xs
xsm
sm
md
lg

การแก้ปัญหาการศึกษา : ถึงเวลาต้องให้ยาแรง

เผยแพร่:   โดย: ประทีป แสงเปี่ยมสุข

โดย...ประทีป แสงเปี่ยมสุข
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ

คุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทย จากการประเมินตรวจสอบของหลายสำนักล้วนสอดคล้องกันว่า อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง คุณภาพตกต่ำติดต่อกันมาหลายปี นักเรียนด้อยคุณภาพ เราปฏิรูปการศึกษากันมาหลายครั้ง ลงทุนด้านการศึกษาไปค่อนข้างสูง แต่คุณภาพยังตกต่ำ ไม่ประสบความสำเร็จเลย ควรจะทบทวนและใคร่ครวญดู การแก้ปัญหาการจัดการศึกษาจึงถึงเวลาต้องให้ยาแรง โดยอาจใช้วิธีการหรือแนวทางที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปนี้

1. การประเมิน/ตรวจสอบสถานศึกษาหรือบุคลากรของสถานศึกษาทุกประเภท ทุกครั้งของทุกหน่วยงานต้องประเมินที่ตัวนักเรียนอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการประเมินคุณภาพสถานศึกษาของ สมศ.การประเมินกิจกรรมดีเด่นทุกประเภท เช่น สถานศึกษาดีเด่น การประกวดกิจกรรมดีเด่นของสถานศึกษา การประเมินผู้บริหารดีเด่น ครูดีเด่น ฯลฯ ไม่ใช่ประเมินตรวจสอบเพียงเอกสาร/หลักฐานที่สถานศึกษาจัดเตรียมไว้ให้ ต้องประเมินที่ตัวนักเรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อย่างน้อยต้องประเมินการอ่านและเขียนภาษาไทยด้วยคำพื้นฐานทุกระดับชั้นเป็นเบื้องต้น นอกจากนั้นควรประเมินทักษะของผู้เรียน เช่น ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิด และทักษะการสื่อสาร เป็นต้น โดยให้นักเรียนปฏิบัติจริง ต้องยอมเสียเวลาไปบ้าง อย่าประเมินเอกสาร/หลักฐานเพียงอย่างเดียว

2. การกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังส่วนภูมิภาคอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายที่สวยหรู แต่ในทางปฏิบัติกระทำได้น้อย ส่วนกลางจะกำหนดแนวทางการปฏิบัติโดยระดมความคิดจากนักวิชาการที่อยู่ส่วนกลางแล้วสั่งการไปยังส่วนภูมิภาค โครงการ/กิจการบางกิจกรรมดำเนินการเหมือนกันตั้งแต่เชียงรายถึงนราธิวาส สิ้นปีงบประมาณครั้งหนึ่งส่วนภูมิภาคจะตั้งตารอคอยโอกาส/กิจกรรม/แนวทางจากส่วนกลางไม่มีโอกาสคิดเองทั้งหมด ปีใดที่การมอบหมายให้ส่วนภูมิภาคคิดเอง ทำเอง จะทำไม่ค่อยถูก ติดขัดเพราะไม่เคยชิน ส่วนกลางต้องใจเย็นๆ แม้จะไม่ได้ผลในปีแรกๆ ก็จะค่อยๆ ดีไปเองในปีหลังๆ ส่วนกลางเพียงคอยดูแลให้กำลังใจ ยกย่องให้รางวัล จัดเวทีให้นำผลงาน/กิจกรรมเด่น ในอดีตที่ผ่านมาส่วนกลางจะมอบให้ส่วนภูมิภาคคิดเองทำเองเพียง 20% พอเป็นกระสัยให้ได้ชื่อว่าได้กระจายอำนาจแล้ว ควรกระจายอำนาจการจัดการศึกษาทุกอย่างให้ส่วนภูมิภาคทั้ง 100% เรามีสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในแต่ละภูมิภาค เรามีข้าราชการที่มากประสบการณ์แม้จะเกษียณราชการไปแล้วก็เชิญมาระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันแก้ปัญหา

