xs
xsm
sm
md
lg

“วรชัย” แหยงสมัชชาคุณธรรมฯ อัด “บวรศักดิ์” เขียน รธน.ล้าหลังกว่าพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วรชัย เหมะ (แฟ้มภาพ)
“วรชัย” มองสมัชชาคุณธรรมฯแค่กลไกสืบทอดอำนาจ สับวางหมากคุมเบ็ดเสร็จหลังรู้ตัวยึดอำนาจพร่ำเพรื่อไม่ได้ จวก “บวรศักดิ์” ขยายปมขัดแย้ง ทำทุกกลุ่มมีปัญหา ฉะ สนช. ทำอะไรก็ไม่ผิด ตั้งลูกเมียกินเงินเดือนรัฐยังไม่สำนึก

วันที่ 3 มี.ค. นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวถึงกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผ่านกฎหมายตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ว่า เป็นเพียงตัวแทนของกลุ่มผู้มีอำนาจที่หวังใช้คนกลุ่มนี้ควบคุมกลไกของประเทศ ตั้งขึ้นมาเพื่อคุมกลุ่ม ส.ว. ที่พวกเขาจะตั้งขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เพราะ ส.ว. จะเป็นกลไกหนึ่งที่ใช้จัดการกับรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย รวมทั้งสามารถควบคุมกลไกข้าราชการ ถอดถอนข้าราชการที่ไม่ฟังคำสั่ง ดังนั้นหาก ส.ว. คนใดแหกคอกหรือคุมไม่ได้ ก็จะใช้สมัชชาคุณธรรมฯเข้ามาจัดการโดยอ้างว่าผิดคุณธรรม จริยธรรม

“จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ซ่อนกลไกควบคุมอำนาจไว้หลายชั้น เป็นระบบซ่อนรูปเผด็จการเพื่อใช้จัดการกับฝ่ายประชาธิปไตย เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขไม่ได้ ผมคิดว่าถ้าเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาอีกครั้ง”

นายวรชัย กล่าวต่อว่า ในอนาคตจะใช้วิธีรัฐประหารไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะถูกต่อต้านจากประชาคมโลก จึงเป็นสาเหตุที่มีการตั้งสมัชชาคุณธรรมฯขึ้นมาแทน สอดคล้องกับประเด็นที่มาของนายกฯคนนอก ส.ส. ที่ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง รวมถึง ส.ว. ลากตั้ง ทุกอย่างถูกวางไว้เพื่อรักษาอำนาจของคนกลุ่มเดิม และใช้เป็นกับดักจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

“ผมรู้สึกผิดหวังกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ. ยกร่างฯ เหลือเกิน เป็นถึงดอกเตอร์แต่เขียนรัฐธรรมนูญล้าหลังกว่าพม่าหรือกัมพูชาเสียอีก ตอนแรกอาจจะเป็นเพียงแค่ความขัดแย้งเฉพาะกลุ่มการเมือง หวังจัดการกับระบอบทักษิณ แต่หลังจากนี้จะกลายเป็นการสร้างความขัดแย้งกับคนทั้งประเทศ ตั้งแต่กลุ่มรากหญ้าจนถึงชั้นปัญญาชน ถึงตอนนั้นคิดหรือว่าประเทศจะเดินไปข้างหน้าต่อได้” นายวรชัยกล่าว

นายวรชัย ยังกล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดมาเป็นผู้ช่วยว่า เรื่องดังกล่าวหากเป็นนักการเมือง หรือ ส.ส. คงถูกตรวจสอบว่าขาดจริยธรรมและอาจจะถึงขั้นถูกถอดถอนเลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นผู้ดีทั้งหลายก็จะมีการออกมาระบุว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ ถือเป็นเรื่องสองมาตรฐาน การกระทำดังกล่าวมีเจตนาที่บ่งชัด กรณีของนักการเมืองที่ตั้งผู้ช่วยที่เป็นเครือญาตินั้น เพราะต้องทำหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นที่แทนส.ส. เมื่อติดภารกิจประชุมสภาฯ ต่างจาก สนช. ที่มาจากการแต่งตั้งไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ดูแลประชาชน จึงเห็นว่า สนช. ไม่มีความจำเป็นที่จะแต่งตั้งผู้ช่วยเลย เพราะเข้ามาทำงานเฉพาะการแค่หนึ่งปีเท่านั้น และในเมื่อต้องการจะบอกให้คนอื่นเป็นคนดี ก็จำเป็นต้องปฏิรูปตัวเองเสียก่อน เพราะต้องเป็นแบบอย่างให้เขาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น