xs
xsm
sm
md
lg

สั่งเคลียร์ตัวบ่งชี้ก่อนประเมินคุณภาพการศึกษารอบ 4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสมา 1 ชี้ สมศ. ต้องทบทวนตัวบ่งชี้ - เกณฑ์ประเมินให้เคลียร์ก่อนเริ่มประเมินรอบสี่ ระบุประเมินภายนอกจำเป็นต้องมีเพื่อให้ ร.ร. นำผลใช้พัฒนาการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานใกล้เคียงกัน ขณะที่ สมศ. นำทีมสื่อลงพื้นที่ดูจัดการเรียนการสอนที่ ร.ร.สวนลุมพินี จากไม่ผ่านประเมินจนได้การรับรอง ย้ำหากยึดตามหลัก 5 ส. สถานศึกษาจะไม่รู้สึกว่าการประเมินเป็นภาระ
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ
วันนี้ (26 ม.ค.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตเยาวชน (สสค.) ได้เปิดเผยวิจัย เรื่อง กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู ระบุว่ากิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ครูต้องใช้เวลามากที่สุดเป็นอันดับแรก คือ การประเมินจากหน่วยงานภายนอก 43 วัน โดยใช้เวลากับการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มากที่สุด 9 วัน ทำให้ครูต้องทิ้งห้องเรียนนั้น ที่ผ่านมา ตนได้มีการพูดคุยในเรื่องดังกล่าวกับผู้บริหาร สมศ. ไปพอสมควรและเท่าที่ดู สมศ. เองก็เข้าใจปัญหา และพยายามไปปรับตัวบ่งชี้หรือเกณฑ์ต่างๆ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของครูมากเกินไปเพื่อให้ครูมีเวลาอยู่ในห้องเรียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเรียนการสอน ส่วนจะปรับการประเมินไปในรูปแบบใดนั้น เป็นเรื่องรายละเอียดที่ต้องมีการพูดคุยกัน ทั้งนี้ การประเมินคุณภาพสถานศึกษาภายนอกรอบสี่ (ปีงบประมาณ 2559 - 2563) ซึ่งจะเริ่มในเดือนตุลาคม 2558 หากมีเกณฑ์หรือตัวบ่งชี้ใดที่ยังเป็นปัญหา ก็อยากให้ สมศ. ทบทวน และปรับปรุงให้เรียบร้อยก่อนเริ่มประเมิน แต่ ยืนยันว่าการประเมินภายนอกยังมีความจำเป็น เพราะสถานศึกษาจะได้นำผลการประเมินไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานใกล้เคียงกัน

วันเดียวกัน ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสวนลุมพินี กรุงเทพฯ โดยกล่าวภายหลังว่า โรงเรียนสวนลุมพินี เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สมศ. แต่ปัจจุบันสามารถพัฒนาตัวเองจนผลการประเมินอยู่ในระดับดีมาก ทั้งนี้ ตนมองว่า 5 ส. เป็นสิ่งสำคัญกับทุกสถานศึกษา ได้แก่ 1. สร้างสรรค์ โดยโรงเรียนต้องหาจุดเด่น เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของโรงเรียน 2. ส่งเสริม ด้วยการบูรณาการวิชาการต่างๆ เข้ากับจุดเด่นของโรงเรียน 3. ส่วนร่วม ดึงให้ทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกัน 4. สม่ำเสมอ ทำให้ทุกอย่างมีความต่อเนื่อง และสม่ำเสมอจนเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่มีคุณภาพ และ 5. สืบสาน โดยทุกคนต้องร่วมกันรักษา และพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้ดียิ่งขึ้น หากทุกสถานศึกษาทำได้การประเมินคงใช่เรื่องที่ต้องเป็นภาระอีกต่อไป

ด้าน นางปภาดา อัศวธีรากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเลียบราษฎร์บำรุง (อดีต ผอ.โรงเรียนสวนลุมพินี) กล่าวว่า เรามีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง โดยยึดหลักความสม่ำเสมอ และทำงานตามตัวบ่งชี้ที่ สมศ.ให้เป็นแนวทางไว้อยู่เป็นประจำ ซึ่งผู้บริหาร และครูจะร่วมกันคิดว่าต้องทำอะไรบ้าง โดยมีเป้าหมายคือ ครู และเด็ก เพราะเป็นตัวบ่งชี้ที่บอกถึงคุณภาพของโรงเรียน ดังนั้น ไม่ว่า สมศ. จะเข้ามาประเมินเมื่อใด ทางโรงเรียนก็พร้อมเสมอ และครูไม่รู้สึกหนักใจด้วย

การประเมินภายนอกช่วยทำให้โรงเรียนก้าวไปข้างหน้า ไม่ได้มองว่าการประเมินเป็นงาน หรือภาระที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นวิถีชีวิตที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เมื่อ สมศ. เข้ามาประเมินก็จะนำสิ่งที่ทำอยู่มาตอบคำถามได้เลย อย่างไรก็ตาม เข้าใจดีว่าความคิดของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนอาจมองว่าเป็นภาระ เพราะนิสัยคนไทยไม่ค่อยชอบการจ้ำจี้จ้ำไช แต่เรื่องการศึกษาตราบใดที่ไม่มีผู้มาประเมิน เชื่อว่า การศึกษาไทยคงไม่มีการพัฒนา” นางปภาดา กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น