“เลิศรัตน์” แจง แม้เปิดช่องนายกฯ คนนอก แต่แทบไม่เกิดขึ้น จึงไร้เงื่อนไขกำกับ ชี้ไม่มีพรรคใดหาเสียงโดยไม่ชูผู้นำ เชื่อไม่ซ้ำรอยสามัคคีธรรม ขออย่าคิดมาก เผยตัดอำนาจพิเศษนายกฯจัดการสภาวะฉุกเฉิน หวั่นมีอำนาจเกินไป แถมมี พ.ร.บ.ชุมนุม ให้ปลัดทุกกระทรวงนั่ง ครม.รักษาการ ช่วงพ้น รบ. กันใช้ทรัพยากรรัฐหาเสียง ห้ามศาล รธน.วินิจฉัย พ.ร.ก.เร่งด่วนหรือไม่
วันนี้ (27 ก.พ.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระแสคัดค้านการให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกว่า ในรัฐธรรมนูญไม่มีคำไหนที่เขียนว่านายกฯ ต้องมาจากคนนอก แม้ว่าในบทบัญญัติจะไม่ได้ระบุว่าให้เลือกนายกฯ จากคนที่ไม่ใช่ ส.ส.ได้เพื่อแก้ปัญหากรณ์ภาวะฉุกเฉิน หรือกำหนดเงื่อนไขใดๆ เป็นพิเศษ แต่เมื่อดูกลไกอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่น ประธานสภารัฐสภาซึ่งมาจากประธานสภาผู้แทนฯ เป็นผู้กราบบังคมทูลเพื่อแต่งตั้งนายกฯ การเลือกนายกฯ ต้องเลือกในที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ด้วยการลงมติอย่างเปิดเผยภายใน 30 วันนับแต่มีการประชุมรัฐสภาครั้งแรก และต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจึงจะเป็นนายกฯ เว้นแต่เกิน 30 วันแล้วยังไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งก็ให้นำผู้ได้คะแนนสูงสุดขึ้นกราบบังคมทูล
“ไม่มีตรงไหนเลยที่จะเปิดโอกาสให้คนนอกเดินเข้าไปเป็นนายกฯ ได้โดยง่าย และแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย และหาก ส.ส.ที่ประชาชนเลือกไปรวมตัวกันเกินกึ่งหนึ่งก็ไม่มีเหตุผลเลยที่จะไปเอาคนนอกเป็นนายกฯ ในวันนี้ความโปร่งใสของพรรคการเมือง ความสามารถของสื่อสารมวลชน ทำให้ไม่มีใครสามารถมุบมิบเอาคนที่ไม่ใช่คนในพรรคเขามาเป็นนายกฯ มันเกิดขึ้นแทบไม่ได้เลย ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องไปกำหนดเงื่อนไขอะไร เพราะกลไกมันทำให้แทบเกิดขึ้นไม่ได้ แต่หาก ส.ส.รวมกันเกินกึ่งหนึ่งไปเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ โดยไม่มีเหตุผลสมควร ครั้งต่อไปก็อย่าไปเลือก ส.ส.เหล่านี้สิ ประชาชนตัดสินได้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หรือไม่พอใจก็ออกมาชุมนุมประท้วง รัฐบาลนี้ก็อยู่ไม่ได้ครบ 4 ปี”
ต่อข้อถามถึงการบัญญัติดังกล่าว ทำให้ประชาชนอาจจะไม่มีโอกาสได้รู้ล่วงหน้าว่าใครจะมาเป็นนายกฯ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจเลือกตั้ง โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนไปหาเสียงโดยไม่ชูผู้นำหรอก พรรคที่ไปหาเสียงโดยบอกว่าไม่รู้จะเอาใครมาเป็นนายกฯ พรรคนั้นก็ไม่มีโอกาสได้รับเลือกอยู่แล้ว ดูการเมืองต้องดูย้อนหลังไปไกลๆ เพราะบ้านเราเคยมีนายกฯ ที่มี ส.ส.แค่ 18 เสียงมาแล้ว
ต่อข้อถามว่าในประวัติศาสตร์ปี 2534 ก็เคยมีพรรคสามัคคีธรรมที่มี ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง แล้วเลือก พ.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้นำคณะรัฐประหารซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส. ขึ้นเป็นนายกฯ นั้น พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า วันนี้มันเกิดสามัคคีธรรมไม่ได้ พรรคการเมืองจะถูกตรวจสอบโดยประชาชน รัฐธรรมนูญวันนี้ต่างจากที่ย้อนหลังไป 20 ปีก่อนมาก แล้วยังมีสมัชชาพลเมืองแห่งชาติ สภาตรวจสอบภาคประชาชนต่างๆ นี่คือการเมืองภาคประชาชนที่เราจะเน้น จึงไม่ต้องไปกลัวว่าพรรคการเมืองจะไม่ชูคนในพรรคของตัวเองเป็นนายกฯ ไม่มีอะไรน่ากลัวเลย เขียนเปิดไปดีกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะไปน่ากลัวตอนนายกฯ ที่มาจากคนนอกแล้วถูกประท้วงก็ไม่ยอมลาออก เป็นการย้อนรอยวิกฤตที่ผ่านมาหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ตอบว่า อย่าไปคิดมาก
