xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแนวรบ กม.คุมยาสูบฯ ต่างชาติชักใย “ตระกูล ส.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หมอประกิต วาธีสาธกกิจ
สะเก็ดไฟ

ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังสำหรับข้อพิพาทเรื่องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่กระทรวงสาธารณสุขหมายมั่นปั้นมือให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงที่จะใช้เป็น “ยาแรง” เข้าควบคุมอุตสาหกรรมยาสูบแบบเบ็ดเสร็จ

ขณะที่ฝ่ายคัดค้านตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของอุตสาหกรรมยาสูบ ทั้งชาวไร่ยาสูบ กลุ่มร้านค้าปลีก ร้านโชวห่วยที่ขายบุหรี่ โรงงานยาสูบ และผู้นำเข้า ก็รวมตัวกันในนาม “ภาคียาสูบ” ก็ออกมาตั้งท่าต่อต้านเต็มกำลังเช่นกัน โดยจำกัดความร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า “สุดโต่ง” และมีผลกระทบกระเทือนกับอุตสาหกรรมยาสูบอย่างร้ายแรง

มีเสียงสะท้อนถึงหลายๆมาตราของร่างกฎหมายที่เข้ามาควบคุมการทำมาค้าขายอย่างมาก อาทิ ห้ามไม่ให้ขายแบ่งมวน ห้ามตั้งวางผลิตภัณฑ์ในร้าน บังคับซองแบบเรียบ ห้ามทำโครงการเพื่อสังคมหรือซีเอสอาร์ เป็นต้น

“ภาคียาสูบ” มองว่ามาตรการต่างๆ เหล่านี้ “มากเกินไป” และเกาไม่ถูกที่คัน ไม่สามารถลดการบริโภคยาสูบ หรือป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงยาสูบได้จริง เพราะหากภาครัฐเอาจริงเอาจังต่อการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

การตรากฎหมายที่มีมาตรการสุดโต่งล้านแปด ก็แค่ทำให้การทำธุรกิจยากลำบากขึ้นเท่านั้น

แม้จะมีความพยายามเชิญชวนให้ “ภาคียาสูบ” เข้าร่วมหารือทำความเข้าใจ โดยที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหวังลดดีกรีการต่อต้านให้เบาลง แต่ท้ายที่สุดตัวแทน “ภาคียาสูบ” ก็ “วอล์คเอาท์” เดินออกจากห้องประชุม เพราะเห็นว่าฝ่ายรัฐบาล ไม่มีความจริงใจในการพูดคุย และไม่รับฟังคำขอที่ขอให้ถอนร่างกฎหมายที่เป็นปัญหาออกจากการพิจารณาก่อน จึงมาหารือพูดคุยถกประเด็นที่เห็นต่างกันอยู่

สาเหตุที่ทำให้วงประชุมในวันนั้นจบไม่สวย ก็เพราะมี “เอ็นจีโอสุขภาพ” เข้าไปชักใยอยู่เบื้องหลัง และเป็นที่มาของมาตรการ “สุดโต่ง” ที่หลั่งไหลพรั่งพรูออกมา

ตั้งธงไว้ด้วยว่าอย่างไรเสียต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบให้สำเร็จ โดยไม่รับฟังเสียงต่อต้านคัดค้านใดๆ

“ภาคียาสูบ” พุ่งเป้าไปที่บทบาทของ “หมอประกิต วาธีสาธกกิจ” เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ หัวหอกของ “เอ็นจีโอสุขภาพ” ที่ออกมา “ดิสเครดิต” กลุ่มชาวไร่และร้านค้าปลีกว่า เป็นตัวแทนบังหน้าของกลุ่มธุรกิจยาสูบ มีกระบวนการสนับสนุนทุนในการต่อต้าน และอ้างว่าจากการศึกษามาตรการต่างๆในกฎหมายใหม่ ไม่มีผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมยาสูบแม้แต่น้อย

รวมทั้งมีการเช็กไปยังสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ว่า เหตุใดจึงตีข่าวกลุ่มธุรกิจยาสูบ จนอาจมองได้ว่าแทรกแซงการทำหน้าที่สื่อมวลชนอีกด้วย

ไม่เท่านั้น “หมอประกิต” ก็ยังสวมหมวกเป็นรองประธานของกลุ่มพันธมิตรเพื่อควบคุมการใช้ยาสูบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEATCA ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของการ “ยืมปาก” ต่างชาติมากดดันรัฐบาลไทยให้เร่งรีบผ่านร่างกฎหมายที่ยังไม่สะเด็ดน้ำนี้ มีทั้งจดหมายจากผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ “ฮู” (WHO) และจดหมายเลขาธิการภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบ (FCTC)

โดยอ้างว่า การผ่านกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการทำให้มาตรการควบคุมยาสูบของประเทศไทยเป็นไปตามพันธกรณีของ FCTC

ก่อนหน้านี้ “ภาคียาสูบ” ได้ออกสมุดปกขาวที่ได้ตั้งข้อสังเกตเชิงลึกถึงประเด็นนี้ให้แก่คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ความตอนหนึ่งระบุถึงบทบาทของ FCTC ว่าเป็นเวทีที่ผูกขาดโดยเอ็นจีโอและบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงการควบคุมยาสูบ ที่สำคัญมีเงินทุนมหาศาลด้วย

สอดคล้องกับข้อมูลที่เผยแพร่ทั้งในเว็บไซต์ของสื่อระดับโลกอย่าง “บลูมเบิร์ก” ที่ได้ระบุถึงขบวนการผลักดันนโยบายด้านการควบคุมยาสูบในประเทศต่างๆว่าใช้ “ล็อบบี้ยิสท์ด้านสุขภาพ” ที่ส่วนใหญ่มีฉากหน้าเป็น นักรณรงค์-เอ็นจีโอ มาเป็นตัวจักรขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ในภาครัฐในประเทศต่างๆ

ซึ่งในประเทศไทย “เครือข่ายเอ็นจีโอสุขภาพ” ก็อยู่ในหน่วยงานภายใต้ร่ม “ตระกูล ส.” ที่มีสายสัมพันธ์โยงใยกับแหล่งเงินทุนจากเครือข่ายสุขภาพต่างชาติ โดยนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ SEATCA ได้เงินทุนสนับสนุนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 110 ล้านบาทจากกลุ่มองค์กรต่างประเทศ

น่าจับตาว่าการตะบี้ตะบันผลักดันกฎหมายที่มีแรงต่อต้านอย่างหนัก เป็น “วาระ” เพื่อสุขภาพของคนไทย หรือเป็น “วาระ” ของเครือข่ายต่างชาติกันแน่
กำลังโหลดความคิดเห็น