จับตากรณี “เครื่องหวยออนไลน์” หลัง “รัฐบาลประยุทธ์” แก้กฎหมาย เปิดทางแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคาภายใน 6 เดือน ติดตั้งเครื่องร้านสะดวกซื้อ และเคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ จับสั่งกองสลากเจรจา “ล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี” ถอนฟ้องข้อหาทำล่าช้าเรียกเงิน 5-6 พันล้าน ย้อนรอยดู “คำตัดสินศาลปกครอง” ไม่รับฟ้องเรื่อง “ผลกระทบเศรษฐกิจ สังคม ศีลธรรม” ระบุเป็นเพียงการคาดการณ์ของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น ผู้ฟ้องจึงไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนประชาชนเฝ้าติดตามความคืบหน้าของ คสช.
เมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เสนอแก้ไขกฎหมายสลากกินแบ่งรัฐบาลปี 2517 เพื่อแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคา หรือให้อยู่ที่ฉบับละ 80 บาท สาระสำคัญอยู่ที่การปรับลดรายได้นำส่งรัฐ จัดระบบบริหารโควตาจำหน่ายสลากใหม่ เพิ่มค่าบริหารจัดการหรือเพิ่มสัดส่วนรายได้แก่ผู้ค้า ตั้งกองทุนรับซื้อสลากเลขไม่สวย หรือเลขที่ออกรางวัลไปแล้วเพื่อลดต้นทุนผู้ค้ารายย่อย
ที่สำคัญ ในกฎหมายฉบับนี้จะมีการจำหน่ายสลากกินแบ่งด้วยเครื่อง หรือ “หวยออนไลน์” ที่รัฐบาลอ้างว่าเพื่อทำให้เกิดสมดุล ไม่ให้รายย่อยจำหน่ายเกินราคา โดยจะติดตั้งเครื่องเคาน์เตอร์เซอร์วิส และร้านสะดวกซื้อ เพื่อทำประชาชนมีทางเลือกซื้อโดยตรง หากซื้อจากรายย่อยที่ราคาสูงเกินไป
ส่วนเครื่องหวยออนไลน์ที่ตอนนี้ติดปัญหาฟ้องร้องในศาลนั้น นายกรัฐมนตรีสั่งให้หาแนวทางหรือเจรจาว่าจะถอนฟ้องหรือไม่ ซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งบอกว่าอยู่ในระหว่างการเจรจา
ขณะที่นายกรัฐมนตรียืนยันว่า กฎหมายดังกล่าวจะเป็นการปรับปรุงแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาทั้งระบบภายใน 6 เดือน และต่อไปจะไม่มีผู้มีอิทธิพลหรือ 5 เสือกองสลาก จะมีแค่รัฐบาลเท่านั้น ส่วนการผลักดันหวยออนไลน์ก็ไม่ได้เป็นการส่งเสริมการพนัน แต่ถือเป็นความหวังของคนจน
โดยหลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างกฎหมายแล้ว จะส่งสภานิติบัญญัติ หรือ สนช.พิจารณาต่อไป คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือน ก็จะเดินหน้าหวยออนไลน์ได้ และแก้ปัญหาสลากกินแบ่งได้ทั้งระบบภายใน 6 เดือน
ประธานบอร์ดสลาก ย้ำ กม.เปิดช่องให้ทำได้หมดเลย
เรื่องนี้ นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร และประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล บอกว่า “การแก้กฎหมายครั้งนี้เปิดช่องให้ทำได้หมดเลย หวยออนไลน์ หวยบนดิน เลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวเหมือนสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย”
“การแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 เนื่องจาก พ.ร.บ.สลากฯดังกล่าวใช้มาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี ส่งผลให้การดำเนินงานบางส่วนติดขัดไม่สามารถทำได้ว่าจะปรับปรุงอย่างไร”
“ไม่จำเป็นต้องยกเลิกทั้งหมด แต่อาจต้องมีผลิตภัณฑ์คู่แข่งใหม่ออกมา เช่น สลาก 2 ตัว 3 ตัว ด้วยเครื่องอัตโนมัติ (หวยออนไลน์), หวยขูด เป็นต้น เพราะการศึกษาและผลงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่าหากมีผลิตภัณฑ์คู่แข่งแล้วจะส่งผลให้ราคาสลากปรับลดลง”
“มีทั้งผลดีและผลเสีย รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อผู้พิการและผู้ค้ารายย่อยที่ขายสลากในปัจจุบัน”
กองสลากหวังเพียงเพื่อให้มีสินค้าใหม่ในตลาด
ที่ผ่านมา พล.ต.ฉลองรัชต์ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พูดเรื่องนี้ว่า การเพิ่มผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ทั้งหวยออนไลน์ เพื่อออกรางวัลเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว เพื่อให้สินค้าใหม่ในตลาด หวังลดปัญหาสลากเกินราคาในระยะยาว รวมทั้งการพิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อรับซื้อสลากเลขไม่สวยที่ขายไม่หมด เนื่องจากผู้ค้าสลากมักอ้างว่าสาเหตุที่ต้องขายสลากเกินราคา เพราะมีเลขไม่สวย เช่น เลข 00 หรือเลขที่ออกรางวัลไปแล้ว
รวมถึงพิจารณาปรับสัดส่วนรายได้ ทั้งการจัดสรรเป็นเงินรางวัล ร้อยละ 60 การนำรายได้ส่งเข้าคลังร้อยละ 28 และค่าบริหารจัดการร้อยละ 12 ซึ่งอาจปรับเพิ่มค่าบริหารจัดการให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มส่วนต่างให้ผู้ค้า และการตั้งกองทุนนำเงินไปช่วยเหลือทางสังคมโดยตรง
นายกฯ สั่งเจรจา “ล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี”
ด้าน นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ที่กำกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บอกว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้รัฐบาลได้เน้นหนักไปที่การทำให้ราคาลอตเตอรี่มีราคาขายที่คู่ละ 80 บาท โดยเปิดทางให้สำนักงานสลากฯ นำลอตเตอรี่มาขายผ่านเครื่องจำหน่าย และขายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือร้านสะดวกซื้อได้ เพื่อถ่วงดุลให้ราคาลอตเตอรี่อยู่ที่คู่ละ 80 บาท ซึ่งจะเริ่มจากการนำโควตาลอตเตอรี่ที่จะหมดอายุในเดือน มิ.ย. และ ส.ค.นี้ มาจำหน่ายก่อน
“เชื่อว่าการกระจายการจำหน่ายลอตเตอรี่ให้ถึงมือผู้บริโภคมากขึ้น จะเป็นการช่วยลดปัญหาเรื่องราคาแพง และลดการนำลอตเตอรี่มารวมชุด เพื่อโก่งราคาขายได้ โดยผู้ซื้อไม่สามารถเลือกซื้อเลขใดเลขหนึ่งในลักษณะหวย 2-3 ตัวหรือรูปแบบลอตโต้ในต่างประเทศได้ แต่เป็นการเพิ่มช่องทางให้ซื้อลอตเตอรี่แบบปกติ ที่มีการจำหน่ายอยู่เท่านั้น”
“ยืนยันว่าสำนักงานสลากฯ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโควตาขององค์กร สถาบัน หรือผู้ที่มีโควต้าอยู่แล้วแต่อย่างใด ส่วนการจะขายสลากฯ 2 ตัว 3 ตัวด้วยหรือไม่นั้น คงไม่ได้เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้แน่นอน ขณะเดียวกัน นายกฯ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเจรจากับผู้ประกอบการที่เคยมีธุรกรรมกับรัฐในการขายสลากฯ ผ่านเครื่องอัตโนมัติ คือบริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี จำกัด ว่าจะสามารถทำได้ หรือติดข้อกฎหมายหรือไม่”
รายย่อยเห็นด้วยที่รัฐจะปรับแก้กฎหมาย
ด้านผู้ค้าฉลากรายย่อยบริเวณถนนราชดำเนินรายหนึ่งให้ความเห็นว่า มาเดินเลือกซื้อสลากจากแหล่งขายยี่ปั๊ว-ซาปั๊วบนถนนราชดำเนินเป็นประจำ และเห็นด้วยที่รัฐจะปรับแก้กฎหมายนี้ เชื่อว่าจะทำให้ราคาลดลงได้ เพราะทุกวันนี้ขายยากมาก วันนี้มาซื้อ 100 ใบ ในราคา 9,900 บาท หรือตกใบละ 99 บาท ยังไม่นับรวมต้นทุนค่าเดินทางไปขายต่อในย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ ทำให้ต้องตั้งราคาขายคู่ละ 110-120 บาทจึงจะอยู่ได้ ทุกวันนี้ราคาสลากกินแบ่งแพงมาก บางงวดสู้ไม่ไหว ก็ไม่ซื้อ
“รัฐบาลควรจะแก้ปัญหาโควตาที่จำกัดกลุ่มผู้ขาย เพราะที่ผ่านมาผู้ค้ารายย่อยไม่ได้รับโควตาในราคาส่ง จึงยืนราคาขายที่ 80 บาทไม่ได้”
ย้อนรอย...ฟ้องร้องในศาลกรณี “เครื่องหวยออนไลน์”
อีกประเด็นหนึ่ง “เครื่องหวยออนไลน์” ที่คณะรัฐมนตรีได้รับรายงานว่ายังติดปัญหาฟ้องร้องในศาล และนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้หาแนวทางหรือเจรจาว่าจะถอนฟ้องหรือไม่ ซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งฯ บอกว่าอยู่ในระหว่างการเจรจา
ย้อนกลับไปดู เรื่องการฟ้องร้องในศาลกรณี “เครื่องหวยออนไลน์”
“ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง” วันที่ 26 สิงหาคม 2551 ศาลปกครองกลาง โดยนายณัฐ รัฐอมฤต ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนคดีหวยออนไลน์ มีคำสั่ง ไม่รับฟ้องคดีที่ “นายมนัส เปรื่องชีว” ทนายความ ยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 กรณีออกคำสั่งให้ดำเนินการออกจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ซึ่งจะเปิดจำหน่วยงวดแรกวันที่ 17 กันยายน 2551
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์ว่า ผู้ฟ้องเป็นผู้ประกอบอาชีพทนายความแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ประกอบอาชีพจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย ผู้ฟ้องจึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเป็นการเฉพาะจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้งสี่ ส่วนที่ผู้ฟ้องอ้างว่าเมื่อการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว ด้วยเครื่องสลากคอมพิวเตอร์ออนไลน์เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และล่อแหลมต่อการทำให้สลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) ที่เอกชนลักลอบทำกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายไปด้วยซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม ศีลธรรม และย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีในฐานะประชาชนชาวไทยและผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสังคมนั้น
ศาลเห็นว่าเป็นเพียงการคาดการณ์ของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น ผู้ฟ้องจึงไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ฟ้องจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกสารบบความ
“ศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้อง” เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2552 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องที่นายมนัส เปรื่องชีว ที่ได้ยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง รมว.คลัง นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 เรื่องเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่ออกคำสั่งให้ดำเนินการออกจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 2 ตัวบน-ล่าง และ 3 ตัวโต๊ด-บน-ล่าง โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ที่เดิมมีกำหนดให้จำหน่ายหวยออนไลน์งวดแรกในวันที่ 17 ก.ย. 2551
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้ให้ความเห็นว่า แม้สิ่งที่นายมนัสคาดหมายว่าหากมีการออกสลากเลขท้าย 2-3 ตัวด้วยเครื่องสลากคอมพิวเตอร์ออนไลน์ จะมีความล่อแหลมต่อการ ทำให้สลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) ที่เอกชนลักลอบทำกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลเสียหายต่อสังคมเศรษฐกิจและศีลธรรม อาจเป็นไปได้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ความเดือดร้อนเสียหายที่นายมนัสอาจจะได้รับโดยมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากคำสั่งของกระทรวงการคลังที่ออก โดย รมว.คลัง สั่งให้ รมช.คลัง และสำนักงานสลากดำเนินการออก และจำหน่ายสลากพิเศษ แบบเลขท้ายด้วยเครื่องสลากคอมพิวเตอร์ออนไลน์ จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ตามมาตรา 42 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 และเมื่อฟังได้ว่า ผู้ฟ้องไม่มีสิทธิ์ที่จะนำคดีมาฟ้องแล้วจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่ง ของ นายมนัส อีก ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่วยคดีออกจากสารบบความ
ปม! คำสั่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” สั่งสอบความผิดฮั้วประมูล
