ผลการลงมติลับ สนช.ไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว. แก้รัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.มิชอบ ตามที่ ป.ป.ช.เสนอเรื่องเข้ามา พบระหว่างลงคะแนนคุมเข้มเชิญสื่อออกนอกห้องประชุม ไม่ให้สังเกตการณ์ พร้อมสั่งงดถ่ายทอดสดทั้งวิทยุและโทรทัศน์
วันนี้ (12 มี.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาการลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 38 คน ออกจากตำแหน่งจากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยไม่ชอบ ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2542 โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม โดยจะให้สมาชิกลงคะแนนลับในคูหาที่แบ่งเป็น 2 ช่อง คือ “ถอดถอน” กับ “ไม่ถอดถอน” โดยให้สมาชิกกาเครื่องหมายกากบาทเพียงอย่างเดียว หากไม่ลงคะแนนทั้ง 2 ช่องถือว่าไม่ประสงค์ลงคะแนน โดยผู้ที่ถูกถอดถอนจะต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิก สนช.ที่มีอยู่ทั้งหมด คือ 132 เสียงขึ้นไป จากสมาชิก สนช.จำนวน 220 คน
นอกจากนี้ยังได้มีการแยกบัตรลงคะแนนเป็น 4 ใบ 4 สี แยกตามฐานความผิดเป็น 4 กลุ่มตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวหา โดยทุกกลุ่มมีพฤติการณ์เข้าชื่อเสนอกฎหมายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. ซึ่งกลุ่มแรกมีพฤติการณ์ลงมติวาระ 3 เป็นบัตรลงคะแนนสีฟ้า ประกอบด้วยอดีต ส.ว.2 คน คือ นางภารดี จงสุทธนามณี อดีต ส.ว.เชียงราย และ พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน อดีต ส.ว.พะเยา
กลุ่มสอง มีพฤติการณ์ลงมติวาระ 1, 2 และ 3 เป็นบัตรสีส้ม ประกอบด้วยอดีต ส.ว. 22 คน คือ นายประสิทธิ์ โพธสุธน อดีต ส.ว.สุพรรณบุรี, นายสมชาติ พรรณพัฒน์ อดีต ส.ว.นครปฐม, พล.ต.ต.องอาจ สุวรรณสิงห์ อดีต ส.ว.เลย, นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี, นายประวัติ ทองสมบูรณ์ อดีต ส.ว.มหาสารคาม, นายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีต ส.ว.กำแพงเพชร, พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ อดีต ส.ว.อุดรธานี, นายภิญโญ สายนุ้ย อดีต ส.ว.กระบี่, นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ อดีต ส.ว.ปทุมธานี, นายสุเมธ ศรีพงษ์ อดีต ส.ว.นครราชสีมา, พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ อดีต ส.ว.มุกดาหาร, นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล อดีต ส.ว.กาญจนบุรี, นายพีระ มานะทัศน์ อดีต ส.ว.ลำปาง, นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล อดีต ส.ว.กาฬสินธุ์, นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง อดีต ส.ว.ชลบุรี, นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล อดีต ส.ว.สมุทรสาคร, นายรักพงษ์ ณ อุบล อดีต ส.ว.หนองบัวลำภู, นายบวรศักดิ์ คณาเสน อดีต ส.ว.อำนาจเจริญ, นายจตุรงค์ ธีระกนก อดีต ส.ว.ร้อยเอ็ด, นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี, นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ อดีต ส.ว.ยโสธร และนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีต ส.ว.เชียงใหม่
กลุ่มสาม มีพฤติการณ์ลงมติวาระ 1 และ 3 เป็นบัตรสีขาว ประกอบด้วยอดีต ส.ว.13 คน คือ นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ อดีต ส.ว.ขอนแก่น, นายโสภณ ศรีมาเหล็ก อดีต ส.ว.น่าน, นายต่วน อับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ อดีต ส.ว.ยะลา, พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ อดีต ส.ว.อ่างทอง, นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์ อดีต ส.ว.สกลนคร, พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ อดีต ส.ว.ชุมพร, นายวรวิทย์ บารู อดีต ส.ว.ปัตตานี, นายสุโข วุฑฒิโชติ อดีต ส.ว.สมุทรปราการ, นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง อดีต ส.ว.บุรีรัมย์, นายสุริยา ปันจอร์ อดีต ส.ว.สตูล, นายถนอม ส่งเสริม อดีต ส.ว.อุบลราชธานี, นายบุญส่ง โควาวิสารัช อดีต ส.ว.แม่ฮ่องสอน และนายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ อดีต ส.ว.ลพบุรี และกลุ่มสี่ มีพฤติการณ์ลงมติวาระ 2 เป็นบัตรสีเขียว มีอดีต ส.ว. จำนวน 1 คน คือ นายวิทยา อินาลา อดีต ส.ว.นครพนม
ในระหว่างการลงคะแนน ได้มีการเชิญสื่อมวลชน ช่างภาพออกนอกห้องประชุมและสั่งงดการถ่ายทอดการกระเสียงทั้งวิทยุและโทรทัศน์จนกว่าจะนับคะแนนเสร็จ หลังจากใช้เวลาการลงคะแนนและนับคะแนนเกือบ 4 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า สนช.มีมติไม่ถอดถอน 38 อดีต ส.ว. เนื่องจากคะแนนเสียงไม่ถึง 132 เสียง ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมแจ้งว่าจะแจ้งผลการลงมติไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และ 38 ส.ว.ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ทราบต่อไป