xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” จี้ กมธ.ยกร่างฯ ปิดช่องโหว่ กันบิดเบือน ชี้ รธน.ฉบับนี้สิทธิ ปชช.สูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต(แฟ้มภาพ)
“สุริยะใส” แนะ กมธ. ยกร่างฯ ปิดช่องโหว่ เร่งแจงจุดเด่น รธน. หวั่นพวกอารมณ์ค้างจากรัฐประหารบิดเบือน ชี้ ร่าง รธน. ฉบับนี้ การเมืองภาคพลเมืองเป็นรูปเป็นร่างดีกว่า รธน.40 และ 50

วันนี้ (1 มี.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นระบุถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เริ่มลงรายละเอียดเป็นรายมาตรานั้น ต้องจำแนกออกเป็น 3 กระแส โดยกระแสแรกเป็นพวกที่ไม่พร้อมและไม่ยอมปฏิรูป ยังชาชินกับกติกาและรูปแบบเดิมๆ กระแสที่สอง จะเป็นพวกอารมณ์ค้างจากรัฐประหาร คือ ทำอะไรก็จะผิดหมดหาช่องโหว่จุดอ่อนมาบางจุดมาโจมตีทั้งร่าง กระแสที่สาม จะเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย ซึ่งพยายามผลักดันประเด็นของกลุ่มให้มีที่ยืนในรัฐธรรมนูญผสมกับกลุ่มวิชาการ ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯควรเน้นการชี้แจงด้วยเหตุด้วยผล หลีกเลี่ยงการตอบโต้ โดยเฉพาะกลุ่มต้านรัฐประหารและกลุ่มเสียประโยชน์ ที่พยายามขายจินตนาการเอาวิกฤติมาอ้างและมาขู่ตลอดเวลานั้น พวกนี้คงลืมไปว่าวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดจากตัวรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากพฤติกรรมของนักการเมืองและพยายามเอารัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ให้ตนเอง

“ย้อนไปดูการรัฐประหาร 3 ครั้ง หลังปี 2535 2549 และ 2557 ล้วนแล้วแต่เกิดจากพฤติกรรมที่ฉ้อฉล คอร์รัปชันและการไม่เคารพรัฐธรรมนูญของนักการเมืองทั้งนั้น ที่สำคัญ การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการปฏิรูปนั้นไม่เคยริเริ่มจากนักการเมืองเลยสักครั้ง เริ่มต้นจากประชาชนทุกครั้งไป ฉะนั้นบรรดานักการเมืองก็ควรฟังให้มากๆ ด้วยเช่นกัน” นายสุริยะใส ระบุ

นายสุริยะใส เผยต่อว่า ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าดูภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คร่าวๆ แล้ว ยอมรับว่า ช่องทางและสิทธิของภาคประชาชนสูงกว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 และ 2550 ให้ความสำคัญกับการเมืองภาคพลเมืองมากขึ้น มีกลไกใหม่ๆ รองรับมากขึ้นส่วนร่วมของประชาชนที่เคยจำกัดอยู่แค่กับฝ่ายบริหาร จะขยายไปสู่ส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติ และกระบวนการถ่วงดุลตรวจสอบ รวมทั้งการมีสภาพลเมืองทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่นซึ่งเคยเรียกร้องกันตอนปี 40 และ 50 แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯควรทำตารางเปรียบเทียบให้เห็นข้อแตกต่างเผยแพร่ต่อสังคมโดยเร็ว

ส่วนประเด็นที่เป็นช่องโหว่ กรรมาธิการก็ต้องเปิดใจรับฟัง โดยเฉพาะประเด็นนายกฯคนนอกนั้น อยากให้กรรมาธิการยกร่างฯทบทวน และควรระบุเงื่อนไขหรือข้อกำหนดพิเศษกรณีนายกฯคนนอกมากกว่านี้ ไม่ใช่เปิดกว้างจนเปิดช่องให้คนบางกลุ่มเอาไปขยายความโจมตีหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้


กำลังโหลดความคิดเห็น