เรื่องนี้ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2553 “นายธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีดีเอสไอ (ขณะนั้น) ระบุว่า ได้รับคำสั่งจาก “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) หลังจากคณะทำงานของนายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย และประธานคณะทำงานศึกษาด้านกฎหมายเกี่ยวกับการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวอัตโนมัติ (หวยออนไลน์) (ขณะนั้น)
โดยเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า การที่บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัทลูก คือ บริษัท จาโก้ เข้ามาทำสัญญากับกองสลาก เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล แม้ว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาบริษัท จาโก้ แพ้คดี แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ชนะคดี และมีการขอประนีประนอมความระหว่างบริษัทล็อกซเล่ย์และกองสลาก
แต่พบข้อพิรุธว่า การเจรจาเป็นคู่สัญญาในภาค 2 อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายผูกขาดการเป็นคู่สัญญา โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประมูลรายอื่นเข้ามาแข่งขัน เพราะท้ายสุดบริษัทลูกของบริษัท ล็อกซเล่ย์ คือบริษัท จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้ชนะได้เข้าทำสัญญาภาค 2 ซึ่งมีข้อพิรุธว่า อาจจะมีการรวบรัด ผูกขาด ตัดตอน ทำให้รัฐเสียหาย ดังนั้น หากดีเอสไอตรวจสอบพบว่าสัญญาในภาค 2 มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูลจริง จะถือว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะไปโดยปริยาย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำหนดกรอบการทำงานให้ดีเอสไอ 15 วัน เพื่อไปตรวจสอบว่าคดีดังกล่าวมีมูลความผิดคดีอาญาหรือไม่ และกองสลากจะต้องปฏิบัติตามสัญญาอย่างไร
ศาลรับฟ้อง “ล็อกซเล่ย์” เรียกค่าเสียหาย 5-6 พันล้าน
“ศาลปกครองกลางรับฟ้องคดีหวยออนไลน์” 23 สิงหาคม 2554 ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องของ “นายสมคิด หอมเนตร” นักวิชาการอิสระ ผู้ฟ้อง และผู้ถูกฟ้อง ที่ประกอบด้วย “นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ขณะนั้น) “นายสมชาย พูลสวัสด์” ประธานบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล(ขณะนั้น) “นายวันชัย สุระกุล” ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ขณะนั้น) และนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (ขณะนั้น)
“กรณีการจัดสรรบริหารจัดการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล 46 ล้านฉบับ มีการฮั้วประมูลหรือสมยอมราคา จึงขอให้ศาลโปรดมีคำสั่งให้ยกเลิกและหรือเพิกถอนสัญญาผูกขาดการบริหารจำหน่ายสลากทั้งหมด 46 ล้านฉบับ”
โดยในรายละเอียดของคำฟ้อง ประกอบด้วย ให้นายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เข้ามาดูแลในเรื่องนี้ เพื่อป้องกันการผูกขาดการจำหน่ายสลากเพียงไม่กี่บริษัท โดยที่ผ่านมามีการผูกขาดตัดตอนเพียงไม่กี่กลุ่ม อาทิ นิติบุคคลรายใหญ่ 3 ราย นิติบุคคลขนาดกลาง 10 ราย นิติบุคคลขนาดย่อย 250 ราย และสมาคมหรือมูลนิธิที่ได้รับจัดสรรรวมทั้งสมาคมคนพิการ และคนตาบอดแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้กระทรวงการคลังนำ “โครงการหวยออนไลน์” ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตัวแทนจำหน่ายยังได้รับสิทธิตามที่ขอขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งจะเป็นการจัดเก็บภาษีรายได้เข้ารัฐอย่างเป็นระบบ ลดอิทธิพลทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง และผู้มากด้วยบารมี
