xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่”กุมขมับ ศึกเสื้อกาวน์ยากผสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**หมูไม่กลัวน้ำร้อน หมอก็ไม่กลัวกฎอัยการศึก คงจะใช้ได้ในสถานการณ์มาคุในกระทรวงสาธารณสุข
หลังจากที่"บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เซ็นคำสั่งเด้งฟ้าผ่าหน้าแล้งให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารสุข เข้ากรุ นั่งตบยุงทำเนียบรัฐบาล ช่วยงานสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมสั่งตั้งกรรมการสอบ กรณีที่ไม่สนองนโยบายรัฐบาล และไม่สนองงาน นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข
คำสั่งดังกล่าว สร้างความไม่พอใจให้กับข้าราชการกระทรวงสายที่สนับสนุน“หมอณรงค์”เป็นอย่างมาก มีการรวมตัวกันแบบไม่เกรงกฎอัยการศึก เพื่อมาให้กำลังใจหมอณรงค์ และแสดงตัวต่อต้านคำสั่งดังกล่าวอย่างชัดเจน รวมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ปลดรัฐมนตรีกระทรวงหมอทั้งสองรายเลยทีเดียว
ล่าสุด พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) บอกว่า ขณะนี้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ เริ่มมีการแต่งชุดดำ เพื่อไว้อาลัยที่กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีธรรมาภิบาล และไว้อาลัยในตัวของรัฐมนตรีทั้ง 2 ราย ที่ได้ตายไปจากหัวใจชาวสาธารณสุขแล้ว
แสดงถึง“รอยปริแตก”ในกระทรวงหมอแบบอยากจะประสาน แสดงอานุภาพวัดกำลังกันอย่างชัดเจน ส่อว่าจะกลายเป็นเรื่องบานปลาย สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่น้อยเลยทีเดียว
**ถ้าจะย้อนไปช่วงม็อบ กปปส. ข้าราชการที่มีบทบาทโดดเด่นในการต่อต้านรัฐบาลที่แข็งแกร่งจนได้รับนกหวีดทองคำ แสดงถึงความเป็นนักต่อสู้ระดับ กิตติมศักดิ์ ก็คือ "หมอณรงค์" คนเดียวกันนี้ การเป็นเจ้าของรางวัลนกหวีดทองคำ นั่นหมายถึง การันตี “ความดี”ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมมาแล้ว แบบไม่ได้เกรงกลัวพลังของฝ่ายการเมือง แต่อย่างใด
ดังนั้นการที่ “บิ๊กตู่”กล้าไปแตะของร้อน ย่อมรู้ดี ว่าอะไรจะเป็นผลตามมาให้ปวดหัว แต่กระนั้นยังเดินหน้า ลงนามคำสั่งย้ายในที่สุด จึงมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอย่างที่เห็น
การขบเหลี่ยมเฉือนคมกันจนหาจุดลงรอยกันไมได้นั้น ไม่ได้เพิ่งมาเกิดยุคนี้ แต่มีมาก่อนเกิดจะเกิด คสช. แล้วเสียอีก เพราะกระทรวงนี้ขึ้นชื่อเรื่องจุดแข็งของข้าราชการในกระทรวงมาแต่ไหนแต่ไร รวมถึงเรื่องความขัดแย้งระหว่าง “หมอกับหมอ”สายแพทย์ชนบท กับสายหมอในกระทรวง เรียกได้ว่าเป็น “มหากาพย์เสื้อกาวน์”มานานโข
**ประเด็นขบกันหนีไม่พ้นเรื่องงบประมาณในกระทรวง โดยเฉพาะของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีเม็ดเงินปีละกว่าแสนล้านบาท
ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ความขัดแย้งต่างๆ ก็ยังคงอยู่ ท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ กัดฟันเซ็นคำสั่งให้ หมอณรงค์ มาช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างที่มีการสอบสวนข้อเท็จจริง
“หมอรัชตะ–หมอณรงค์”แม้จะอยู่ค่ายคนดีมาด้วยกัน แต่ฝ่ายเจ้ากระทรวง อยู่ข้างแพทย์ชนบท มันจึงเป็นคนละค่ายกับ “หมอณรงค์” มวยค่ายเดียวกัน แต่คนละแก๊ง กลายเป็นศึกใน แล้วจะเออออห่อหมกกันได้อย่างไร
ที่ผ่านมาเคยให้สองฝ่ายเข้ามุ้งเคลียร์ปัญหา เพราะถ้าปล่อยให้ไม้แข็งกับไม้แข็งงัดกัน ก็มีแต่หักเท่านั้น รวมทั้งมีคนกลางอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คอยไกล่เกลี่ย
**แต่มุ้งแตก รอยแยกอยากประสาน
เรื่องของความขัดแย้งครั้งนี้ ดูเหมือนว่าทางพล.อ.ประยุทธ์ เลือกถือหางฝ่าย“หมอรัชตะ”ที่ตัวเองเลือกมากับมือ เพื่อให้เข้ามาทำงานด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะ และก็เคยผ่านแรงเสียดทาน ถูกกดดันในช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ เพื่อให้เลือกตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ระหว่าง อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กับเจ้ากระทรวงหมอ จนในที่สุดตัดสินใจเลือกนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้มาผ่าตัด ยกเครื่อง เรื่องสาธารณสุขของประเทศ
ศึกเสื้อกาวน์คราวนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คงทำได้แค่เขี่ยฟืนออกจากไฟชั่วคราว ซื้อเวลาลดแรงปะทะระหว่างสองหมอ โยนเรื่องให้กรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาตัดสินปัญหา “หมอณรงค์”จะผิดจริงหรือไม่ อย่างไร อย่างน้อยได้ยืดเวลาความขัดแย้งที่เผชิญหน้ากันอยู่ออกไปก่อนก็ยังดี และอีกอย่างมันเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ต้องเลือกฟังเหตุผลของตัวเอง เพื่อให้การปฏิรูปในกระทรวงมันเดินหน้า
แต่ถ้ามีการขัดแข้งขัดขากันในกระทรวง งานต่างๆ คงไปไม่ถึงไหน คงต้องผ่าตัดในระดับกระทรวงก่อนที่จะผ่าตัดใหญ่ในระดับประเทศ ซึ่งการผ่าตัด ก็ย่อมมีฝ่ายต้องเจ็บปวดบ้าง
ตอนนี้ เผือกร้อนตกอยู่ที่ คณะกรรมการสอบสวนที่มี "น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องมีคำตอบออกมา ถึงเวลานั้นแรงกระเพื่อมฝ่าย“หมอณรงค์”ลดจะอุณหภูมิลงบ้างแล้วหรือไม่ ต้องติดตาม
**ไม่แน่ ปัญหานี้ก็อาจแปรสภาพเป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึก จนอำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช. ก็จัดการไม่ได้ ก็เป็นไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น