xs
xsm
sm
md
lg

กช.เห็นชอบ เกณฑ์ประเมินยกระดับอาชีวะเอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ด กช. เห็นชอบเกณฑ์ประเมินอาชีวะเอกชน ยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล 3 ข้อ จัดการศึกษา บริหารจัดการ การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างมาตรฐานและเกณฑ์คุณภาพสู่มาตรฐานสากลสำหรับสถานศึกษาเอกชนประเภทอาชีวศึกษา เพื่อยกระดับอาชีวศึกษาเอกชนให้ได้มาตรฐานสากล และยกย่องสถานศึกษาที่พัฒนาตนเองให้มีคุณภาพสู่สากลให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดยได้กำหนดมาตรฐานและเกณฑ์ประเมิน ประกอบไปด้วย 3 มาตรฐาน 15 ตัวบ่งชี้ ดังนี้ มาตรฐานที่ 1 ด้านผลการจัดการศึกษา ประกอบด้วย 6 ตัวบ่งชี้ คือ ผู้เรียนมีสมรรถนะทางวิชาชีพสูง ผู้เรียนมีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ผู้เรียนมีทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสาร ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะ ผู้เรียนมีผลงาน งานสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลในระดับประเทศ/อาเซียน/นานาชาติและหรือได้นำไปใช้ประโยชน์ และผู้สำเร็จการศึกษามีทักษะในการทำงานเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ/หน่วยงาน/ผู้รับบริการ

มาตรฐานที่ 2 ด้านการบริหารจัดการ 5 ตัวบ่งชี้ คือ สถานศึกษามีระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการ สถานศึกษามีการระดมทรัพยากรในการจัดการอาชีวศึกษา สถานศึกษาส่งเสริมให้ครูมีผลงาน นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ งานสร้างสรรค์ และงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์หรือได้รับรางวัลระดับประเทศ ครู และบุคลากรได้รับการพัฒนาคุณภาพด้านวิชาการ วิชาชีพ และจรรยาบรรณ และสถานศึกษาพัฒนาผู้เรียนให้มีความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกและมาตรฐานที่ 3 ด้านการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน 4 ตัวบ่งชี้ คือ สถานศึกษาร่วมมือกับสถานประกอบการหรือหน่วยงานต่างประเทศในการจัดการอาชีวศึกษา มีการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติมจากภาษาอังกฤษหรือมีการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการภาษาต่างประเทศ มีการจัดให้ผู้เรียนเพิ่มพูนประสบการณ์วิชาชีพ และมีการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน

ด้าน นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการ กช. กล่าวว่า สถานศึกษาเอกชนประเภทอาชีวศึกษาที่ขอรับการประเมิน ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ จัดการเรียนการสอนในระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวีพชั้นสูง (ปวส.)ที่ผ่านการประเมินคุณภาพภายในจากหน่วยงานต้นสังกัด และได้รับการรับรองมาตรฐานของสถานศึกษารอบ 3 จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่มีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ในระดับดีขึ้นไป โดยจะมีคณะกรรมการประเมินจำนวน 3-5 คนขึ้นอยู่กับขนาดสถานศึกษา ใช้เวลาประเมินในสถานศึกษาแต่ละแห่งไม่เกิน 2 วัน สำหรับคณะกรรมการประเมินจะแต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือน ข้าราชการครู หรือข้าราชการบำนาญ สังกัด ศธ. หรือผู้บริหาร หรือครูเอกชน หรือผู้แทนสถานประกอบการ ที่มีประสบการณ์ในด้านการอาชีวศึกษาไม่น้อยกว่า 10 ปี และผ่านการอบรมหลักสูตรกรรมการประเมินสถานศึกษาเอกชนประเภทอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพสู่มาตรฐานสากล และได้รับวุฒิบัตรและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินสถานศึกษาเอกชนประเภทอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานสากลด้วย

“วิธีการประเมิน จะประเมินจากผลงานเชิงประจักษ์ของผู้เรียน ผลงานครู และรางวัลที่สถานศึกษาได้รับรางวัลระดับชาติ นานาชาติ ย้อนหลัง 3 ปี เพื่อนำข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพไปเปรียบเทียบกับแต่ละตัวบ่งชี้ ตามเกณฑ์ใน 3 ระดับ คือ ระดับดีเยี่ยม ระดับดีมาก และระดับดี ซึ่งสถานศึกษาที่เข้ารับการประเมินจะได้รับเกียรติบัตรจาก สช. และได้รับอนุญาตให้จัดทำป้ายประกาศติดหน้าสถานศึกษาได้เป็นเวลา 3 ปีการศึกษา” นายบัณฑิตย์กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น