“ภูมิธรรม” แจงที่มาแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย อ้าง “รวบรวมเสียงสะท้อนจากประชาชน” ไม่ใช่ข้อเสนอที่มาจากการจัดประชุมพรรคเพื่อไทย เพื่อส่งต่อให้กรรมาธิการยกร่าง รธน.
วันนี้ (11 มี.ค.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อเสนอและการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยออกเป็นแถลงการณ์ไปนั้น ถือเป็นการรวบรวมข้อเสนอแนะจากเสียงสะท้อนของประชาชน รวมทั้งสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่สะท้อนผ่านมาถึงพรรค เราจึงรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ ออกมาเป็นแถลงการณ์ดังกล่าว
“ไม่ใช่ข้อเสนอที่มาจากการจัดประชุมพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด แต่ถือเป็นข้อเสนอแนะบนพื้นฐานของความห่วงใยที่เรามีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณา ทั้งนี้ หากกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่า ข้อเสนอแนะในด้านใดเป็นประโยชน์ ก็อยากให้หยิบยกไปพิจารณาด้วย เราเชื่อว่า กรรมาธิการยกร่างฯ ได้รับทราบข้อเสนอแนะของพรรคเพื่อไทยผ่านทางสื่อมวลชนแล้ว”
ดังนั้น อย่าไปยึดติดกับขั้นตอนว่าต้องให้เราส่งหนังสือไปอย่างเป็นทางการเลย เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปนั้นเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนอย่างแท้จริง
รายงานระบุว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 โดยมีเนื้อหาว่า สืบเนื่องจากการร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ในหน้าสื่อเป็นระยะๆ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นั้น พรรคเพื่อไทยโดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ปรึกษาคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย และ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษาคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ได้ร่วมกันชี้แจงท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่มีความห่วงใยในประเด็นเนื้อหาในร่างดังกล่าว ว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้ อยู่บนพื้นฐานที่ไม่เชื่อถือ ไม่ไว้วางใจ ไม่เคารพประชาชนและยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน ซึ่งในภาพรวมแล้วในอนาคตจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกหลายประการ
ในเบื้องต้น พรรคเพื่อไทยจึงขอวิจารณ์ในประเด็นระบบรัฐสภา การเลือกตั้งรูปแบบใหม่และหลักการใหม่บางข้อที่กรรมาธิการนำเสนอ โดยเห็นควรที่จะให้ประชาชนได้ใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์และให้ข้อมูลอีกด้านเพื่อจะร่วมกันผลักดันกติกาที่จะเกิดขึ้น ให้มีความเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น โดยพรรคเพื่อไทยขอตั้งข้อสังเกตในประเด็นหลักๆ ดังต่อไปนี้
1. รัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำขึ้น สะท้อนความไม่เชื่อถือ ไม่ไว้วางใจ ไม่เคารพประชาชนและยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน
1.1 ยึดอำนาจจากประชาชนในการเลือกตั้ง ส.ว. เป็น ส.ว. มาจากการลากตั้งทั้งหมด ให้ ส.ว. อยู่ในวาระ 6 ปี ซึ่งนานกว่า ส.ส. และสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ 2 สมัย โดยให้ ส.ว. มีอำนาจสำคัญมากมาย เช่น เสนอกฎหมาย ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สรรหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ถอดถอน ส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ถอดถอนนายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รวมทั้งให้ความเห็นชอบผู้จะเป็นรัฐมนตรี
