ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหาอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ และรองนายกฯ สุเทพ ทำผิดต่อตำแหน่งราชการ กรณีสลายการชุมนุมเสื้อแดง เผยผู้บริสุทธิ์ก็มี ศาลชี้ตายเพราะทหาร เตรียมถอดถอนต่อ ส่วนคดีแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. มิชอบ พบ ส.ส. 250 คน มีมูล อีก 3 คนไต่สวนแยก ส่วนคดีโคตรไมค์ “ประยุทธ์ - อดุลย์ - หม่อมเหลน” รอด แค่อนุมัติ แต่ “มณฑล” อธิบดีโยธาฯ ส่อเอี่ยวทุจริต เห็นควรไต่สวนต่อ
วันนี้ (24 ก.พ.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงถึงมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แล้ว
ที่ประชุมฯ มีมติว่า ภายหลังจากที่ได้มีการใช้กำลังทหารเพื่อขอคืนพื้นที่ ในวันที่ 10 เมษายน 2553 แล้วปรากฏว่า มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเป็นผู้มอบนโยบายในการขอคืนพื้นที่ กลับละเว้นไม่สั่งระงับ ยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหาร และวิธีการควบคุมการปฏิบัติงานให้รัดกุมยิ่งขึ้น รวมถึงไม่ได้ปรับแผนปฏิบัติให้สอดคล้องประสานกัน ทั้งในระดับนโยบาย การบังคับบัญชา และการปฏิบัติในพื้นที่ ในการใช้กำลังทหารเข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม
ทั้งนี้ ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงและอาวุธ แต่ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ และประชาชนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม จนเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตหลายราย อาทิ นายพัน คำกอง, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ผู้เสียชีวิต ดังปรากฏตามคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลว่า ความตายเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานทหาร จึงเป็นกรณีมีพฤติการส่อว่า กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองออกจากตำแหน่ง สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ในฐานะผู้ปฏิบัติจะมีความรับผิดเพียงใดหรือไม่ จะได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ในส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) แล้ว มีมติว่า ส.ส. 250 ราย มีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง และปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส.ส. 3 ราย ถึงแก่ความตาย ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูลความผิด แต่ความผิดเป็นอันระงับไปเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาถึงแก่ความตาย ส่วน ส.ส. อีก 2 รายเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้แยกการไต่สวนข้อเท็จจริงในส่วนของ ส.ส. 3 ราย ออกจากสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีร้องขอให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งเพื่อรอวินิจฉัย ให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกันต่อไป เนื่องจากการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ส.ส. ทั้ง 3 ราย ได้มีพฤติการณ์ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นด้วย ส่วน ส.ส. อีก 4 ราย ได้กระทำการอันมีพฤติการณ์ว่ามีมูลความผิดทางอาญา จึงให้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเพื่อชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป
นอกจากนี้ ยังปรากฏพฤติการณ์ว่ามี ส.ส. 1 ราย ซึ่งมิได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ แต่ต่อมาภายหลังได้พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดทางอาญากรณีเสียบบัตรแทนกัน จึงมีมติให้นำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณายกเหตุอันควรสงสัยว่า ส.ส. รายดังกล่าว กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม องค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงจึงมีมติให้นำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาต่อไป
นายวิชา ยังกล่าวถึงมติ ป.ป.ช. ได้พิจารณารายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน และมติการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง กรณีกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับพวก ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติว่า จากการแสวงหาข้อเท็จจริงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พล.อ.ประยุทธ์, คสช., พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรองหัวหน้า คสช. ฝ่ายกิจการพิเศษ, ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้กระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อในโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารบัญชาการ 1 และอาคารบัญชาการ 2 และระบบโสตทัศนูปกรณ์ รวม 3 รายการ แต่อย่างใด เป็นเพียงผู้อนุมัติให้ทำการปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้ดำเนินการ เห็นควรไม่รับเรื่องไว้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน พ.ศ. 2554 ข้อ 13 วรรค 2
ทั้งนี้ เห็นว่า นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง มีพฤติการณ์ว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในการจัดซื้อระบบโสตทัศนูปกรณ์ ร่วมกับคณะกรรมการกำหนดราคากลาง จากกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 5 ราย สำหรับการจัดจ้างโครงการพัฒนาปรับปรุงทำเนียบรัฐบาล และบ้านพิษณุโลก และคณะกรรมการจัดจ้างและจัดซื้อครุภัณฑ์ งานติดตั้งระบบห้องประชุม ทำเนียบรัฐบาล จากกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 5 ราย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคำนวณราคากลางและการต่อรองราคาที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ และเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย เข้ามาดำเนินการปรับปรุงระบบเสียง ระบบภาพ ระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง ระบบ VDO WALL และระบบ CONFERENCE และไม่ดำเนินการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554) มาตรา 103/7 ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนในเรื่องดังกล่าว
มีรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า "ได้รับทราบมติ ป.ป.ช. ที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาผมในกรณีเหตุการณ์ปี 2553 แล้ว ผมยอมรับกระบวนการตรวจสอบ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการชี้แจงข้อกล่าวหาต่อไป โดยจะนำเอาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง ยืนยันความบริสุทธิ์ว่าได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ เพื่อคืนความปกติสุขให้สังคมในสถานการณ์ที่มีการใช้อาวุธ และมีการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนไม่เคยละเว้นในการหาทางแก้ไขปัญหาเมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้น ผมพร้อมที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองต่อไป".