พล.อ.เลิศรัตน์ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้ตัดบทบัญญัติว่าด้วยการให้อำนาจพิเศษแก่นายกฯ ในกรณีเพื่อจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน ในรูปแบบเดียวกับมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวโดยเดิมทีในร่างแรกที่ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณา ได้มีบทบัญญัติให้มีกลไกพิเศษในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้อำนาจนายกฯ จัดการสภาวะฉุกเฉิน แต่ที่ประชุมเห็นว่ามีน้อยประเทศที่บัญญัติอำนาจเช่นนี้ เช่นมาตรา 16 ในรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสที่ให้อำนาจประธานาธิบดี ภายหลังปรึกษาประธานสภาแล้ว ที่จะใช้อำนาจทำให้กลับประเทศกลับสู่ภาวะปรกติ
“แต่เมื่อพิจารณาถึงร่างที่ลองยกมาดูแล้ว เห็นว่าอาจจะให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมากเกินไป เพราะมีกฎหมายที่จะให้อำนาจพิเศษได้อยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.บ.ประกาศภาวะฉุกเฉินอยู่แล้ว จึงเห็นสมควรว่าไม่น่าจะบัญญัติไว้ เพราะอยากจะถนอมทั้งสองฝ่าย เพราะไม่รู้ว่านายกฯ จะจัดการกับประชาชนที่ออกมาประท้วงโดยมีความชอบธรรมหรือไม่แบบไหน ในขณะที่ภาคประชาชนเองก็มี พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะกำกับอยู่แล้ว ทำให้การชุมนุมในอนาคตจัดได้ยากขึ้น แต่หากมีเหตุให้ประชาชนร่วมใจกันออกมาชุมนุมเป็นแสนเป็นล้าน ต่อให้มีกฎหมายอะไรก็คงควบคุมไม่ได้ จึงมองว่าต้องป้องกันการนองเลือดในสังคมไทยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แทนที่จะให้อำนาจผู้ใดจนล้น” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว
โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยังกล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้เห็นชอบในกรณีรัฐบาลพ้นไปด้วยเหตุต่างๆ เช่น นายกฯ พ้นอำนาจ อายุสภาสิ้นสุด ให้ปลัดทุกกระทรวงทำหน้าที่ ครม.รักษาการ โดยเลือกกันเองให้ทำหน้าที่นายกฯ รักษาการ 1 คน และรองนายกฯ รักษาการอีก 2 คน บริหารภายใต้เงื่อนไขเฉพาะ จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่มาทำหน้าที่ โดยเงื่อนไขของ ครม.รักษาการส่วนใหญ่เป็นไปตามที่ระบุในรัฐธรรมนูนปี 2550 อาทิ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อนในกรณีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ การใช้จ่ายงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉิน ห้ามอนุมัติโครงการที่มีภาระผูกพันรัฐบาลใหม่ แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นคือ เปลี่ยนจากห้ามเป็นผู้ใช้ทรัพยากรหรือบุคคลของรัฐเพื่อผลการหาเสียง เป็นห้ามยอมถูกใช้หรือใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้อื่น และเพิ่มข้อบัญญัติต้องให้ความร่วมมือตามคำร้องขอของ กกต.ในการดูแลการเลือกตั้งให้เรียบร้อย สุจริตและเที่ยงธรรม
“ที่ไม่ให้รัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งได้รักษาการต่อ ก็เพื่อแก้ปัญหาในอดีตเช่นการใช้ทัพยากรของรัฐในการหาเสียงเลือกตั้ง การมีอิทธิพลครอบงำข้าราชการเพื่อสนับสนุนการหาเสียง”
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังได้แก้ไขกรณีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกรณีการออกพระราชกำหนดว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ กล่าวคือออกเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ แต่แยกไม่ให้วินิจฉัยกรณีว่าเป็นความเร่งด่วนหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ฝ่ายการเมืองยากที่จะตีความได้ซึ่งเป็นจุดที่ต่างแตกต่างจากรัฐธรรมปี 2550