3. การปรับหลักสูตร พึงตระหนักอยู่เสมอว่า การปรับหลักสูตรไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทุกครั้งที่มีปัญหาทางการศึกษา เรามักจะมองที่หลักสูตร จับหลักสูตรเป็นจำเลยของสังคม ทั้งๆ ที่ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาเกิดจากองค์ประกอบหลากหลายอาจไม่ใช่สาเหตุจากหลักสูตรก็ได้ เราไม่เคยมองที่กระบวนการนำหลักสูตรไปใช้ กระบวนการนิเทศติดตาม ปัญหาอาจจะอยู่ตรงนั้นก็ได้ เอาเถอะไหนๆ ก็จะปรับหลักสูตรเพราะดำเนินการได้ง่ายและสะดวก ก็ขอเสนอแนวในการดำเนินการปรับหลักสูตร รูปแบบการปรับหลักสูตรควรดำเนินการให้เหมือนการซ่อมแซมบ้าน ตรงไหนชำรุด บกพร่อง ตรงไหนไม่ดีก็ปรับเฉพาะส่วนนั้น ไม่ใช่รื้อบ้านสร้างใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่หน้าปกถึงหน้าสุดท้าย กล่าวคือ ทำใหม่ทั้งเล่มนั่นแหละ จะเป็นภาระให้กับสถานศึกษาและครูผู้สอน แทนที่จะใช้เวลาในการเตรียมการสอน การคิดค้นนวัตกรรม หรือวิธีการใหม่ๆ ที่ประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน

4. ทบทวนรูปแบบการเลื่อนวิทยฐานะของบุคลากร การประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้น เป็นครูชำนาญการ (ซี 7) ครูชำนาญการพิเศษ (ซี 8) ครูเชี่ยวชาญ (ซี 9) และครูเชี่ยวชาญพิเศษ (ซี 10) ดำเนินการมาหลายปี มีจำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะสูงขึ้นอยู่มากมาย การเลื่อนวิทยฐานะครู ก็คือ ให้ครูคิดค้นและสร้างสื่อ/นวัตกรรมหรือแนวทางที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาในโรงเรียนของตน แล้วนำไปพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียนของตนให้มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนส่งเสริม แต่ที่เราน่าจะทบทวนดูว่า ครูและบุคลากรที่เลื่อนวิทยฐานะไปหลายปีแล้วยังคงใช้หรือพัฒนาต่อยอดสื่อ/นวัตกรรมหรือแนวทางการพัฒนาในการจัดการเรียนการสอนหรือพัฒนาการศึกษาอยู่หรือไม่ หรือได้พัฒนาผลงานทางวิชาการของตนเองไปแค่ไหน หรือเลิกใช้แล้ว

ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว สำนักงาน กค.ศ.ได้เคยสร้างเครื่องมือติดตามผู้ที่เคยได้เลื่อนวิทยฐานะไปแล้ว แต่ติดขัดที่ขาดบุคลากรที่จะไปประเมินติดตามซึ่งต้องใช้จำนวนมาก เลยเลิกไปทั้งๆ ที่ได้ใช้งบประมาณในการสร้างเครื่องมือไปแล้วเป็นจำนวนมาก ควรจะนำเครื่องมือชุดนั้นปัดฝุ่นกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้วิธีสุ่มผู้ที่จะไปประเมิน มอบให้ผู้ว่าฯ ผอ.เขตพื้นที่ และผู้ทรงคุณวุฒิดำเนินการสุ่มจังหวัดละประมาณ 20-50 คน/ปี ก็จะเป็นการกระตุ้นให้บุคลากรกลับมาพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา โดยรัฐบาลไม่ต้องลงทุนอะไรเลย

ถึงเวลาแล้วที่การพัฒนาการศึกษาหรือการแก้ปัญหาการจัดการศึกษาต้องใช้แนวทางนอกกรอบบ้าง แทนที่จะยึดแนวทางเดิมๆ ที่ยึดถือกันมา ต้องพัฒนาให้ถึงตัวเด็กให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
บอร์ดปฏิรูป ศธ.นัดแรกตั้ง 7 อนุฯทำงานรอบด้าน “ณรงค์” ยันต่างจากอดีตเน้นปฏิรูปจากภาคปฏิบัติ
บอร์ดปฏิรูป ศธ.นัดแรกตั้ง 7 อนุฯทำงานรอบด้าน “ณรงค์” ยันต่างจากอดีตเน้นปฏิรูปจากภาคปฏิบัติ
บอร์ดอำนวยการปฏิรูปนัดแรก ตั้งอนุฯ 7 ชุดดูแลปฏิรูปแต่ละด้าน “ณรงค์” มั่นปฏิรูปครั้งนี้แตกต่าง ชี้ปฏิรูปจากภาคปฏิบัติตั้งแต่ นร. ครู ผอ.ร.ร.และสู่นโยบาย ชูใช้กลไกกระจายอำนาจบริหารพัฒนาคุณภาพหากเดือนม.ค.58 ระบุได้ผลดีจะขยายต่อ เห็นด้วยมี “ซูเปอร์บอร์ด” ดูแลกำกับการศึกษาภาพรวม ส่วนการปรับโครงสร้างยังไม่มีข้อยุติ ด้าน “พินิติ” ชี้บอร์ดสนใจการปฏิรูปพัฒนาคุณภาพมากกว่าโครงสร้าง ระบุวางกรอบไว้ 1 ปีพร้อมรับแนวคิดปฏิรูป สปช. สนช. มาวางแผนปฏิรูปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น