สะเก็ดไฟ
หมูไม่กลัวน้ำร้อน หมอก็ไม่กลัวกฎอัยการศึก คงจะใช้ได้ในสถานการณ์มาคุในกระทรวงสาธารณสุข
หลังจากที่ “บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เซ็นคำสั่งเด้งฟ้าผ่าหน้าแล้งให้ “นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้ากรุนั่งตบยุงทำเนียบรัฐบาล ช่วยงานสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมสั่งตั้งกรรมการสอบกรณีที่ไม่สนองนโยบายรัฐบาลและไม่สนองงาน “นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
คำสั่งดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับข้าราชการกระทรวงสายที่สนับสนุน “หมอณรงค์” อย่างมาก มีการรวมกันแบบไม่เกรงกฎอัยการศึก เพื่อมาให้กำลังใจหมอณรงค์ และแสดงตัวต่อต้านคำสั่งดังกล่าวอย่างชัดเจน รวมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีปลดรัฐมนตรีกระทรวงหมอทั้งสองรายเลยทีเดียว
ล่าสุด “พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ” ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) บอกว่า ขณะนี้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ เริ่มมีการแต่งชุดดำ เพื่อไว้อาลัยที่กระทรวงสาธารณสุขไม่มีธรรมาภิบาล และไว้อาลัยในตัวของทั้ง 2 รายที่ได้ตายไปจากหัวใจชาวสาธารณสุขแล้ว
แสดงถึง “รอยปริแตก” ในกระทรวงหมอแบบอยากจะประสาน แสดงอานุภาพวัดกำลังกันอย่างชัดเจน กลายเป็นเรื่องบานกลาย สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่น้อยเลยทีเดียว
ถ้าจะย้อนไปช่วงม็อบ กปปส. ข้าราชการที่มีบทบาทโดดเด่นในการต่อต้านรัฐบาลที่แข็งแกร่งจนได้รับนกหวีดทองคำ แสดงถึงความกิตติมศักดิ์ ก็คือ “หมอณรงค์” คนเดียวกันนี้ การเป็นเจ้าของรางวัลนกหวีดทองคำนั่นหมายถึงการันตี “ความดี” ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมมาแล้วแบบไม่ได้เกรงกลัวพลังของฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด
ดังนั้น การที่ “บิ๊กตู่” กล้าไปแตะของร้อนย่อมรู้ดีว่าอะไรจะเป็นผลตามมาให้ปวดหัว แต่กระนั้นยังเดินหน้าลงนามคำสั่งย้ายในที่สุด จึงมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอย่างที่เห็น
การขบเหลี่ยมเฉือนคมกันจนหาจุดลงรอยกันไมได้ ไม่ได้เพิ่งมาเกิดยุคนี้ แต่มีมาก่อนเกิดจะเกิด คสช. แล้วเสียอีก เพราะกระทรวงนี้ขึ้นชื่อเรื่องจุดแข็งของข้าราชการในกระทรวงมาแต่ไหนแต่ไร รวมถึงเรื่องความขัดแย้งระหว่าง “หมอกับหมอ” สายแพทย์ชนบทกับสายหมอในกระทรวง เรียกได้ว่าเป็น “มหากาพย์เสื้อกาวน์” มานานโข
ประเด็นขบกันหนีไม่พ้นเรื่องงบประมาณในกระทรวง โดยเฉพาะของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีเม็ดเงินปีละกว่าแสนกว่าล้านบาท
แต่พอมาในยุค พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ความขัดแย้งต่างๆ ก็ยังคงอยู่ ท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ กัดฟันเซ็นคำสั่งให้หมอณรงค์ถูกมาช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาลระหว่างที่มีการสอบสวนข้อเท็จจริง
“หมอรัชตะ - หมอณรงค์” แม้จะอยู่ค่ายคนดีมาด้วยกัน แต่ฝ่ายเจ้ากระทรวงอยู่ข้างแพทย์ชนบท มันจึงเป็นคนละค่ายกับ “หมอณรงค์” มวยค่ายเดียวกันแต่คนละแก๊ง กลายเป็นศึกในแล้วจะเออออห่อหมกกันได้อย่างไร
ที่ผ่านมา เคยให้สองฝ่ายเข้ามุ้งเคลียร์ปัญหา เพราะถ้าปล่อยให้ไม้แข็งกับไม้แข็งงัดกันก็มีแต่หักเท่านั้น รวมทั้งมีคนกลางอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คอยไกล่เกลี่ย
แต่มุ้งแตก รอยแยกยากประสาน
แต่เรื่องของความขัดแย้งครั้งนี้ ดูเหมือนว่าทาง พล.อ.ประยุทธ์ เลือกถือหางฝ่าย “หมอรัชตะ” ที่ตัวเองเลือกมากับมือเพื่อให้เข้ามาทำงานด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะ และก็เคยผ่านแรงเสียดทานถูกกดดันในช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ เพื่อให้เลือกตำแหน่งใดตำแหน่งระหว่างอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กับเจ้ากระทรวงหมอ จนในที่สุดตัดสินใจเลือกนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้มาปฏิรูปผ่าตัดเรื่องสาธารณสุขของประเทศ
ศึกเสื้อกาวน์คราวนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คงทำได้แค่เขี่ยฟืนออกจากไฟชั่วคราว ซื้อเวลาลดแรงปะทะระหว่างสองหมอ โยนเรื่องให้กรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาตัดสินปัญหา “หมอณรงค์” จะผิดจริงหรือไม่อย่างไร อย่างน้อยได้ยืดเวลาความขัดแย้งที่เผชิญหน้ากันอยู่ออกไปก่อนก็ยังดี และอีกอย่างมันเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ต้องเลือกฟังเหตุผลของตัวเอง เพื่อให้การปฏิรูปในกระทรวงมันเดินหน้า
แต่ถ้ามีการขัดแข้งขากันในกระทรวงงานต่างๆ คงไปไม่ถึงไหน คงต้องผ่าตัดในระดับกระทรวงก่อนที่จะผ่าตัดใหญ่ในระดับประเทศ ซึ่งการผ่าตัดก็ย่อมมีฝ่ายต้องเจ็บปวดบ้าง
ตอนนี้ เผือกร้อนตกอยู่ที่คณะกรรมการสอบสวนที่มี “น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องมีคำตอบออกมา ถึงเวลานั้นแรงกระเพื่อมฝ่าย “หมอณรงค์” ลดจะอุณหภูมิลงบ้างแล้วหรือไม่ ต้องติดตาม
ไม่แน่ปัญหานี้ก็อาจแปรสภาพเป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึก จนอำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช .ก็จัดการไม่ได้