ขณะที่ “นายตรีจักร ตันฑ์ศุภศิริ” กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด บริษัทในกลุ่ม บมจ.ล็อกซเล่ย์(LOXLEY) เคยบอกว่า จากการหารือกับผู้ถือหุ้นต่างชาติ เห็นด้วย ที่จะให้บริษัทฟ้องร้องรัฐบาลหากมีการยกเลิกสัญญาการจำหน่ายเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวด้วยเครื่องอัตโนมัติ(หวยออนไลน์)ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ โดยขณะนี้เท่าที่ประเมินความเสียหายเบื้องต้นน่าจะมีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านบาท
สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ใบ้กิน คดีถูกฟ้องหวยออนไลน์
มีรายงานว่า ในขณะนั้นไม่มีความชัดเจนออกมาว่านายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ขณะนั้น) จะตัดสินใจอย่างไรกับโครงการจำหน่ายสลากผ่านเครื่องอัตโนมัติ หรือหวยออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมา บมจ.ล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เรียกร้องค่าเสียหาย 5-6 พันล้านบาทจากสำนักงานสลากฯ กรณีที่ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายจากความล่าช้าของโครงการหวยออนไลน์
“ศาลรับฟ้องตั้งแต่เดือน เม.ย. 2554 และยังไม่มีคำตอบว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร กองสลากฯอาจต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายประมาณ 5-6 พันล้านบาท”
รบ.เพื่อไทย สั่งเดินหน้าหวยออนไลน์ แม้มีปัญหา
ต่อมา เมื่อปี 2557 “พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร” ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ขณะนั้น) บอกว่า ทางสำนักงานสลากฯ ได้ให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาว่าจะมีแนวทางการดำเนินการอย่างไรต่อ และคงต้องไปศึกษาในรายละเอียดของสัญญา เนื่องจากเป็นกรณีต่อเนื่องที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยนายวันชัย สุรกุล เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ แต่ทั้งนี้มองว่าโครงการหวยออนไลน์คงต้องรอไปดำเนินการในช่วงของรัฐบาลใหม่
ขณะที่ “นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย” รมช.คลัง (ขณะนั้น) ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (กองสลาก) ออกมาระบุว่า ได้สั่งการไปยังกองสลากให้เร่งออกหวยออนไลน์ ซึ่งเดิมทีนั้นกองสลากมีแผนจะออกในช่วงปีหน้า 2558 แต่ส่วนตัวต้องการให้ดำเนินการออกหวยออนไลน์ให้ได้ภายในปีนี้ (2557 ก่อนถูกเข้าควบคุมอำนาจ)
เขาบอกว่า การออกหวยออนไลน์สรุปชัดเจนแล้วว่าจะอยู่ในกรอบเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว เพราะหากออกเป็นเลข 6 ตัว จะไปแย่งตลาดของสลากกินแบ่งรัฐบาลที่พิมพ์จำหน่ายอยู่ในขณะนี้ และพฤติกรรมของคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ชอบซื้อหวย 2 ตัว 3 ตัว มากกว่า 6 ตัว
“หลังจากหวยบนดินถูกล้มไป ทำให้หวยใต้ดินกลับมาระบาดหนักอีกครั้ง ดังนั้นคาดหวังว่าหวยออนไลน์จะเข้ามาแก้ปัญหาหวยใต้ดิน ส่วนเงินรางวัลของหวยออนไลน์ต้องจูงใจมากพอๆ กับหวยใต้ดินและกำลังพิจารณาว่าจะเพิ่มรางวัลแจ็กพอตหรือไม่” นายทนุศักดิ์ กล่าว และว่า การออกหวยออนไลน์เป็นแบบ 2 ตัว และ 3 ตัวนี้ ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานสลากฯ ดูข้อกฎหมายให้ดี เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกรณีหวยบนดินที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2552 ว่า หวยบนดิน 2 ตัว และ 3 ตัว ไม่ถือว่าเป็นสลากการกุศล และการดำเนินการออกหวยบนดินที่ผ่านมาเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมาย
“สลากออนไลน์ 2 ตัว 3 ตัว ที่จะออกมานี้อยู่ในรูปแบบของสลากปกติ มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องในอัตรา 10%” นายทนุศักดิ์กล่าว
