xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ชี้มติ มส.มีปัญหา “ธัมมชโย” ต้องปาราชิก จี้อายัด-ฟันโกงเงินยูเนี่ยนคลองจั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ไพบูลย์” แถลงผลประชุม คกก.ปฏิรูปพุทธศาสนา หลังเชิญ ปปง.ถก ชี้ อดีตประธานยูเนี่ยนคลองจั่นฉ้อโกง ปชช. สั่งจ่ายเช็คให้ “ธัมมชโย” และพวก 900 กว่าล้าน เล็งเชิญฝ่ายเกี่ยวข้องให้ข้อมูลเพิ่ม พร้อมขอสำเนาเช็คธรรมกาย ชงข้อมูล รมว.ยุติธรรมเดือนหน้า ข้องใจมีฟอกเงิน ชี้มติมหาเถรฯ เมินปาราชิก “ธัมมชโย” มีปัญหา จี้ทำตามพระลิขิต ฉะไม่มีใช้คำว่า “ถ้า” บี้ ปปง.อายัดทรัพย์-DSI ดำเนินคดี เชื่อเจอยื่นปาราชิกซ้ำ



วันนี้ (23 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธ แถลงภายหลังการประชุมในกรณีการที่พระธัมมชโย เกี่ยวข้องกับของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ว่า ที่ประชุมได้รับข้อมูลจากการซักถามพบว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กระทำความผิดฉ้อโกงประชาชน และยังสั่งจ่ายเช็คให้กับพระธัมมชโย โดยแบ่งเช็คออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. สั่งจ่ายเช็คให้พระธัมมชโย จำนวน 8 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น 348.78 ล้านบาท จากนั้นพระธัมมชโยได้สั่งจ่ายเงินเข้าไปยังมูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ 2. สั่งจ่ายเช็คให้กับวัดธรรมกาย จำนวน 6 ฉบับ เป็นเงิน 436 ล้านบาท นำเงินไปเป็นค่าก่อสร้างและสิ่งปลูกสร้างของวัด และ 3. จ่ายให้กับผู้ช่วยของพระธัมมชโย หรือพระปลัดวิจารณ์ เป็นเงิน 119.02 ล้านบาท ถอนออกมาเป็นเงินสดทั้งหมดซึ่งตรวจสอบไม่ได้ รวมทั้งสิ้น 903.8 ล้านบาท อีกทั้งยังไม่รวมไปถึงการสั่งจ่ายไปยังรายบุคคลหรือบัญชีอื่น เพื่อซื้อที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ

นายไพบูลย์กล่าวว่า ได้ฝากให้ ปปง.ว่าเหตุใดจึงไม่อายัดบัญชีของพระธัมมชโย ที่มีเงินถึง 300 กว่าล้านบาท ซึ่งอาจจะมีจำนวนเงินมากกว่านั้น โดยกรรมการฯ เห็นว่า ควรที่จะยึดบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดของพระธัมมชโย เพราะเป็นเงินที่ได้จากการฉ้อโกง รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างและที่ดินของวัด 196 ไร่ ที่เป็นเขตธรณีสงฆ์ และทราบว่าวัดพระธรรมกายมีพื้นที่อีกกว่า 1,000 กว่าไร่ อยู่ในนามมูลนิธิธรรมกาย และมูลนิธิอื่นๆ ไม่ถือว่าเป็นเขตธรณีสงฆ์ ฉะนั้นจึงสามารถบังคับคดีได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนเงินของพระปลัดวิจารณ์ ทางกรรมการฯ เห็นว่า ปปง.ต้องดำเนินคดี และแจ้งต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

ทั้งนี้ การประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 3 มี.ค.นี้จะเชิญผู้แทนของดีเอสไอ และกรมที่ดิน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล โดยกรมที่ดินจะให้ตรวจสอบที่ดินที่อยู่ในส่วนของมูลนิธิว่ามีที่มาถูกต้องหรือไม่ ตลอดจนจะขอสำเนาเช็คสั่งจ่ายทั้งหมดของวัดธรรมกาย มาตรวจสอบ รวมทั้งจะมีการรวบรวมข้อมูลไปให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม

“ทางคณะกรรมการฯ ทำตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะเรื่องวัดธรรมกาย เงินที่บริจาคจากประชาชนที่ศรัทธา จะต้องจัดการให้เป็นทรัพย์สินของให้ชัดเจนว่าเป็นสาธารณสมบัติ เป็นเงินของแผ่นดิน ต้องโอนเป็นของวัดพระธรรมกายทั้งหมด นอกจากนี้ กรรมการฯ บางคนเป็นห่วงว่าจะต้องมีการตรวจสอบเงินภายในวัด เนื่องจากอาจจะเป็นแหล่งฟอกเงินได้ ซึ่งไม่มีการเสียภาษี และไม่สามารถตรวจสอบได้”

นายไพบูลย์กล่าวถึงมติมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 58 ที่ระบุว่าพระธัมมชโยไม่ปาราชิกว่า ที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับมติ มส.ล่าสุด เพราะเป็นการยกเลิกพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชทั้ง 3 ฉบับ รวมทั้งมติ มส.ฉบับที่ 193/42 โดยเห็นว่าเป็นมติที่เป็นปัญหา แม้จะเป็นอำนาจของมหาเถรสมาคมก็ตาม แต่ก็ต้องชอบด้วยกฎหมายและพระธรรมวินัย จะมาขัดหรือแย้งต่อพระธรรมวินัยไม่ได้ เพราะเมื่อปาราชิกไปแล้ว ก็ถือว่าจบ ไม่สามารถกลับมาเป็นพระได้ใหม่อีก จึงอยากเรียกร้องให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช และรับรองโดยมติ มส. ฉบับที่ 193/42 ต่อไป

“เพราะเมื่อในอดีตพระธัมมชโยไม่ยอมคืนทรัพย์สินให้กับวัด ถือว่าต้องอาบัติปาราชิกไปแล้วโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ได้เป็นพระ แต่ปลอมเป็นพระ โดยนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครองทำให้ความเศร้าหมองให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา กรณีนี้จึงไม่มีการใช้คำว่า “ถ้า” อย่างที่โฆษกสำนักพระพุทธศาสนาได้ออกมาแถลง”

เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวดูเหมือนจะลุกลามบานปลาย เพราะอีกฝ่ายก็ออกมาไม่เห็นด้วย นายไพบูลย์กล่าวว่า เราไม่ได้มองว่าฝ่ายไหน แต่กรรมการฯ มีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ สาเหตุของปัญหาเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป ส่วนผู้ที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ย่อมเป็นสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น เราก็ยินดีที่จะเปิดรับฟังทุกความคิดเพื่อประกอบการพิจารณา โดยอนาคตก็จะจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสังคมโดยรวม

“ฝาก ปปง.อย่าเอาเรื่องคืนเงินว่าไม่ปาราชิก และไม่เห็นด้วยที่จะมีการเจรจาและรับข้อเสนอว่าจะคืนเงินบางส่วนแล้วจะพ้นจากการปาราชิก จะต้องดำเนินการตามกฎหมายของ ปปง. โดยต้องอายัดบัญชีทรัพย์สิน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ดีเอสไอได้ดำเนินคดีและคดีที่สั่งไม่ฟ้องพระธัมมชโย ก็คงจะต้องตรวจสอบ หากไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องดำเนินคดีต่อผู้ที่สั่งยกฟ้องด้วย ส่วนเรื่องเงินฝากสหกรณ์ยูเนี่ยนฯ ต้องเข้าใจว่าเป็นเงินฝากของประชาชน เมื่อนายศุภชัยถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง พระธัมมชโยในฐานะวิญญูชนย่อมรู้ดี ต้องคืนให้เมื่อ 2 ปีก่อน แต่ก็ยังถืออยู่ต่อไป ซึ่งจะต้องถูกดำเนินคดี ดังนั้น เห็นว่าพระธัมมชโยน่าจะปาราชิกอีกครั้งหนึ่ง แต่ตามหลักก็ไม่สามารถปาราชิกซ้ำอีกครั้งได้”

เมื่อถามว่าจะมีการยื่นเพื่อให้พระธัมมชโยปาราชิกอีกครั้งหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า เชื่อว่าจะมีผู้ไปยื่น จึงขอฝากพุทธศาสนิกชนที่ห่วงใยในพระพุทธศาสนาเมื่อได้รับทราบเรื่องดังกล่าวและเห็นว่าเป็นกระทำที่ขัดพระธรรมวินัยและกฎหมายก็ให้ดำเนินการต่อไป ส่วนที่มีการร้องให้ยุบคณะกรรมการฯ ชุดนี้เนี่องจากปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมนั้นก็เป็นเพียงความเห็นของส่วนบุคคล เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ไม่สามารถทำให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ยุติลงได้ เพียงแค่การยื่นหนังสือเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น