ส.ว. “ลากตั้ง” ซึ่งมิได้มาจากการตัดสินใจเลือกของประชาชนทั้งประเทศ ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชาธิปไตย เป็นการทำลายเจตนารมณ์พื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย การให้อำนาจ ส.ว. ทั้งเสนอกฎหมาย พิจารณากฎหมาย ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐถอดถอนบุคคลต่างๆ รวมทั้งกำหนดตัวรัฐมนตรี ถือเป็นการยึดอำนาจอธิปไตยทั้งหมดของประชาชนไปมอบให้บุคคลที่มาจากการลากตั้งมาควบคุมบุคคลที่ประชาชนตัดสินใจเลือกมา
1.2 เสียงของประชาชนไม่มีความหมาย ร่างรัฐธรรมนูญนี้เปิดทางให้ “ผู้ที่ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ได้ ย้อนยุคไปสู่ระบบก่อนพฤษภาทมิฬ 2535
การที่นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ขัดต่อเจตนารมณ์ขั้นพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยและประมุขฝ่ายบริหาร ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน ทำลายพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างร้ายแรง ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศปรารถนาให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ตามหลักการของประชาธิปไตยและเจตจำนงของประชาชน
ร่างรัฐธรรมนูญนี้พยายามสร้างระบบ สร้างเงื่อนไขที่ปูทางให้บุคคลนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เปิดช่องให้เกิดการสืบทอดอำนาจและนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงไม่มีที่สิ้นสุด
1.3 ทำลายกลไกการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญของ ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยให้สภาผู้แทนราษฎร ต้องสิ้นสุดลงในกรณีที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
การกำหนดเช่นนี้ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างจริงจัง และเต็มที่ เพราะจะเกิดผลกระทบทางลบกับ ส.ส. ด้วย นำมาซึ่งการต่อรองประโยชน์ทางการเมือง ทำให้มาตรการตรวจสอบอำนาจรัฐโดยฝ่ายนิติบัญญัติสิ้นผล และในอนาคตจะก่อผลเสียหายมากมาย
2. รัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำขึ้น ทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ นายกรัฐมนตรีไม่มีภาวะความเป็นผู้นำ รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาของประชาชน ประเทศไทยขับเคลื่อนไปไม่ได้เต็มตามศักยภาพ
2.1 เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นแบบสัดส่วนผสม อ้างว่านำแบบเยอรมันมาใช้ แต่เป็นเยอรมันเทียม ที่ซับซ้อนเข้าใจยาก และจนบัดนี้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ยังไม่สามารถแสดงรายละเอียดที่สำคัญของระบบนี้ทั้งหมดต่อประชาชน
ระบบเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้ได้รัฐบาลผสมหลายพรรค มีพรรคเล็ก พรรคน้อย ผสมกับกลุ่มที่ไม่ใช่พรรค เกิดรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ นายกรัฐมนตรีไม่มีความเป็นผู้นำ ซึ่งในอดีตเป็นปัญหาที่เกิดในประเทศไทยมายาวนาน จนกระทั่งเกิดฉันทามติให้ปฏิรูปการเมืองและเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งนี้ รัฐบาลตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้ จะยิ่งอ่อนแอกว่ารัฐบาลยุคก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญและกลไกต่างๆ ที่ทำให้รัฐบาลเกือบทำงานไม่ได้ ผลเสียหายก็จะตกอยู่กับประชาชน
นอกจากนี้ การลดจำนวน ส.ส. เขต เหลือเพียง 250 คน (จากเดิม 400 คน ในปี 2540 และ 375 คน ในปี 2550) จะส่งผลให้เขตเลือกตั้งมีขนาดใหญ่และกว้างมากเกินไป ส.ส. ซึ่งเคยดูแลประชาชนประมาณ 160,000 คน และ 173,000 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ตามลำดับ ต้องดูแลประชาชนถึง 260,000 คน ส.ส. ก็ไปดูแลทุกข์สุขและรับฟังเสียงของประชาชนในเขตเลือกตั้งของตนได้ไม่ทั่วถึง ผู้เสียประโยชน์คือประชาชน
2.2 กำหนดให้ ส.ส. ไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรค
