xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” สั่งประยุกต์การศึกษา “ฟินแลนด์-สิงคโปร์-เกาหลีใต้” ใช้กับไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา  นัดแรก ที่ทำเนียบรัฐบาล
“บิ๊กตู่” ย้ำการศึกษาไทย “นักเรียน - ครู - ผู้ปกครอง” ต้องมีความสุข แนะ “ซูเปอร์บอร์ดการศึกษา” ดึงศักยภาพรูปแบบการศึกษา “ฟินแลนด์ - สิงคโปร์ - เกาหลีใต้” ประยุกต์ใช้กับไทย สั่งจัดทำวิสัยทัศน์ทางการศึกษา 5 ปี พร้อมตั้ง “รมช.ศธ.- ปธ. ทีดีอาร์ไอ - นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธปท.” เพิ่มเติมในซูเปอร์บอร์ด

วันนี้ (19 มี.ค ) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 1/2558 โดยมี นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้ง คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซูเปอร์บอร์ดการศึกษา จำนวน 9 คน ที่นายกรัฐมนตรีเพิ่งลงนามแต่งตั้ง ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นพ.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ตน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นเลขานุการ มีหน้าที่เสนอแนะนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตามนโยบายรัฐบาล

มีรายงานว่า ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้ง พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ และหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เป็นกรรมการเพิ่มเติมในคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา พร้อมทั้งเห็นชอบให้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ ฯ จำนวน 2 ราย คือ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ และ นายวิรไท สันติประภพ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย บุตรชายของ พล ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และยังมีชื่อเป็น คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กับคณะกรรมการดังกล่าว ให้ศึกษารูปแบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และสาธารณรัฐเกาหลีใต้ เพื่อนำมาประยุกต์กับระบบการศึกษาไทย พร้อมมอบหมายให้เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับ เลขาธิการสภาการศึกษาจัดทำวิสัยทัศน์ทางการศึกษา ปี 2015 - 2020 ให้มีความชัดเจน และเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดภายใต้ประเด็น 8 ประการ ดังนี้ 1. นโยบายการศึกษา 2. ระบบการศึกษาและการบริหารการศึกษา 3. โครงสร้างทางการศึกษา 4. การมีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษา 5. ครูและบุคลากรทางการศึกษา 6. การกำกับและการประเมินผล 7. งบประมาณและการช่วยเหลือทางการเงิน และ 8. ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้การศึกษาของประเทศไทยเป็นการศึกษาที่มีความสุข นักเรียนเรียนหนังสืออย่างมีความสุข ครูสอนหนังสืออย่างมีความสุข ผู้ปกครองก็มีความสุข และลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ทำให้เรียนจบมาแล้วมีงานทำ ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ช่วงปิดภาคเรียนการศึกษา และมีรายได้ตอบแทนให้ พร้อมกับให้นักเรียนได้เรียนรู้กฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ให้นักเรียนมีความรู้ที่ถูกต้อง พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานแบบเร่งด่วน ดังนี้ 1. อบรมเพื่อต่อยอดอาชีพเดิมให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ทันสมัยมากขึ้น 2. อบรมอาชีพที่สองสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีอาชีพหลักอยู่แล้ว เช่น กลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นอาชีพสำรองภายหลังการทำเกษตร และ 3. อบรมเพื่อรองรับโครงการใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ระบบโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น