน ธ.ค.ในปีเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่าต้องการไปรับผิดชอบงานโครงการขยายโครงข่ายให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ในย่านความถี่ 1900 MHz เพียงอย่างเดียว
***เผยแผนงาน 4 ปี ทีโอที
พล.อ.สุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนงานระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ.2558-2561) ทีโอที ได้กำหนดทิศทางธุรกิจเพื่อเป็นเครื่องมือของภาครัฐที่สำคัญในการผลักดันและพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล และสนับสนุนการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงและสร้างความมั่นคง โดยยุทธศาสตร์แผนงานจะรองรับนโยบาย National Broadband และนโยบาย Lifelong Learning ซึ่ง ทีโอที มีแผนงานดำเนินการทั้งในส่วน Hard Infrastructure และ Digital Society ในการยกระดับเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทย คุณภาพสังคม เพื่อตอบโจทย์ของประเทศไปสู่ Digital Economy ภายใต้แนวคิด Digital Good Life สำหรับแผนงานสำคัญคือการพัฒนาระบบสาย/ไร้สายเครือข่าย หรือ Hard Infrastructure ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล โดย ทีโอที จะทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายทางด้านการสื่อสารที่มีความเสถียร ความรวดเร็ว และราคาที่เหมาะสม ประกอบด้วย
1. โครงการสายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ โดยเริ่มดำเนินการเส้นทางแรก คือ สาย AAE-1 (Asia-Africa-Europe-1) เพื่อรองรับอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (International Internet Gateway) เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศลงถึง 2 ใน 3 ของราคาปัจจุบัน ส่งผลให้ประเทศไทยมีเส้นทางเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางสำรอง ส่งผลดีในด้านความมั่นคงของชาติและด้านการเงินการคลัง นอกจากนี้ ทีโอที มีศูนย์บริการข้อมูลอินเทอร์เน็ต (IDC) และศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Gateway) ในการดูแลและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอย่างเต็มที่
2. โครงการบรอดแบนด์ความเร็วสูง 2 ล้านพอร์ต ซึ่งสามารถสนับสนุนแผนให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเข้าถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน และ อบต.ทั่วประเทศ และแผนงานให้บริการ 100 Mbps ผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงในเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ และเป็นการขยายโอกาสของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรของประเทศไทย
3. แผนขยายความเร็วอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อเขตชายแดน เพื่อส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษจัดตั้งใหม่ 5 จังหวัดพื้นที่ชายแดน ได้แก่ 1) พื้นที่จังหวัดตากในอำเภอแม่สอด, อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ระมาด 2) พื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ในอำเภอเมือง, อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอดอนตาล 3) พื้นที่จังหวัดสระแก้ว ใน อำเภออรัญประเทศ และอำเภอวัฒนานคร 4) พื้นที่จังหวัดตราด ในอำเภอคลองใหญ่ และ 5) พื้นที่จังหวัดสงขลา ในอำเภอสะเดา
สำหรับการส่งเสริม Digital Commerce เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ Digital Economy พร้อมร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมธุรกิจ SMEs และธุรกิจเกิดใหม่ และการส่งเสริมสนับสนุน Lifelong Learning สำหรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล ในส่วนของ Digital Society ทีโอที มีแผนงานให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตสำหรับโครงการนำร่องห้องเรียนอัจฉริยะ แผนงานให้บริการอินเทอร์เน็ตโรงเรียนชายขอบที่มีความเร็วอินเทอร์เน็ต > 2 Mbps และแผนงาน Tele-medicine เพื่อให้บริการรักษาด้านสุขภาพทางไกลออนไลน์ รวมถึงโครงการ TOT Young Club เพื่อส่งเสริมการใช้ดิจิตอลให้กับเยาวชนนำอินเทอร์เน็ตมาพัฒนาชุมชนและสังคมทั่วประเทศ
ส่วนผลประกอบการประจำปี 57 ทีโอทีมีกำไรสุทธิประมาณ 1,850 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการที่คาดว่าจะมีผลขาดทุน 7,817 ล้านบาท ณ เดือนสิงหาคมที่กรรมการชุดนี้เข้ามารับหน้าที่ โดยเป็นผลจากรายได้การให้บริการที่เพิ่มขึ้นประมาณ 865 ล้านบาท และจากการบริหารค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการลงทุน 3,800 ล้านบาท และการบริหารจัดการด้านต่างๆ อีกกว่า 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กำไรสุทธิดังกล่าวยังอยู่ในการพิจารณาการด้อยค่าทรัพย์สิน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ ทีโอที โดยจะมีผลขาดทุนได้ ซึ่งขณะนี้ ทีโอที อยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าว
Company Related Link :
ทีโอที