ผลคือทำให้รัฐบาลอาจไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายที่หาเสียงไว้ต่อประชาชน เพราะการขับเคลื่อนนโยบายจะมีเรื่องที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร หาก ส.ส. สามารถลงมติไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่พรรครัฐบาลนำเสนอต่อประชาชนในช่วงการเลือกตั้ง การนำโยบายนั้นไปทำให้เกิดผลก็เป็นไปไม่ได้
2.3 รัฐบาลไม่มีอำนาจในการบริหารงานบุคคล เพราะมีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม ซึ่งรัฐบาลไม่ได้แต่งตั้งมาดำเนินการ
ไม่มีรัฐบาลหรือผู้บริหารที่ไหนจะบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่มีอำนาจในการแต่งตั้ง โยกย้าย ให้ความดีความชอบผู้ดำเนินงานในตำแหน่งสำคัญ การบริหารงานเพื่อประชาชนก็จะล้มเหลว
คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรมนี้ไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน ไม่ได้ถูกตรวจสอบเข้มข้นอย่างรัฐบาลและไม่ได้มีความรับผิดชอบต่อผู้ใดหากแต่งตั้ง หรือโยกย้ายโดยไม่เหมาะสม
2.4 กำหนดให้ ส.ว. ให้ความเห็นชอบผู้จะมาเป็นรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีไม่สามารถจัดผู้ที่ตนเห็นว่าเหมาะสม ทำงานร่วมกันได้ดี เป็นรัฐมนตรี เพราะไม่ผ่านความเห็นชอบของ ส.ว. สุดท้ายก็จะเกิดระบบกลุ่มอิทธิพลในวุฒิสภา เพื่อต่อรองกับนายกรัฐมนตรีให้นำคนที่ ส.ว. สนับสนุนไปเป็นรัฐมนตรี
3. รัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำขึ้น เป็นร่างที่มีปัญหา จากผู้ร่างที่ไม่ได้มาจากประชาชน หลายคนเคยร่างรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา และแม้แต่ตัวเองก็ยอมรับว่ามีปัญหา แต่สร้างกลไกไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อซ่อนเจตจำนงให้ในทางปฏิบัติไม่สามารถแก้ไขได้ ยกเว้นโดยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ
กำหนด 3 ขั้นตอนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้แก้ไขไม่ได้ ได้แก่
1) การกำหนดให้คะแนนเสียงเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสภาผู้แทนฯและวุฒิสภา ทั้งๆ ที่ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 เป็นต้นมา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาเท่านั้น ซึ่งการที่ ส.ว. ทั้งหมดมาจากการสรรหา ไม่ได้มาจากประชาชน เมื่อมารวมกับฝ่ายค้านเพียงไม่กี่เสียง ก็จะส่งผลให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย
2) ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงและเบ็ดเสร็จ เพราะเมื่อผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อนว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมได้หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจเหนือรัฐสภา ทั้งๆ ที่ผลงานที่ผ่านมาก็เป็นที่ประจักษ์อยู่ว่าเหมาะสมที่จะได้รับอำนาจนี้หรือไม่
3) ลงประชามติ : เมื่อผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ อีกชั้นหนึ่ง
เมื่อเป็นเช่นนี้ หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้แล้ว แม้ว่าอาจจะมีข้อบกพร่องอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ไขปรับปรุงได้เลย หรือทำได้ยากมาก หนทางเดียวที่จะสามารถทำได้ คือ ใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ
พรรคเพื่อไทยเห็นว่าทุกประเด็นที่กล่าวมา ล้วนแต่กระทบต่อหลักการปกครองประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสำคัญ คือ “การไม่ยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”
นอกจากนี้ การเสนอให้ตั้ง “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ” ซึ่งล้วนมีที่มาจาก สนช. สปช. เป็นประเด็นในร่างฯ ที่มีนัยสำคัญของการสืบทอดอำนาจ เพื่อมากำกับควบคุมรัฐบาลในอนาคตเช่นนี้แล้ว สิ่งที่ดำเนินอยู่ น่าจะไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศ อย่างที่ทุกคนคาดหวัง