“อภิสิทธิ์” ยอมรับมติ ป.ป.ช.แจ้งข้อหาสลายแดง พร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ยันเลี่ยงสูญเสีย-แต่กับผู้ใช้อาวุธไม่ใช่เรื่องง่าย แนะถามข้อมูลจากสามพี่น้องวงศ์เทวัญรู้ดี แต่รับไม่แน่ใจจะเป็นพยานให้หรือไม่ ย้อนถูกตั้งข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ แต่ถ้าไม่ทำอะไรผู้ก่อเหตุร้าย จะถูกข้อหาละเว้นหน้าที่หรือไม่ ย้ำเตือนตามขั้นตอนไม่มีเจตนาให้สูญเสีย แถมยังมีกลุ่มติดอาวุธแฝงตัวอยู่
วันนี้ (25 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนยอมรับมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต้อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน ถึง 19 พ.ค. 2553 โดย ป.ป.ช.เห็นว่าเป็นเหตุที่เข้าข่ายการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งตนพร้อมที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และยืนยันได้ว่ามีการปรับหลักการทำงานเพื่อหลีกเหลี่ยงความสูญเสีย แต่กรณีที่มีผู้ใช้อาวุธไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่คืนความสงบให้กับสังคม
“เรื่องนี้คนที่ทำงานร่วมกันรู้ดี เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ.ในขณะนั้น เพราะร่วมประชุมและรู้ดีถึงการทำงาน หาก ป.ป.ช.ได้ข้อมูลจากบุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา แต่ไม่แน่ใจว่าบุคคลทั้งหมดพร้อมที่จะเป็นพยานให้หรือไม่”
อดีตนายกฯ กล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.เป็นเรื่องที่ตนพร้อมให้ความร่วมมือที่จะไปชี้แจงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. เพราะ ป.ป.ช.กล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่าในสถานการณ์ที่มีการก่อการร้ายมีการใช้อาวุธ ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลยจะเป็นการทำผิดกฎหมายฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นอกจากนี้ ในการดูแลสถานการณ์ก็ได้พยายามหลีกเหลี่ยงการสูญเสียด้วยการปรับแนวทางเท่าที่จะทำได้โดยมีการดำเนินการทั้งระดับนโยบายการกำหนดยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติตอลอดเวลา เห็นได้จากพัฒนาการของเหตุการณ์ก่อน 10 เมษายน หลัง 10 เมษาฯ ต้นพฤษภาคม หลัง 14 พฤษภาฯ จนไปถึงวันที่ 19 พฤษภาฯ มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาการของสถานการณ์ตลอดเวลา
ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช.หยิบยกการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ รวมทั้งการบาดเจ็บสาหัสของนายสมร ไหมทอง มาเป็นตัวอย่างผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิต โดยในการชันสูตรพลิกศพตามคำไต่สวนของศาลระบุว่าเป็นความตายที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของทหารนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กรณีที่ ป.ป.ช.หยิบมานั้นไม่ใช่การสลายการชุมนุมหรือการขอคืนพื้นที่ แต่อยู่ในระหว่างการใช้มาตรการปิดล้อมพื้นที่ โดยกรณีนายพัน กับนายสมร เป็นเหตุการณ์เดียวกัน ส่วนกรณี ด.ช.คุณากร เกิดในระยะเวลาใกล้เคียงกัน มีเหตุที่ทำให้เกิดการปะทะหรือการใช้อาวุธ เช่น กรณีนายพันกับนายสมร ชัดเจนว่านายสุรชัยขับรถตู้ฝ่าด่านเข้าไปในพื้นที่ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารมีการแจ้งเตือน ส่วนนายพันที่เสียชีวิตไม่ได้อยู่ในรถแต่วิ่งออกมาดูเหตุการณ์ จึงยืนยันได้ว่าไม่มีเรื่องเจตนาที่จะทำให้เกิดความสูญเสีย เพราะมีการเตือนตามขั้นตอนทุกอย่าง ส่วนกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาวันที่ 14-19 พ.ค. รัฐบาลเตือนตลอดเวลาว่ามีผู้ใช้อาวุธแอบแฝงเพื่อแยกประชาชนออกมาจากสถานการณ์ที่มีอันตราย แม้กระทั่งสื่อมวลชน บุคลากรทางแพทย์ อาสาสมัคร และผู้ชุมนุม รัฐบาลก็เตือนตลอกเวลาว่ามีผู้ใช้อาวุธแฝงตัวอยู่ซึ่งจะมีอันตราย
“สถานการณ์ในขณะนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็จะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติ เพราะขณะนี้ยังมีคนฟ้องผมและพระสุเทพว่าปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้สูญเสียทรัพย์สิน จึงเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากที่ต้องประเมินเหตุการณ์ตามความเป็นจริงว่าต้องควบคุมสถานการณ์ เพื่อคืนความปกติภายใต้การมีกองกำลังติดอาวุธและการก่อการร้าย โดยยืนว่า ปฎิบัติตามกฎหมายหลีกเหลี่ยงความสูญเสียและปรับแผนยุทธศาสตร์ตลอดเวลา ซึ่งก็จะเป็นดุลพินิจของ ป.ป.ช.ว่าหลังจากแจ้งข้อกล่าวหาแล้วจะมีความเห็นอย่างไรมั่นใจในความบริสุทธิ์ และเคารพการตรวจสอบ” นายอภิสิทธิ์กล่าว