“สำหรับการเสียภาษีตามคำสั่งศาลนั้น กองสลากมีภาระภาษีต้องเสียให้กับกระทรวงมหาดไทย และกรมสรรพากรรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่มีเงินรายได้จากหวยออนไลน์แค่ 1.8 หมื่นล้านบาท ต้องหาเงินอีก 2,000 ล้านบาท หากไม่เร่งออกหวยออนไลน์ก็จะต้องหาเงินมาใช้หนี้ก้อนนี้ซึ่งกระทรวงมหาดไทยทวงถามมาตลอด ขณะที่ได้จ่ายให้กรมสรรพากรไปครบแล้ว 8,000 ล้านบาท”
ด้านการจัดการกับบริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี ผู้ดำเนินการติดตั้งเครื่องมือขายหวยออนไลน์ที่ฟ้องเรียกค่าเสียหาย กรณีที่กองสลากยังไม่สามารถเปิดให้ขายหวยออนไลน์มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้เรื่องยังอยู่ในการพิจารณาของศาลฯ หากรัฐล้มโครงการนี้มีโอกาสแพ้คดีและเสียค่าปรับ
ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า การจำหน่ายสลากออนไลน์ยังไม่เห็นในปีนี้เพราะต้องรอผลการศึกษา 3 ด้าน ทั้งนโยบายรัฐ กฎหมาย และการยอมรับของสังคม ขณะเดียวกันต้องเตรียมพร้อมด้านเทคนิคและการวางระบบ โดยให้คณะทำงานศึกษาให้รอบด้านและชัดเจนที่สุด หากได้ข้อสรุปก็จะเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ จากนั้นใช้เวลา 6-8เดือนในการวางระบบ จึงจะเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้จะเร่งแก้ปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา โดยมีหลายแนวทาง เช่น การแตกรางวัลที่ 1 เป็นหลายรางวัล และการสั่งจองสลากล่วงหน้า แต่ทุกแนวทางต้องศึกษาผลกระทบทุกมิติ
ประชาชนเฝ้าติดตามความคืบหน้าของ คสช.
ในมุมมองคนเห็นด้วยจะเห็นได้ว่า โครงการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยเครื่องออนไลน์ถูกขวางกั้นมาตลอดเพราะเป็นการจำหน่ายโดยตรง แต่หากมองเพื่อประโยชน์จริงๆ แล้วอาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องการขายสลากกินแบ่งฯ อย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมา นายทศพร ฉิมอ่อน นายกสมาคมผู้ค้าสลากเลขท้าย ได้พยายามในการผลักดันในเรื่องดังกล่าวอยู่ตลอดมา เพื่อเร่งรัดให้ คสช.ช่วยดำเนินการเปิดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือสลากประเภทใดก็ได้ด้วยเครื่องจำหน่ายสลาก นอกจากนี้ ยังถือเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนด้วยในส่วนของการเช่าสถานที่ติดตั้งเครื่องในแหล่งชุมชน รวมไปถึงการจ้างพนักงานจำหน่ายสลากประจำเครื่อง ซึ่งในส่วนนี้ก็เป็นอีกทางเลือกที่ น่าสนใจ
แน่นอนเรื่องลบก็ต้องว่ากันไปตามเนื้อผ้า แต่เรื่องดีๆ ก็ไม่ใช่ไม่มีอย่างเช่น การคัดเลือกจัดลำดับผู้พิการที่แจ้งความประสงค์ขอรับสลากไปจำหน่ายโดยการสุ่มลำดับ ด้วยเครื่องอัตโนมัติ หรือ Random เพื่อสุ่มรายชื่อผู้พิการรายย่อยที่ผ่านการตรวจสอบขอรับสิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายสลากจำนวน 96,936 ราย ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์การมหาชน สื่อมวลชน และผู้พิการเข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งการ Random ในครั้งนี้จะมีผู้พิการได้รับสลากไปจำหน่าย 3,340 ราย ในอัตราคนละไม่เกิน 6 เล่ม (1 เล่ม = 100 ฉบับ) ตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่ประชาชนเฝ้าติดตามความคืบหน้าของ คสช.ในเรื่องการจัดการสลากกินแบ่งฯ
ปัญหาหวยออนไลน์ยังไปกระทบต่อดารา
คดีเกี่ยวกับหวยออนไลน์ ยังพลานไปกระทบต่อดารา พิธีกรหนุ่ม ชื่อดัง “บี๋ สวิช เพชรวิเศษศิริ” ที่ไปขึ้นศาลแขวงพระนครเหนือ ฟ้องคู่กรณี น.ส.พัสวี หรือไฮโซน้ำหวาน ในข้อหาคดีโกงเงินหวยออนไลน์จำนวน 5 ล้านบาท แม้ศาลจะพิจารณาให้ทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ยประนีประนอมกัน ภายหลังจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกง แต่ก็ยังไม่มีผลสรุป!!