รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยื่นรายงานความเห็น 18 กมธ.ในระยะ 2 ต่อประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หวังนำไปใช้ประกอบร่างกฏหมายสูงสุด พร้อมรวมความเห็นระยะ 3 ควบคู่ คาดส่งได้เดือนเมษาฯ ด้าน “บวรศักดิ์” ยันพิจารณาความเห็นจริงจังไม่ใช่แค่พิธีการ จ่อดัน กม.ปรองดองเข้าสภา ให้ “เอนก” นั่ง ปธ.อนุ กมธ.ยกร่างฯ ใช้แนวทางแอฟริกาใต้ รวันดา ไอร์แลนด์ จี้เร่งดูกฎหมายจาก สปช.ด้วย “สุรชัย” สำทับไม่ต้องกังวล
วันนี้ (20 ก.พ.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.30 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 34 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ สนช. ได้นำรายงานความคิดเห็นของ สนช. และคณะกรรมาธิการ 18 คณะ เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ ระยะที่ 2 เสนอต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
โดยนายสุรชัยกล่าวว่า รายงานที่ส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ มี 3 เล่ม ประกอบด้วย 1. การรวบรวมความเห็นทั้งหมดจากสมาชิก สนช.และกรรมาธิการ 18 คณะ เป็นรายประเด็น 2. การเจาะเฉพาะเป็นประเด็น เรื่องผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง รวมถึงการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง 3. การเจาะเฉพาะประเด็น เรื่อง ครม. และรัฐสภา รวมถึงการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และแนวทางสร้างความปรองดอง หวังว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะนำข้อมูลเหล่านี้ของ สนช.ไปประกอบการพิจารณาจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน หลังจากนี้คณะกรรมาธิการชุดนี้จะทำหน้าที่รวบรวมความเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระยะที่ 3 ควบคู่ไปกับการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะส่งความเห็นในระยะ 3 ได้ในเดือนเมษายน
ด้านนายบวรศักดิ์กล่าวว่า ตนไม่มีประสบการณ์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญปี 50 แต่มีประสบการณ์จัดทำร่างรัฐธรรมนูญปี 40 แต่รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับมีความคล้ายคลึงกัน โดยจะนำความเห็นมาวางไว้เพื่อให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำไปใช้ ซึ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้มีความเห็นของ สนช. สปช. พรรคการเมือง และหน่วยงานต่างๆ มาวางไว้แล้วให้เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขานความเห็นเหล่านี้ เช่น เรื่อง กกต.ที่มีความเห็นกันอย่างหลากหลาย ก็จะไม่ลงไปในรายมาตรา แต่จะนำความเห็นมาพิจารณาให้ได้ข้อสรุปก่อน ยืนยันว่าได้พิจารณาความเห็นของทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำโดยพิธีการ และพร้อมเปิดรับฟังความเห็นตลอดจนถึงปลายเดือนมิถุนายน ก่อนที่จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายต่อ สปช.ในวันที่ 23 กรกฎาคม
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและ สปช.อาจจะต้องจัดทำกฎหมายหลายฉบับเพื่อส่งให้ สนช.พิจารณาก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ ทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกทั่วไป เช่น กฎหมายว่าด้วยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ขณะที่ สปช.ได้มีการยกร่างกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม กฎหมายสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เมื่อกฎหมายเหล่านี้เข้า สนช.ขอให้เร่งพิจารณา เพราะหากรอให้มีรัฐบาลใหม่ก็จะไม่เข้าใจ อาจเกิดความล่าช้าได้ โดยเฉพาะกฎหมายการสร้างความปรองดองแห่งชาติ จะให้นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ สปช.เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ และ พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ และนายเจษฎ์ โทณวณิก คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ ตลอดจนอยากให้มีตัวแทนของ สปช., สนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมยกร่างด้วย เพื่อความรวดเร็ว จากที่จะเริ่มต้นจากศูนย์ก็จะเริ่มที่ 10 อยู่ที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.จะเห็นด้วยหรือไม่ โดยคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ให้ไปศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองของประเทศต่างๆ เช่น แอฟริกาใต้ ไอร์แลนด์เหนือ รวันดา คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 2 เดือน มีเนื้อหาครบทุกกระบวนการทั้งเรื่องการเยียวยา การชดใช้ และการอภัยโทษ
ขณะที่นายสุรชัยกล่าวเสริมว่า ไม่ต้องกังวล สนช.พร้อมให้ความร่วมมือในการพิจารณากฎหมายเหล่านี้ และอยากเสนอให้มีบทรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาและผลัดกันการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก เพราะที่ผ่านมารัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 มีบทเรียนว่า ไม่เคยออกกฎหมายลูกได้ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงสิทธิที่ควรได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ครบถ้วน ดังนั้นในครั้งนี้จึงต้องการให้มีกฎหมายลูกออกมาให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนสัมผัสได้